MGR Online - ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำคุก “ประมวล หุตะสิงห์-ปรีติ เหตระกูล” อดีตผู้บริหาร บทม.คนละ 5 ปี กรณีเปลี่ยนราคากลางประกวดราคาจ้างเหมาปรับปรุงดินสนามบินหนองงูเห่า ปี 39 จำเลยที่ 1 นำสืบเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือคุก 3 ปี 4 เดือน แต่จำเลยทั้งสองไม่มาศาล ให้ออกหมายจับมารับโทษ
ที่ห้องพิจารณา 913 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (11 พ.ย.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.4126/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายประมวล หุตะสิงห์ อดีตรองผู้จัดการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) และคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมา และนายปรีติ เหตระกูล อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บทม. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ร่วมกันใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การหรือบริษัทจำกัด, เป็นพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 และ 11
คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2552 ภายหลัง ป.ป.ช.สรุปสำนวนชี้มูลความผิด ซึ่งคำฟ้องบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า วันที่ 20 ก.ย. 2539 บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ได้ประกาศการประกวดราคาจ้างเหมาปรับปรุงคุณภาพดินท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งใหม่ (หนองงูเห่า) โดยนายปรีติ จำเลยที่ 2 มีคำสั่งแต่งตั้งนายประมวล จำเลยที่ 1 กับผู้มีชื่อ รวม 7 คน เป็นคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาจ้างเหมา ต่อมาระหว่างวันที่ 27-29 พ.ย. 2539 วันเวลาใดไม่ปรากฏแน่ชัด จำเลยทั้งสองร่วมกันแก้ไขราคากลางให้สูงขึ้นกว่าราคาจ้างเหมาด้วยการพิมพ์เอกสารขึ้นใหม่แล้วนำไปสับเปลี่ยนแทนฉบับเดิม โดยที่กรรมการอีก 6 คนไม่ได้รู้เห็นหรือเห็นชอบแต่ประการใด เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2554 เห็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.พนักงานในองค์การของรัฐฯ มาตรา 11 ให้จำคุกคนละ 5 ปี ต่อมาจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2556 พิพากษากลับให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ภายหลังอัยการโจทก์และจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกา
อย่างไรก็ดี เมื่อถึงเวลานัดจำเลยทั้งสองไม่ได้เดินทางมาศาล มีเพียงผู้รับมอบอำนาจของนายประมวล จำเลยที่ 1 มาศาล โดยก่อนหน้านี้ศาลได้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 ให้มาฟังคำพิพากษา ซึ่งครบระยะเวลา 1 เดือนแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาลและยังไม่สามารถติดตามจับตัวได้ ศาลจึงอ่านคำพิพากษาโดยให้ถือว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองทราบคำพิพากษาแล้ว
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ และการพิจารณาหลักฐานเพิ่มเติมของ ป.ป.ช. ซึ่งศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ในชั้นของ ป.ป.ช.มีพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นที่รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการกระทำผิด ฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้จึงฟังไม่ขึ้น
ส่วนจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามฟ้องโจทก์หรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อคณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคาที่มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานทำการเปิดซองราคาแล้ว เรียกให้ผู้เสนอราคาที่ผ่านการพิจารณาขั้นต้นทั้ง 3 รายมาเสนอราคาใหม่ และเรียกให้ผู้เสนอราคาต่ำสุดต่อรองราคาแล้วได้ทำบันทึกเมื่อเดือน พ.ย. 2539 เรื่องรายงานการพิจารณาผลการกระปวดราคาจ้างเหมาก่อสร้างปรับปรุงเสนอจำเลยที่ 2 โดยระบุว่าราคากลาง ซึ่งปริษัทที่ปรึกษาตั้งไว้เป็นเงิน 10,860,743,889.38 บาท พร้อมเสนอความเห็นว่าควรจ้างบริษัท อิตาเลียน-ไทย ดีเวล๊อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในออปชั่น 1 เป็นเงิน 11,900,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 และกรรมการทุกคนลงลายมือชื่อในรายงานบันทึกข้อความครบถ้วนแล้ว แต่ระหว่างที่จำเลยที่ 2 พิจารณาบันทึกข้อความดังกล่าว เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทผู้เสียหาย กลับมีการแก้ไขข้อความในบันทึกบางแผ่น โดยเฉพาะตัวเลขราคากลาง ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาตั้งไว้จาก 10,860,743,889.38 บาท เป็น 12,200,000,000 บาท และแก้ไขข้อความอื่นให้สอดคล้องกับราคากลางที่แก้ไขใหม่ จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ลงรายมือชื่อทำบันทึกข้อความใหม่ ในฐานะประธานกรรมการฯ ในเอกสารที่แก้ไขใหม่เพียงผู้เดียว โดยทำเอกสารที่มีรายมือชื่อของกรรมการคนอื่นที่ได้ลงไว้เดิมแนบไปกับเอกสารชุดใหม่ที่แก้ไขด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยพลการที่ไม่ได้เป็นไปตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคา ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการฯ โดยมิชอบ
ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการแก้ไขบันทึกข้อความเกี่ยวกับราคากลางหรือไม่นั้น โจทก์มีพยานหลายปากเบิกความสนับสนุนสอดคล้องกันเกี่ยวกับเรื่องการจัดส่งเอกสารการประชุมให้กรรมการบริษัทผู้เสียหายว่า จำเลยที่ 2 ให้พยานจัดพิมพ์เอกสาร และนำไปตรวจสอบ โดยมีการแก้ไขใหม่อยู่หลายครั้ง จึงเห็นว่าเมื่อหน้าที่ของคณะกรรมการพิจารณาประกวดราคาเสร็จสิ้นลง ก็เห็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องพิจารณาต่อในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อไม่ปรากฏเหตุที่ คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคาจะต้องเรียกเอกสารมาทำการแก้ไขแล้ว จึงทำให้คำเบิกความของพยานโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งการให้เรียกเอกสารที่อยู่ระหว่างการจัดส่งกรรมการบริษัทกลับคืนมาแก้ไขนั้น มีน้ำหนักให้รับฟังได้ อีกทั้งโจทก์ยังมีสำเนาเอกสารที่เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการพิจารณาผลประกวดราคาที่ดำเนินการเสร็จแล้ว แต่กลับมีรอยขีดฆ่าและแก้ไขราคากลาง เขียนด้วยดินสอเป็นตัวเลขราคา 12,200,000,000 บาท รวมทั้งยังมีผู้เชี่ยวชาญ และผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือเบิกความสนับสนุนด้วย ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสอง นอกจากจะปกปิดข้อเท็จจริงต่อกรรมการบริษัทผู้เสียหายแล้ว ยังมีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายผู้เสนอราคาที่ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายกับ บทม.ด้วย ซึ่งเป็นการกระทำไปโดยรู้ว่าจะทำให้เกิดความเสียหาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานเป็นพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิดตาม พ.ร.บ.พนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยคนละ 5 ปี แต่ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 3 ปี 4 เดือน และให้ออกหมายจับจำเลยทั้งสอง เพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาต่อไป ภายในอายุความ 10 ปี