xs
xsm
sm
md
lg

จับตาตลาดการค้าหนังสือเรียนเค้กก้อนใหญ่รัฐ-เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดหนังสือเรียนทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ไปจนถึงมหาวิทยาลัย มีมูลค่าปีละหลายหมื่นล้านบาท แต่หากโฟกัสเฉพาะหนังสือเรียนตามโครงการเรียนฟรีของกระทรวงศึกษาธิการ ที่แจกให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะพบว่า มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 6,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

นางจินตนา ไชยดี ผู้อำนวยการสำนักบริหารการตลาดและการขาย องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) เปิดเผยว่า องค์การค้าของ สกสค. มีส่วนแบ่งการตลาดหนังสือเรียนชั้น ป.1 ถึง ม.6 ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งระบบ ส่วนที่เหลืออยู่ในมือของโรงพิมพ์เอกชน โดยองค์การค้าของ สกสค. ได้รับลิขสิทธิ์มาจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือเรียนใน 8 กลุ่มสาระ หรือ 8 กลุ่มวิชา ประกอบด้วย 1.ภาษาไทย 2.วิทยาศาสตร์ 3.คณิตศาสตร์ 4.ภาษาต่างประเทศ 5.สุขศึกษาและพลศึกษา 6.สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 7.การงานอาชีพและเทคโนโลยี และ 8.ศิลปะ

แม้หนังสือเรียนที่องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์ และจำหน่ายจะมีความถูกต้องตรงตามหลักสูตรการเรียนการสอน เนื่องจากมีบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการยอมรับมาทำหน้าที่เขียนตำรา และผ่านการตรวจสอบ และรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม แต่ด้วยเหตุผลในทางการตลาดพบว่า โรงเรียนของรัฐมักสั่งซื้อหนังสือเรียนจากองค์การค้าของ สกสค. เพียง 3 กลุ่มวิชา คือ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ส่วนอีก 5 กลุ่มวิชาจะซื้อจากสำนักพิมพ์เอกชนแทน ทั้งๆ ที่ราคาหน้าปกมีราคาแพงกว่าหนังสือขององค์การค้าของ สกสค. ด้วยซ้ำ

ในอดีตองค์การค้าของ สกสค. จะทำการตลาดแบบตั้งรับ คือ จะให้ส่วนลดร้อยละ 25 จากราคาหน้าปกแก่ลูกค้าที่เดินเข้ามาซื้อไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ร้านค้า หรือบุคคลทั่วไป ซึ่งบางยุคบางสมัยก็มีบางกลุ่มผลประโยชน์ขอส่วนลดเพิ่มสูงถึงร้อยละ 30 แต่ในปี 2556 เป็นต้นมา องค์การค้าของ สกสค. ได้จำกัดส่วนลดไว้แค่ร้อยละ 25 เท่านั้น

อีกทั้งในปัจจุบัน องค์การค้าของ สกสค. ได้เริ่มทำตลาดโดยส่งตัวแทน หรือเซลล์เข้าไปทำการตลาด หรือเข้าหาผู้บริหารโรงเรียน และร้านค้าทั่วประเทศโดยตรงอีกทางหนึ่ง เพราะหากยังตั้งรับอยู่จะทำให้ตลาดของ อคส.เล็กลงเรื่อยๆ จนอยู่ไม่ได้ในที่สุด

ขณะที่สำนักพิมพ์เอกชนทั่วไปจะส่งเซลล์เข้าไปทำการตลาดกับโรงเรียน และร้านค้าโดยตรง พร้อมทั้งให้ส่วนลดมากถึงร้อยละ 40 จากราคาหน้าปก ซึ่งสูงกว่าส่วนลดที่ได้รับจากองค์การค้าของ สกสค. ถึงร้อยละ 15 ยิ่งถ้าหากหนังสือมีราคาสูงกว่าก็จะยิ่งทำให้มีส่วนต่างมากขึ้นเป็นเงาตามตัว เนื่องจากงบประมาณอุดหนุดทางการศึกษา ในเรื่องการจัดซื้อหนังสือเรียนจะถูกส่งไปให้โรงเรียน โดยคำนวณเป็นรายหัว เช่น ชั้น ป.1 ได้ 200 บาทต่อคนต่อปี ชั้น ม.1 ได้ 561 บาทต่อคนต่อปี เป็นต้น ซึ่งการสั่งซื้อหนังสือเป็นอำนาจของผู้บริหารโรงเรียนนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปี องค์การค้าของ สกสค. ต้องจัดพิมพ์หนังสือเรียนของกระทรวงศึกษาธิการประมาณ 40 ล้านเล่ม แต่ด้วยการเครื่องจักรที่ใช้ในการพิมพ์หนังสือเรียนขององค์การค้าของ สกสค. อยู่ในสภาพเก่า ชำรุด และเสียบ่อย ส่งผลให้ประสบปัญหาการจัดพิมพ์หนังสือเรียนล่าช้า และส่งไม่ทันโรงเรียนเปิดเทอม ผู้บริหารองค์การค้าของ สกสค. จึงใช้วิธีการว่าจ้างโรงพิมพ์เอกชนเข้ามารับงานพิมพ์ โดยตั้งแต่ปี 2549-2555 มีการว่าจ้างโรงพิมพ์เอกชนภายนอกรวมกว่า 2,269 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาตัวเลขการขาดทุน และสภาพคล่องทางบัญชีขององค์การค้าของ สกสค. ที่มีตัวเลขติดลบกว่า 2,000 ล้านบาทได้ กระทั่ง นายสมมาตร มีศิลป์ ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. จึงมีแนวคิดแก้ปัญหาเรื่องเครื่องจักรเก่าด้วยการเช่าเครื่องพิมพ์ และเครื่องทำเล่มจากเอกชนมาดำเนินการผลิตหนังสือเรียนภายในโรงพิมพ์ขององค์การค้าของ สกสค.แทน

นายอารีย์ สืบวงค์ ประธานสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภา กล่าวว่า ข้อเรียนเรียนของภาคีเครือข่ายต่อต่านการทุริตคอร์รัปชันของชาติ หรือ ภตช. การเช่าเครื่องพิมพ์ และเครื่องทำเล่มจากเอกชนมาดำเนินการผลิตหนังสือเรียนภายในโรงพิมพ์ขององค์การค้าของ สกสค. ที่ระบุว่าไม่โปร่งใส ไม่มีมูลความจริง เนื่องจากทางสหภาพฯ ได้ตรวจสอบการพิจารณาเช่าเครื่องพิมพ์จากบริษัทศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) กับการว่าจ้างโรงพิมพ์ภายนอกพิมพ์หนังสือเช่นในอดีต พบว่า การเช่าเครื่องพิมพ์มีราคาถูกกว่าถึง 123 ล้านบาท ซึ่งช่วยประหยัดเรื่องต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการวางระบบการพัฒนาการพิมพ์ขององค์การค้าของ สกสค. ให้มีความทันสมัย มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และสร้างรายได้เพิ่มให้แก่องค์การค้าของ สกสค.อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น องค์การค้าของ สกสค. ยังสามารถจัดระบบหนังสือเรียนที่เป็นลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันปัญหาหนังสือเรียนเถื่อนด้วย

นายอารีย์ กล่าวด้วยว่า การออกมาเคลื่อนไหวของบางกลุ่มบางองค์กรน่าจะมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะเป็นกลุ่มผู้เสียประโยชน์ ที่พยายามจะบีบให้องค์การค้าของ สกสค. ให้ส่วนลดมากกว่าร้อยละ 25 ขณะเดียวกัน ยังมาจากการที่องค์การค้าของ สกสค.พยายามรุกทำตลาดมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น