MGR Online - กรมศุลกากร ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประสานความร่วมมือแก้ไขปัญหาการลักลอบค้างาช้าง สามารถยึดของกลางงาช้างและเกล็ดลิ่น ได้ที่สนามบินสมุย หลังมีการลักลอบส่งมาในรูปแบบสินค้า รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 40 ล้านบาท
วันนี้ (18 ธ.ค.) เวาลา 11.00 น. ที่กรมศุลกากร นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร พร้อมด้วย พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งประเทศไทย, พ.ต.อ.สุทิน ทรัพย์ม่วง ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวผลการตรวจยึดงาช้างจำนวน 281 ท่อน น้ำหนักรวม 769.535 กิโลกรัม และเกล็ดลิ่นของตัวนิ่ม จำนวน 587 กิโลกรัม รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 40 ล้านบาท
นายกุลิศกล่าวว่า สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่เดินเอกสารพิธีการทางศุลกากร ผู้ได้รับมอบอำนาจจาก บริษัทกรุงเทพบริการภาคพื้น จำกัด ประจำคลังสินค้าสมุย (CARGO) สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ มาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดการดำเนินการเปลี่ยนอากาศยานภายในประเทศ โดยสินค้ามาจากประเทศสิงคโปร์ เข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยเครื่องบินเที่ยวบิน PG 964 ตามใบตราส่งสินค้า (AIR WAYBILL) จำนวน 5 ฉบับ ระบุชื่อผู้ส่งสินค้าเป็นชาวไนจีเรีย และผู้รับเป็นชาวลาว ซึ่งสินค้าระบุเป็นวิกผมและเอกสาร CARGO MANIFEST ประเทศต้นทางสิงคโปร์ ปลายทางสมุย
เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรด่านสมุยได้รับข้อมูลดังกล่าว โดยชื่อผู้ส่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไนจีเรียซึ่งเป็นประเทศที่มีช้างป่าแอฟริกาจำนวนมาก จึงตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวและนำเข้าตรวจสอบในเครื่องเอกซเรย์ ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าสินค้าที่บรรจุอยู่ภายในมีลักษณะคล้ายงาช้าง จึงขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เดินเอกสารพิธีการศุลกากร บริษัท กรุงเทพบริการภาคพื้น จำกัด, หัวหน้าพนักงานตรวจรับสินค้า และไปรษณีย์บริษัทแบ็กส์บริการภาคพื้น จำกัด ปละจำคลังสินค้าสถานีสมุย เพื่อทำการเปิดหีบห่อที่บรรจุสินค้าดังกล่าวเพื่อตรวจสอบโดยละเอียด พบว่าเป็นงาช้างและเกล็ดลิ่นจึงตรวจยึดไว้เป็นของกลาง จากการสืบสวนยังทราบว่าของกลางดังกล่าวถูกส่งมาจากประเทศสิงคโปร์เข้ามายังสนามบินสมุย เพื่อส่งต่อไปยังปลายทางที่ประเทศลาว โดยเจ้าหน้าที่จะนำงาช้างทั้งหมดไปตรวจสอบว่าเป็นของจริงหรือไม่ พร้อมสืบสวนขยายผลหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป
อย่างไรก็ตาม งาช้าง และเกล็ดลิ่น ถือเป็นถือเป็นสินค้าต้องห้ามผ่านประเทศตามอนุสัญญาไซเตรสว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ถือเป็นความผิดตามมาตรา 27 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 58/1 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ฉบับที่ 21 พ.ศ. 2557 ประกอบกับมาตรา 16,17 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2482 และความผิดฐานนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี หรือผู้ได้รับมอบหมายตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ความผิดฐานนำเข้าหรือนำผ่านโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ครอบครองและค้าซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 23 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2535 และแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2557 และอนุสัญญาไซเตรส รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง