ASTV ผู้จัดการ - รอง ผบ.ตร.มอบนโยบายด้านต่างประเทศ 8 ข้อ เน้นปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ลั่นหากพบเจ้าหน้าที่ทำผิดลงโทษทางอาญา
วันนี้ (8 ต.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านต่างประเทศ (ตท.) ประชุมมอบนโยบายงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การดูแลนักท่องเที่ยว และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อให้การปฏิบัติราชการในสายงานต่างประเทศ (ตท.) โดยเฉพาะในงานป้องกันปราบปรามคนร้ายข้ามชาติ และเข้าเมืองผิดกฎหมายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยมี พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา รรท.ที่ปรึกษา (สบ 10) พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.นเรศ นันทโชติ รรท.รอง จตช. พล.ต.ท.ศักดา ชื่นภักดี รรท.ผู้ช่วย ผบ.ตร. และตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจออสเตรเลีย รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
พล.ต.อ.วุฒิกล่าวว่า ตนเรียกให้มีการประชุมในวันนี้เพื่อมอบนโยบายการดูแลด้านต่างประเทศ โดยงานที่อยู่ในความดูแล คือ การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ การดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ได้แบ่งกลุ่มงานให้มีการทำงานด้านต่างประเทศโดยเฉพาะ จากที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้ มีการมอบนโยบาย 8 ข้อ คือ 1. ให้ถือว่าปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติเป็นวาระสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยจะต้องดำเนินการป้องกันปราบปรามอย่างจริงจัง 2. ให้ถือว่าการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติจำเป็นต้องบูรณาการการปฏิบัติของหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกหน่วยงาน และใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องบูรณาการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรข้ามชาติ พ.ศ. 2556, พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551, พ.ร.บ.การค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551, พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 และที่แก้ไขเพิ่มเติม, พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551, พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535, ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เกี่ยวข้อง, นโยบายและกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายภูมิภาคที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
พล.ต.อ.วุฒิกล่าวว่า ส่วนข้อ 3. ให้ยึดถือปฏิบัติตามระเบียบและแนวทางการปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้เคยมีคำสั่งไว้แล้วเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางเข้าประเทศของคนต่างชาติ การจับกุมผู้กระทำความผิดที่เป็นชาวต่างชาติ กรณีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเสียชีวิตในประเทศไทย 4. ให้กองการต่างประเทศ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย 5. ให้ สตม.ดำเนินมาตรการบังคับใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 อย่างจริงจัง เพื่อคัดกรองคนต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร หรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยได้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจคนเข้าเมืองให้เคร่งครัดแล้ว นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการคัดกรองบุคคลด้วย 6. ให้ทุกหน่วยในพื้นที่ทำการสำรวจสถานภาพคนต่างด้าวในเขตพื้นที่รับผิดชอบและดำเนินการกับผู้ลักลอบเข้าเมือง ผู้ที่อยู่ผิดกฎหมาย ผู้ที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตให้เด็ดขาด 7. ให้ทุกหน่วยพื้นที่พิจารณาจัดทำแผนที่อาชญากรรม (Crime mapping) เพื่อระบุถิ่นที่อยู่ของกลุ่มบุคคล กลุ่มต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย และจัดทำเป็นข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ในการสืบสวนจับกุม และ 8. ให้ดำเนินการจัดการกับปัญหาหนังสือเดินทางปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้นำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามหากมีพบว่าเจ้าหน้าที่มีการกระทำความผิด หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ตนจะไม่มีการสั่งย้ายให้มาช่วยราชการ แต่จะดำเนินการตามกฎหมายอาญาแทน
ต่อมา พล.ต.อ.วุฒิแถลงผลการจับกุมนายจอง จีแต็ก (Mr. JEONG JITATK) อายุ 43 ปี สัญชาติ เกาหลี หัวหน้าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เป็นผู้ที่ทางการเกาหลีใต้ต้องการตัวตามหมายจับตำรวจสากลในข้อหาฉ้อโกง และนายอังดราส ปีเตอร์ เซนเต (Mr. ANDRAS PETER SZENDE) อายุ 44 ปี สัญชาติฮังกาเรียน เป็นผู้ที่ทางการฮังการีต้องการตัวตามหมายจับตำรวจสากล ในข้อหาร่วมกันโทรมหญิงและกระทำความผิดฐาน ปลอมและใช้หนังสือเดินทางปลอมและแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยจับกุมได้ที่อพาร์ตเมนต์ย่านถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และพื้นที่ของ จ.ชลบุรี
พล.ต.ต.ณัฐธรกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) และ สน.คลองตัน ได้ร่วมกันจับกุมขบวนการคอลเซ็นเตอร์ได้ผู้ต้องหาชาวเกาหลีใต้ 7 คน ซึ่งได้มีการหลอกลวงผู้เสียหายในสาธารณรัฐเกาหลีใต้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชี มีมูลค่าความเสียหาย 950 ล้านวอน หรือ 29 ล้านบาท จึงได้มีการขยายผลทราบว่านายจอง จีแต็ก เป็นหัวหน้าขบวนการซึ่งยังหลบซ่อนอยู่ในประเทศไทย เจ้าหน้าที่ตำรวจสากลไทยและสาธารณรัฐเกาหลีใต้จึงได้ประสานข้อมูลถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) จากนั้นวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา สามารถควบคุมตัวนายจองไว้ได้ และแจ้งคำสั่งเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สตม.ต่อไป ทั้งนี้ นายจอง จีแต็ก อาศัยอยู่ในประเทศไทยมากว่า 10 ปี และมีภรรยาเป็นชาวไทย
ส่วนกรณีของนายอังดราส ปีเตอร์ เซนเต เป็นอาชญากรที่ทางฮังการีต้องการตัวและออกหมายจับในความผิดเกี่ยวกับรุมโทรมหญิง หลบหนีความผิดเข้ามายังประเทศไทยในพื้นที่ จ.ชลบุรี โดยใช้หนังสือเดินทางปลอม และชื่อปลอมว่า Mr.TIBOR POLGAR ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา นายอังดราส ปีเตอร์ เซนเต ได้แสดงหนังสือเดินทางต่อเจ้าหน้าที่ ตม.จ.ชลบุรี จากการตรวจสอบด้วยเครื่อง VSC 6000 พบหนังสือเดินทางมีพิรุธหลายอย่าง เชื่อว่าน่าจะเป็นหนังสือเดินทางปลอม เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงควบคุมตัวไว้สอบสวน นายอังดราส ปีเตอร์ เซนเต จึงได้ยอมรับสารภาพว่าได้สั่งทำหนังสือเดินทางปลอมมาจากประเทศฮังการีในราคาเล่มละ 2,000 ยูโร จึงแจ้งข้อหาให้ทราบว่าปลอมและใช้หนังสือเดินทางปลอม และแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สตม.ต่อไป