ศาลฎีกาพิพากษาแก้จำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา “เสี่ยขาว” ผู้บริหารซานติก้าผับ - “บุญชู เหล่าสีนาท” กก.บริษัท โฟกัสไลท์ฯ ติดเอฟเฟกต์ คดีเพลิงไหม้กลางผับปี 51 ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
วันนี้ (5 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีเพลิงไหม้ซานติก้าผับ หมายเลขดำ ที่ อ.541/2553, 648/2553 และ 753/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 และญาติผู้เสียชีวิต กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ รวม 57 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ หรือเสี่ยขาว กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ผู้บริหารซานติก้าผับ จำเลยที่ 1, นายธวัชชัย ศรีทุมมา ผอ.ฝ่ายปฏิบัติการ จำเลยที่ 2, นายพงษ์เทพ จินดา ผจก.ฝ่ายบันเทิง จำเลยที่ 3, นายวุฒิพงศ์ ไวลย์ลิกรี ผจก.ฝ่ายการตลาด จำเลยที่ 4, นายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟ จำเลยที่ 5, บริษัท โฟกัสไลท์ ซาวน์ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ในซานติก้าผับ จำเลยที่ 6 และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 ในความผิดฐานผู้ใดทำให้เกิดเพลิงไหม้เป็นเหตุให้ผู้อื่นทรัพย์สินผู้อื่นเสียหายและเป็นอันตรายกับชีวิตผู้อื่น, ผู้ใดกระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย, ผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และผู้ใดกระทำการให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา 225, 291, 300, 390 และกระทำผิด พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 16/1, 16/3.27 และ 28/1 ฐานเป็นผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการปล่อยปละละเลยให้บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปในสถานบริการ และปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบริการ มาตรา 291
ตามฟ้องโจทก์ ระบุว่า เมื่อคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2551 ต่อเนื่องวันที่ 1 ม.ค. 2552 พวกจำเลยได้กระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จัดให้มีงานรื่นเริงให้บริการจำหน่ายอาหารสุรา เครื่องดื่ม การแสดงดนตรีรวมทั้งการแสดงแสงสีเสียงในโอกาสฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ภายในตัวอาคารซานติก้าผับ ย่านเอกมัย ซึ่งภายในตัวอาคารไม่มีแบบแปลนแผนผังอาคารติดตั้งแสดงไว้ ไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ และไม่ได้ติดตั้งไฟฉุกเฉินให้มีจำนวนเพียงพอที่จะสามารถเปิดส่องสว่างแก่ลูกค้าเพื่อการหลบหนีออกจากตัวอาคารได้สะดวกและปลอดภัย โดยอาคารมีพื้นที่ให้บริการลูกค้าที่สามารถจุคนได้ไม่เกินจำนวน 500 คน แต่ขณะเกิดเหตุมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คน โดยจำเลยที่ 5 ได้จุดพลุไฟที่บริเวณหน้าเวทีซึ่งมีความสูงประมาณ 5 เมตร จนเกิดลูกไฟขึ้นไปชนเพดานเวทีทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นที่บริเวณเพดานเวทีและภายในตัวอาคารเป็นเหตุให้ลูกค้าผู้เข้าไปใช้บริการในอาคารถึงแก่ความตาย 67 คน บาดเจ็บสาหัส 32 คน บาดเจ็บอีก 71 คน จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ โดยจำเลย 1 อ้างว่าขณะเกิดเหตุไม่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์บราเธอร์ส์ (2003) จำกัด ซึ่งบริหารร้านซานติก้าผับ ส่วนจำเลยที่ 6 และ 7 ต่อสู้คดีว่าเพลิงที่ลุกไหม้ไม่ได้เกิดจากเอฟเฟกต์
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2554 เห็นว่า จำเลยที่ 1, 6 และ 7 เป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม ม.291 ที่เป็นบทหนักสุด จำคุกนายวิสุข หรือเสี่ยขาว จำเลยที่ 1 และนายบุญชู เหล่าสีนาท กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท โฟกัสไลท์ฯ ซึ่งรับจ้างติดตั้งการทำเอฟเฟกต์ในซานติก้าผับ จำเลยที่ 7 คนละ 3 ปี และ ปรับบริษัท โฟกัสไลท์ ฯ จำเลยที่ 6 รวม 20,000 บาท โดยให้บริษัท จำเลยที่ 6 และ นายบุญชู จำเลยที่ 7 ร่วมกันชดใช้โจทก์ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 8.7 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 2-5 ยกฟ้อง
ต่อมาจำเลยที่ 1, 6-7 ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง โดยโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในส่วนของนายสราวุธ อะริยะ นักร้องวงเบิร์น ผู้จุดพลุไฟจำเลยที่ 5 ซึ่งศาลชั้นต้นยกฟ้อง ขณะที่โจทก์ร่วมได้ยื่นอุทธรณ์ส่วนค่าเสียหาย
โดยศาลอุทธรณ์มีคำตัดสินเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2556 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องนายวิสุข หรือเสี่ยขาว จำเลยที่ 1 ทุกข้อหา เนื่องจากไม่ใช่ผู้ที่กระทำประมาทโดยตรงที่จะทำให้เหตุเพลิงไหม้ ลำพังที่จะฟังว่าให้กลุ่มนักท่องเที่ยวเข้าไปในสถานบันเทิงเกิน 500 คนก็ฟังไม่ได้ ซึ่งหากจำเลยที่ 1 จะมีพฤติการณ์ดังกล่าวก็เป็นเรื่องของการไม่ได้ติดแบบแปลนแผนผังของอาคาร ป้ายบอกทางหนีไฟ และติดไฟฉุกเฉินให้เพียงพอ ที่เป็นข้อปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดนั้นสืบเนื่องจากการจุดเอฟเฟกต์ด้วยไฟฟ้าที่หน้าเวทีที่จำเลยที่ 6-7 ดูแล และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง นายสราวุธ นักร้องวงเบิร์น จำเลยที่ 5 เนื่องจากหลักฐานดีวีดีบันทึกภาพที่ได้จากกล้องวิดีโอของพนักงานบริษัทที่บันทึกการแสดงโชว์บนเวที ก่อนที่จะเกิดเพลิงไหม้ไม่ปรากฏภาพว่าจำเลยที่ 5 ได้ถือกระบอกพลุและจุดตามคำเบิกความของพยานโจทก์บางปากซึ่งภายในอาคารมีแสงไฟสลัว ค่อนข้างมืด ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากยืนเบียดเสียดกัน จึงเป็นไปได้ที่พยานจะเห็นภาพในมุมที่ต่างกัน และอาจจะเข้าใจผิดได้ โดยภาพที่ปรากฏในแผ่นดีวีดีพบเพียงแค่จำเลยที่ 5 ยืนถือไมค์เพียงมือเดียว ไม่ได้ก้มๆ เงยๆ ตามคำเบิกความของพยาน ซึ่งหากจะถือกระบอกพลุด้วยก็ต้องถือ 2 มือพยานหลักฐานโจทก์ยังมีความขัดแย้งกัน
ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกนายบุญชู กรรมการบริษัท โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 3 ปี และปรับบริษัท โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 จำนวน 20,000 บาท และให้บริษัทจำเลยที่ 6 กับ นายบุญชู จำเลยที่ 7 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมที่ 4-8 รวม 5 รายที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 8.7 ล้านบาท
ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกาขอให้พิพากษาลงโทษนายวิสุข หรือเสี่ยขาว จำเลยที่ 1 ส่วน บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 และนายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 ยื่นฎีกาขอให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว พยานหลักฐานโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ที่นำสืบมารับฟังได้ว่า เหตุเพลิงไหม้เกิดจากดอกไม้เพลิงของนายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 ที่ติดตั้งอยู่ที่หน้ากลองชุดของวงดนตรีที่อยู่ในงาน เมื่อมีการทำฉากเอฟเฟกต์ ในร้านเกิดเหตุจึงทำให้เกิดเพลิงไหม้ดังกล่าว ส่วน บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้น เมื่อนายบุญชู กรรมการบริษัท จำเลยที่ 7 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยในการรับจ้างติดตั้งดอกไม้เพลิงดังกล่าวตามวัตถุประสงค์จึงถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 6 ด้วย ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 7 เป็นความผิดอาญาแม้จะเป็นการกระทำโดยประมาทบริษัทจำเลยที่ 6 ก็ต้องรับโทษเช่นกัน ฎีกาของจำเลยที่ 6-7 ฟังไม่ขึ้น
สำหรับนายวิสุข จำเลยที่ 1 แม้จะไม่ได้มีชื่อเป็นผู้แทนบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ส (2003) จำกัด ที่เป็นเจ้าของร้าน แต่เป็นผู้บริหารร้านเกิดเหตุตามความเป็นจริง และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้จัดให้มีไฟฉุกเฉินของทางหนีไฟ ขณะที่ประตูเข้า-ออกทางด้านหน้าร้าน ซึ่งเป็นประตูหลักเพียงประตูเดียว มีความกว้างเพียง 2 เมตร 30 เซนติเมตร ซึ่งไม่พอที่จะระบายคนเกือบ 1,000 คนให้ทันแก่เหตุการณ์ เมื่อมีผู้ถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บจากเหตุเพลิงไหม้ จำเลยที่ 1 จึงได้ชื่อว่ากระทำโดยประมาทด้วย
ฎีกาของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยจึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปีฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ตาม ม.291 ที่เป็นบทหนักสุด
ส่วนนายบุญชู กก.บ.โพกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุก 3 ปีตาม ม.291 และปรับ บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 6 เป็นเงิน 20,000 บาท และให้บริษัท จำเลยที่ 6 กับนายบุญชู จำเลยที่ 7 ร่วมกันชดใช้โจทก์ร่วมที่ 4-8 ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิต เป็นเงิน 5,120,000 ล้านบาท ทั้งนี้สำหรับจำเลยที่ 2-5 โจทก์ไม่ได้ยื่นฎีกาจึงทำให้คดีถึงที่สุดในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งศาลได้พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2-5
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว ขณะนี้ นายวิสุข หรือเสี่ยขาว ผู้บริหารซานติก้าผับ จำเลยที่ 1 และนายบุญชู กก.บ.โฟกัสไลท์ฯ จำเลยที่ 7 ได้ถูกคุมขังในเรือนจำรับโทษตามคำพิพากษาที่ให้จำคุกคนละ 3 ปีโดยไม่รอลงอาญา
ทั้งนี้ นายวิสุข หรือเสี่ยขาว ผู้บริหารซานติก้าผับ นั้นยังมีคดีฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 กรณีไม่ยื่นแสดงแบบรายการภาษีและไม่ชำระภาษีสรรพาสามิต ต่อกรมสรรพสามิต รวมยอดเงินทั้งสิ้น 85,382,470.67 บาท ที่อัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งศาลมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 57 ให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน รวมจำคุก 12 เดือนโดยไม่รอลงอาญา แต่ต่อมาจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ โดยมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อเดือน พ.ย. 58 ที่ผ่านมาให้ยกฟ้อง