xs
xsm
sm
md
lg

อบจ.น่าน ต่อยอด “สระเดินได้ครูพายุ” ดันจัดงบซื้อสัญจรสอนเด็กด้อยโอกาสทั่ว จว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายนรินทร์ เหล่าอารยะ นายก อบจ.น่าน
น่าน - อบจ.น่าน นำโครงการ “สระเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาส” ของครูพายุ ต่อยอด ดันจัดงบซื้อสระถอดประกอบก่อนหาครูอายุสัญจรสอนเด็กพิเศษ-พิการ และดอยโอกาสทั่วจังหวัด ลดความเสี่ยงเด็กจมน้ำตาย

นายนรินทร์ เหล่าอารยะ นายก อบจ.น่าน เปิดเผยว่า ได้ผลักดันโครงการ “สระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาส” เสนอเข้าแผนปี 2559 โดยคณะกรรมการแผนองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ได้ผ่านในหลักการแล้วใช้งบประมาณ 3 แสนบาท เพื่อมีสระน้ำแบบถอดประกอบ 1 ชุด สำหรับนำไปติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล และเปิดโอกาสให้อาสาสมัครครูฝึกสอนว่ายน้ำ ผู้ที่มีทักษะการว่ายน้ำในชุมชน ได้สอนเด็กๆกลุ่มด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิเศษฝึกทักษะการว่ายน้ำเพื่อป้องกันชีวิตตนเองได้ในเหตุการณ์ฉุกเฉิน

นายนรินทร์ เล่าว่า โครงการ “สระว่ายน้ำเดินได้” เกิดขึ้นจากความพยายามของ “ครูพายุ หรือณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม” อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ ที่นำทีมฉลามหนุ่ม เงือกสาว อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ ได้แก่ ชลธร วรธำรง, วรวุฒิ อำไพวรรณ และวิชา รัตนโชติ ตระเวนยกสระว่ายน้ำแบบถอดประกอบได้ขนาด 5 x 10 เมตร ไปติดตั้งและสอนทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอด ให้แก่น้องๆ ใน 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จ.น่าน, โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดลำปาง จ.ลำปาง และโรงเรียนบ้านขอบด้ง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่

โดยเฉพาะน้องๆเด็กนักเรียนผู้มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญาและบกพร่องทางการได้ยินเด็กพิเศษ ที่ขาดโอกาสฝึกทักษะว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอด ซึ่งในจังหวัดน่านเอง ก็มีเด็กต้องเสียชีวิตจากการจมน้ำในทุกปี จึงนำโครงการของครูพายุ มาเป็นต้นแบบดำเนินการ

เมื่อมีสระน้ำถอดประกอบได้แล้ว ก็จะสำรวจ-ทำตารางการสอนแบบสัญจรไปตามโรงเรียน และชุมชนที่อยู่ห่างไกล มีความเสี่ยง เช่น ติดแม่น้ำ ลำน้ำ อ่างเก็บน้ำ และฝายต่างๆ ก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ครูฝึกสอนว่ายน้ำ ผู้ที่มีทักษะการว่ายน้ำ มาเป็นอาสาสมัครช่วยสอนน้องให้ว่ายน้ำ ช่วยให้เอาชีวิตรอดได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

ด้านนายณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม หรือครูพายุ อดีตนักกีฬาทีมชาติ ผู้ริเริ่มโครงการ “สระว่ายน้ำเดินได้เพื่อเด็กด้อยโอกาส” เปิดเผยถึงที่มาโครงการและเหตุผลที่เลือกโรงเรียนน่านปัญญานุกูล เป็นโรงเรียนแรกในการสอนว่ายน้ำในพื้นที่จังหวัดน่าน ว่า เพราะเป็นโรงเรียนที่สอนเด็กนักเรียนผู้มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญา และบกพร่องทางการได้ยิน ถ้าเด็กกลุ่มนี้ว่ายน้ำเป็น ก็จะสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามฉุกเฉิน หรือพลาดพลั้งจมน้ำ

โดยจะเปิดสอนน้องๆที่โรงเรียนน่านปัญญานุกูล จ.น่าน ทุกวันจันทร์ -ศุกร์ต่อเนื่องเป็นเวลา 2 สัปดาห์ การเรียนในแต่ละวันจะแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มๆละ 10 คนคือเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน 1 กลุ่ม และเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญาอีก 6 กลุ่ม เรียนกลุ่มละ 1 ชั่วโมง แต่ละกลุ่มจะมีครูผู้ช่วยคอยดูแลน้องๆอย่างน้อย 2-3 คน ซึ่งคาดหวังว่าการยกสระว่ายน้ำมาที่นี่จะช่วยให้น้องๆมีทักษะในการว่ายน้ำติดตัวไปช่วยเหลือตนเองในยามฉุกเฉินได้

ขณะที่ “โอ - ชลธร วรธำรง” อดีตเงือกสาว นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ หนึ่งในครูผู้ฝึกสอนว่ายน้ำ เล่าถึงประสบการณ์สอนว่ายน้ำให้กับน้องๆโรงเรียนน่านปัญญานุกูล ว่า การสอนว่ายน้ำเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว แต่ความยากของการสอนว่ายน้ำให้กับน้องๆที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน คือ เราต้องเรียนต้องใช้ภาษามือเพื่อสื่อสารกับน้องๆ ให้เข้าใจ ซึ่งยากมาก ได้ฝึกหัดภาษามือกับครูพายุ ไปเพียงครึ่งชั่วโมงแล้วลงสระไปสอนน้องๆ แต่ก็มีครูพายุ และครูจากโรงเรียนน่านปัญญานุกูล มาช่วยเป็นล่ามภาษาให้

“รู้สึกประทับใจมากในการเป็นอาสาสมัครสอนว่ายน้ำครั้งนี้ เพราะได้เห็นว่าน้องๆมีความสุขมากกับการได้เรียนว่ายน้ำ ตั้งใจเรียนกันทุกคน ที่สำคัญคือ เรียนรู้เร็วมาก และหวังว่าวิชาว่ายน้ำนี้จะช่วยให้น้องๆสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในยามฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย”






กำลังโหลดความคิดเห็น