สุดช็อก!! ยักยอกเงินมหาวิทยาลัยเทคโนลาดกระบัง คนในรวมหัว ผจก.แบงก์โกง 1.6 พันล้าน....พาดหัวข่าวขึ้นจอผู้จัดการออนไลน์ โดยทีมข่าวอาชญากรรมเมื่อบ่ายวันที่ 21 ธ.ค.2557 เพียงสื่อเดียวและสื่อแรกสร้างความสนใจแก่ผู้คนในสังคมรวมทั้งบุคคลในแวดวงการศึกษา ซึ่งแม้จะเข้าสู่บรรยากาศใกล้เทศกาลปีใหม่แต่ด้วยมูลค่าความเสียหายจำนวนมหาศาล รวมทั้งการตื่นตัวของสังคมไทยที่กำลังรณรงค์ต่อต้านปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเมื่อเชื้อมะเร็งร้ายขบวนการโกงกินไปโผล่ในสถานศึกษาที่มีชื่อเสียงระดับประเทศจึงไม่น่าแปลกใจที่วันต่อมาสื่อทุกสาขาต่างลงมาติดตามอย่างใกล้ชิดกลายเป็นข่าวหลักนำเสนอติดต่อกันเป็นเวลาข้ามปี
ปฐมบทคดี”โคตรโกง สจล.”ทีมข่าวอาชญากรรมผู้จัดการออนไลน์ นำเสนอเบื้องต้นว่าราวกลางเดือน ธ.ค.2557 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในฐานะนายกสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ได้รับการร้องเรียนจากคณาจารย์ว่าได้ตรวจสอบบัญชีการเงินกองกลางของมหาวิทยาลัยฯซึ่งมีสะสมอยู่ประมาณ 3 พันล้านบาทพบว่าถูกยักยอกหายไปจากบัญชีถึง 1.6 พันล้านบาท โดยบัญชีดังกล่าวฝากกับธนาคารไทยพาณิชย์สาขาห้างบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี สุวินทวงศ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสุวรรณภูมิและไทยพาณิชย์สาขา สจล.ในเบื้องต้นคาดว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยจะต้องเป็นระดับบริหารของสถาบันฯและธนาคารที่มีอำนาจลงนามเบิก-จ่าย
ปฏิบัติการตามล่าขบวนการโคตรโกง สจล. เปิดฉากโดย พ.ต.อ.อัครเดช พิมลศรี รรท.ผบก.ป.และ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ รรท.ผบช.ก.ในขณะนั้นปรากฏรายชื่อ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนการคลัง สจล.และนายทรงกรด ศรีประสงค์ อดีตผจก.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี สวินทวงศ์ เพียง 2 คนเป็นการนำร่อง ก่อนติดตามจับกุมนายทรงกรด และอายัดน.ส.อำพร ซึ่งอยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ประโยชน์จากผู้ต้องหาทั้ง 2 มากนักเนื่องจากไม่ยอมเปิดปากซัดทอดใครอีกทั้งยังอ้างขั้นตอนต่างๆที่ทำกันอย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามแนวโน้มของคดีพนักงานสอบสวนมุ่งไปยังเครือข่ายนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างมีอำนาจการบริหาร
9 ม.ค.2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามจับกุมนายภาดา บัวขาวหรือโอ๊ด พราด้า ก่อนนำตัวมาสอบสวนและยอมรับว่ามีรสนิยมทางเพศแบบชาวเกย์ นับเป็นผู้ต้องหาเพียงคนเดียวที่เปิดปากให้การซัดทอดไปถึงผู้ต้องหารายอื่นเช่นนายกิตติศักดิ์ มธุจัด แฟนหนุ่มซึ่งเป็นตัวกลางระหว่าง “บิ๊กบอส”กับผู้มีอำนาจสั่งจ่ายของธนาคาร ข้อมูลจาก “โอ๊ด พราด้า”ยังสร้างสีสันแก่การเปิดโปงขบวนการทุจริต สจล.เป็นอย่างยิ่งเนื่องจากนายภาดา นิยมชมชอบการโพสต์ภาพ และการใช้ชีวิตในสื่อโซเชียลฯจนเป็นที่รู้จัก และสงสัยแก่ผู้ติดตามในฐานะเน็ตไอดอลเนื่องจากไม่ปรากฏอาชีพใดให้เห็นที่มาของความร่ารวยแต่เขากลับใช้ชีวิตหรูหรา ฟุ่มเฟือยมีรถแลมโบกินี เป็นพาหนะอยู่ในคฤหาสน์ใหญ่โตและเคยเช่าเหมาลำเฮลิคอปเตอร์ท่องเที่ยวรอบเกาะฮ่องกง มาแล้วเมื่อ “โอ๊ด พราด้า”ถูกกระชากหน้ากากเรื่องราวของเขาจึงเป็นที่สนใจอย่างทวีคูณ ยิ่งไปกว่านั้นกรณีรถแลมโบกินี คันหรูยังเกิดเป็นประเด็นสร้างความฮือฮาอีกครั้งเมื่อสอบพบว่ามีการซื้อขายเปลี่ยนมือให้กับปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือบอย ปกรณ์ ในราคา 13.5 ล้านบาทต่อมารถคันดังกล่าวถูกอายัดเพื่อพิสูจน์ว่าเข้าข่ายลักษณะฝอกเงินหรือไม่
ในระหว่างการสอบสวนคดีโคตรโกง สจล.ดำเนินไปอย่างเข้มข้นเวลา 21 น.เศษของวันที่ 7 ก.พ.2558 เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ห้องเก็บเอกสาร ชั้น 10 อาคารสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ถนนรัชโยธิน กทม.เจ้าหน้าที่ผจญเพลิงใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงจึงสามารถควบคุมซึ่งในกานนี้มี จนท.กู้ภัยสำลักควันเสียชีวิต 1 ราย อย่างไรก็ตามเมื่อเหตุการณ์สงบแม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคาร จะออกมาให้ข่าวในเวลาต่อมาว่าไม่เกี่ยวข้องกับคดี สจล.แต่กระแสสังคมกลับวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนานาถึงความประจวบเหมาะดังกล่าว
ส่วนการดำเนินคดีที่กำลังคืบหน้าอย่างเข้มข้นนั้น หลังเปิดตัวกิตติศักดิ์ มธุจัด เจ้าหน้าที่ติดตามผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินการอีกหลายคนส่วนใหญ่เป็นญาติที่รับฝากทรัพย์ไว้ ส่วนกลุ่ม “บิ๊กบอส”หรืออดีตผู้บริหาร สจล.อาทินายถวิล พึ่งมา นายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายการคลัง และนายศรุต ราชบุรี อาจารย์ สจล.ถูกพนักงานสอบสวนให้ปากคำอยู่หลายรอบกระทั่งวันที่ 23 ก.พ.2558 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามได้ออกหมายเรียกอดีตผู้บริหาร สจล.ทั้ง 3 ก่อนแจ้ง 5 ข้อหารวดคือปลอมแปลงและใช่เอกสารสิทธิ์ ร่วมกันลักทรัพย์และร่วมกันฟอกเงินโดยนายถวิล ใช่เงินสด 5 ล้านบาทประกันตัวไปส่วนนายสรรพสิทธิ์ และนายศรุต ได้ยื่นของประกันตัวในเวลาต่อมา
สรุปกลุ่มผู้ต้องหาคดี สจล.ทั้งหมดในระหว่างนั้นมีทั้งสิ้น 13 รายคือ น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ อดีต ผอ.ส่วนการคลัง สจล.นายทรงกรด ศรีประสงค์ อดีต ผจก.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาห้างบิ๊กซี สุวินทวงศ์ นายพูนศักดิ์ บุญสวัสดิ์ นายจริวัฒน์ สหพรอุดมการณ์ นางสมบัติ โสประดิษฐ์ น.ส.จันทร์จิรา โสประดิษฐ์ นางระดม มธุจัด นายภาดา บัวขาว นายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.นายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายการคลังและนายศรุต ราชบุรี ส่วนนายสหพงษ์ สหพรอุดมการณ์ และนายธวัชชัย ยิ้มเจริญ อยู่ระหว่างหลบหนี
เมื่อผู้ต้องหาระดับบิ๊กถูกเด็ดไปแล้วข่าวคราวการเคลื่อนไหวคดีโคตรโกง สจล.เริ่มซาลงแต่เรื่องราวระหว่าง สจล.กับธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะผู้รับฝากเงินและมีส่วนร่วมสร้างความเสียหายจะเยียวยา สจล.หรือแสดงความรับผิดชอบอย่างไร สำหรับประเด็นนี้ตัวแทนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เสนอให้ตอบโต้ธนาคารไทยพาณิชย์ ด้วยการปิดบัญชีทั้งหมดพร้อมรณรงค์ให้สังคมรับทราบข้อเท็จจริงอีกด้าน
วันที่ 27 ก.พ.2558 ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และ ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาราชการอธิการบดี สจล.ตั้งโต๊ะร่วมกันแถลงเรื่องการเยียวยาโดยฝ่ายธนาคารไทยพาณิชย์ ยินดีมอบเงินจำนวน 1.5 พันล้านบาทชดเชยให้ตามความเสียหายอย่างไม่มีเงินไข มีข้อแม้เพียงขอให้ สจล.ร่วมเป็นผู้เสียหายฟ้องไล่เบี้ยเอากับกลุ่มผู้ต้องหาทั้งหมด
เวลาผ่านไปจนถึงวันที่ 22 พ.ค.2558 นายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหาคนสำคัญซึ่งติดต่อขอมอบตัวกับพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ “ปิดฉาก”คดีโคตรโกง สจล.เป็นผู้ต้องหารายที่ 14 และเดินทางมายังสนามบินสุวรรณภูมิ มีคณะตำรวจไปคุมตัวถึงเครื่องพร้อมกับแจ้ง 5 ข้อหาเพื่อดำเนินคดีต่อไป