อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ยื่น ป.ป.ช.ตรวจสอบทุจริตจัดซื้อตู้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ชี้กำหนดสเปกเกินความจำเป็น และราคาจัดซื้อสูงกว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส เกือบ 300 เปอร์เซ็นต์ ส่อเจตนาล็อกสเปกให้ผู้รับเหมาบางราย เพราะผู้สนใจ 4 ราย มีรายเดียวเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเข้าประมูลได้
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 2 ต.ค. 58 ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนนนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักการข่าวและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช.ขอให้ตรวจสอบการทุจริตการจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
โดยในการจัดซื้อรถไฟฟ้าดังกล่าวของการรถไฟแห่งประเทศไทยพบสิ่งผิดปกติหลายอย่าง เช่นการกำหนดให้มีผู้โดยสารยืน 10 คนต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. เป็นข้อกำหนดที่เกินมาตรฐานที่กำหนดอยู่ที่ 5-8 คนต่อพื้นที่ 1 ตร.ม. ถือว่าสูงผิดปกติ รวมทั้งมีการกำหนดระบบขับเคลื่อน 8 ชุดในหนึ่งขบวน ถ้ากรณีที่ระบบขับเคลื่อนเสียครึ่งหนึ่งรถไฟฟ้าดังกล่าวยังสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุดเท่าเดิมคือ 160 กม.ต่อ ชม.ถือว่าออกแบบเกินความจำเป็น
ทั้งนี้ ในการจัดซื้อดังกล่าวใช้เงินถึง 4,400 ล้านบาทต่อรถไฟฟ้า 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวมทั้งหมด 28 ตู้ ราคาต่อตู้เท่ากับ 157 ล้านบาท ในขณะที่บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส จัดซื้อได้ในราคาต่อตู้เท่ากับ 43 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งถือว่าการจัดซื้อในครั้งนี้แพงกว่าที่ บีทีเอส ซื้อถึง 265% และแพงกว่าราคารถไฟที่ประเทศมาเลเซียซื้อจากบริษัทเดียวกันเมื่อเดือน พ.ย. 2557 โดยมาเลเซียซื้อรถไฟในราคาต่อตู้เท่ากับ 62.5 ล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.ซื้อแพงกว่ามาเลเซียถึง 151%
จากกรณีดังกล่าวถือว่า ร.ฟ.ท.มีเจตนามุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม หรือเพื่อช่วยเหลือให้ผู้เสนอราคารายหนึ่งรายใดมีสิทธิเข้าทำสัญญาซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งในการประมูลครั้งนี้มีบริษัทที่สนใจเข้ายื่นประมูล 4 รายแต่มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่ยื่นที่สามารถเข้ายื่นการประมูล จึงขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีการตรวจสอบการทุจริตในครั้งนี้เพื่อป้องกันการโกงชาติตามนโยบายรัฐบาล