xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กต๊อก” ย้ำสอบบอร์ด สสส.เหตุใช้งบผิดวัตถุประสงค์ - รับ อปท.ทุจริตสูงเล็งจัดทีมลงให้ความรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม
 
MGR Online - รมว.ยุติธรรม เผย นายกฯ ใช้ ม.44 ตรวจสอบบอร์ด สสส. เหตุใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ส่วนกลุ่ม อปท. ถูกสอบทุจริตมากถึงร้อยละ 60 อาจเพราะเป็นการเมืองท้องถิ่น กฎระเบียบไม่ชัดเจน หรือขาดความเข้าใจ เตรียมให้ ศอตช. ลงให้ความรู้ ชี้ ปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ผล ต้องป้องกันด้วย

วันนี้ (6 ม.ค.) เวลา 12.30 น. ที่ชั้น 9 สำนักงานกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตาม มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 1/2559 ประกาศรายชื่อ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 รวม 59 คน ว่า เป็นคำสั่งที่ครั้งที่ 3 ซึ่งพูดเสมอว่า หากใครมีความสงสัยก็ขอให้เสนอคำร้องมายังตน หรือศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้ เพราะเรายินดีให้ทุกคนที่มีรายชื่อเข้ามาชี้แจงได้ และตนก็จะให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบได้ชี้แจงให้ทราบพร้อมหลักฐานอย่างชัดเจน เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ส่วนการตรวจสอบคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. นั้น พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ในภาพรวมของ สสส. มีประเด็นคือการใช้และอนุมัติงบประมาณไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกโครงการของ สสส. แต่เป็นบางโครงการเท่านั้น ซึ่งตนขอชี้แจงว่าอย่าไประบุเป็นโครงการย่อยแต่ต้องพูดในภาพรวม และก็ไม่อยากโต้ตอบแต่ให้ใช้ช่องทางคือการยื่นขอชี้แจง และตนก็จะให้หน่วยงานที่ตรวจสอบชี้แจงให้ทราบทุกครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ทาง สสส. ให้น้ำหนักหลายโครงการประสบความสำเร็จ เช่น โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา โครงการสวดมนต์ข้ามปี พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ตนพูดถึงเรื่องอะไร โครงการ หรือ การปฏิบัติ ซึ่งโครงการของ สสส. เป็นโครงการที่ดี ไม่มีใครปฏิเสธ และโครงการของทุกรัฐบาลเป็นโครงการที่ดี แต่หลายโครงการมีเรื่องการทุจริตจริงนั่นคือการปฏิบัติต่างหาก เราอย่าเอาโครงการมาพูด

“ผมได้ชี้แจงกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะลงพื้นที่ไปดูชุมชนเพราะทุกครั้งที่เราประกาศคำสั่งดังกล่าว จะเห็นได้ว่าในส่วนของ อปท. (องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) จะมีรายชื่อถึงร้อยละ 60 ค่อนข้างเยอะ ซึ่งผมได้บอก ศอตช. แล้วว่า ไม่ควรจะใช้ระบบการปราบปรามหรือลงโทษอย่างเดียว ซึ่งเราจะต้องกลับมาทบทวนทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นไม่ควรปล่อยสถิติให้ออกมาขนาดนี้ แต่คดีเหล่านี้จะเกิดก่อนผมมาไม่ใช่หลังผมมา” รมว.ยุติธรรม กล่าว

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ได้เชิญสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย และ สมาคม อบต. แห่งประเทศไทยมาหารือกันถึงระบบการป้องกัน ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าการร้องเรียนทั้งประเทศมี 1 ใน 3 ที่ไปลงที่ท้องถิ่น ซึ่งมันเกิดอะไรขึ้น ตนอยากคิดในแง่บวกว่า อาจจะเกิดจาก 1. คู่แข่งทางการเมืองท้องถิ่น 2. ที่อยู่กับใกล้ชิดกับชาวบ้าน 3. กฎระเบียบข้อบังคับบางเรื่องไม่ชัดเจน และ 4. นายกส่วนท้องถิ่นบางคนไม่ได้เติบโตมาจากการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งหรือไม่

พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ ศอตช. ลงไปให้ความรู้และส่งเสริมความเข้าใจให้กับท้องถิ่น เพราะที่ผ่านมา การใช้จ่ายงบประมาณมีความผิดพลาดและไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น เราก็ต้องการที่จะพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ และพัฒนาองค์กรท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพราะว่าถ้า ศอตช.หรือรัฐบาลใช้ระบบการปราบปรามคนทุจริต ซึ่งคงไม่ถูกต้อง ดังนั้น เราจึงต้องใช้ระบบป้องกัน จึงจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าหรือไม่

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น