MGR Online - ศาลฎีกาออกหมายจับ 2 ผู้บริหารบลิสเชอร์ฉ้อโกงหลอกสมาชิกซื้อทัวร์ฟรี ชี้ฎีกาของจำเลยต้องห้ามฎีกา ให้บังคับคดีตามศาลอุทธรณ์ จำคุกคนละ 120,945 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุกจำเลยคนละ 20 ปี
ที่ห้องพิจารณา 709 ศาลอาญา วันนี้ (23 พ.ย.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ ด.4756/2537 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท บลิสเชอร์ อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด น.ส.อังสุนีย์ พัฒนานิธิ อดีตกรรมการบริษัทฯ น.ส.ปัรจวรรณ เบญจมาศมงคล อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทฯและผู้ถือหุ้น นายแสงทอง แซ่กิม อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทฯและพนักงานฝ่ายขายอิสระ และนายอรรณพ หรืออาร์ต กุลเสวตร์ อดีต ผู้จัดการสาขาศูนย์สีลม เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 5, 12, 15
คดีนี้ อัยการโจทก์ยื่นฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2534 ถึง 11 ก.พ. 2537 บ.บลิสเชอร์ฯ ประกอบธุรกิจจัดสรรวันพักผ่อน หรือไทม์แชริ่ง โฆษณาชักชวนประชาชนให้สมัครสมาชิกใช้บริการที่พักฟรีตามสถานที่พักตากอากาศ หรือโรงแรมที่บริษัทฯ จำเลยจัดไว้ เป็นเวลา 4 วัน 4 คืนต่อปี หรือฟรีโฟร์ นาน 20 ปี มีรูปแบบการสมัครสมาชิกเป็นรูปแบบบัตรทอง และบัตรเงิน โดยบัตรเงิน จ่ายค่าสมาชิกปีละ 30,000 บาท พร้อมค่าบำรุงปีละ 2,500 บาท และบัตรทอง จ่ายค่าสมาชิก 60,000 บาท พร้อมค่าบำรุงปีละ 4,500 บาท หากสมาชิกรายใดจะสมัครเป็นฝ่ายขายต่อจะต้องเสียค่าสมัครเพิ่ม 1,500 บาทต่อปี และหากหาสมาชิกได้จะได้ค่านายหน้าเพิ่มรายละ5,000บาท มีผู้เสียหายหลงเชื่อสมัครเป็นสมาชิก 24,189 ราย มูลค่าความเสียหาย 826,266,000 บาท ต่อมากระทรวงการคลังพบว่า จำเลยไม่อาจดำเนินการซื้อขายสินค้าตามที่ประกาศได้ เพราะไม่มีสินค้าให้ไปขายจริง และให้ค่าตอบแทนในวิธีฟรีโฟร์ คิดแล้วสูงกว่าดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด ไม่มีการประกอบกิจการจริง อันเป็นการกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน จำเลยให้การปฏิเสธ
โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2551 ให้จำคุก น.ส.อังสุนีย์ อดีตกรรมการบริษัทฯ, นายแสงทอง อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท และนายอรรณพ อดีต ผจก.สาขาศูนย์สีลม จำเลยที่ 2, 4, 5 ฐานฉ้อโกงประชาชน คนละ 120,945 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยที่ 2,4 และ 5 ไว้คนละ 20 ปี ส่วนบริษัท บลิสเชอร์ฯ และ น.ส.ปัรจวรรณ อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท จำเลยที่ 1 และ 3 เนื่องจากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการวางแผนบริหารนโยบายดังกล่าว ขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2556 ยืนตามศาลชั้นต้น และให้ออกหมายจับ น.ส.อังสุนีย์ อดีตกรรมการบริษัทฯ และนายแสงทอง อดีตผู้ก่อตั้งบริษัท จำเลยที่ 2 และ 4 เนื่องจากหลบหนีไม่มาฟังคำพิพากษา ต่อมาจำเลยที่ 2 และ 4 ยื่นฎีกาสู้คดี
เมื่อถึงเวลานัดปรากฏว่า น.ส.อังสุนีย์ อดีตกรรมการบริษัทฯ จำเลยที่ 2 และนายแสงทอง อดีตผู้ก่อตั้งบริษัทฯ จำเลยที่ 4 ไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงทนายความจำเลยที่ 4 และผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 2 มาศาล โดยศาลได้ออกหมายจับครบกำหนด 1 เดือนแล้วแต่ไม่สามารถติดตามตัวจำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษาได้ จึงให้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสองฎีกาว่าพวกจำเลยไม่ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท บลิสเซอร์ และเห็นว่าบริษัทไม่ได้ประกอบธุรกิจในลักษณะแชร์ลูกโซ่ โดยไม่ทราบว่าบริษัทมีการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งคำร้องฎีกาของจำเลยเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ซึ่งต้องห้ามฎีกา ส่วนที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่าคำฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ตกไป ทำให้คำฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 4 ตกไปด้วย ก็ไม่เป็นสาระแห่งการวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป เมื่อฎีกาของจำเลยที่ 2 และ 4 ต้องห้ามฎีกา จึงให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 120,945 ปี แต่ตามกฎหมายเมื่อรวมลงโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกจำเลยคนละ 20 ปี และให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสองเพื่อบังคับคดีตามศาลอุทธรณ์