xs
xsm
sm
md
lg

“ประวุฒิ” บรรยาย นศ.ป.โท ศรีปทุม เตือน! เสพข่าวโซเชียลอย่าด่วนสรุป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTV ผู้จัดการ - “พล.ต.ท.ประวุฒิ” โฆษก ตร. เป็นวิทยากรบรรยายงานสัมมนาในหัวข้อ “รู้เท่าทันสื่อกรณีบึ้มศาลพระพรหม” ให้นักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ ม.ศรีปทุม เตือนเสพข่าวสังคมโซเชียล อย่าด่วนสรุปให้ฟังหน่วยงานราชการ แชร์ข้อความเท็จ เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อดีตรองนายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทยแนะวิเคราะห์และแยกแยะ ในการค้นหาข้อมูลข่าวสาร

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 29 ก.ย. ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมบางเขน นักศึกษาปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “รู้เท่าทันสื่อกรณีบึ้มศาลพระพรหม” เพื่อให้นักศึกษาและประชนที่สนใจได้มีความรู้ความเข้าใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการสื่อสารของสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน โดยมี พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อ.เวทิต ทองจันทร์ หัวหน้าภาควิชาสื่อดิจิตอล ม.สยาม นายวัชรินทร์ กลิ่นมะลิ อดีตรองนายกสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีประชาชน สื่อมวลชน และนักศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมงานสัมมนาครั้งนี้

โดย พล.ต.ท.ประวุฒิ ได้กล่าวว่า “ในการรับข้อมูลข่าวสารในสังคมออนไลน์นั้น อยากให้ใช้วิจารณญาณในการรับฟังในโลกโซเชียล อย่าเพิ่งด่วนสรุป ให้ตรวจสอบกับทางหน่วยราชการเป็นหลัก ซึ่งสื่อหลักนั้นอย่างน้อยก็มีการอ้างอิงจากที่เกิดเหตุ มีบุคคลอย่าอิงที่ถูกต้อง และวิเคราะห์ข้อมูล สำหรับผู้ที่แชร์ หรือโพสต์ข้อความที่ไม่จริง หรือปล่อยข่าวทำให้คนแตกตื่นนั้น ก็อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้”

ด้าน อ.เวทิต ได้กล่าวว่า “ในทางกฎหมายไม่มีความว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือจะบอกว่าไม่รู้จักกฎหมายไม่ได้ ต่อไปคงจะต้องมีคู่มือในการใช้สังคมออนไลน์ ให้เลือกเสพข่าวที่ถูกประเภท ว่า ข่าวใดมีประโยชน์ใดของสังคมในฐานะพลเมือง อีกอย่างก็ต้องรู้จักแหล่งที่มาข่าว ในสื่อหลัก ไม่ควรที่จะไปอ้างอิงสื่อที่ตั้งตัวขึ้นมาเอง ก็อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้”

นายวัชรินทร์ อดีตรองนายกสมาคมผู้สื่อข่าว และช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า “สำหรับฐานะของสื่อมวลชน ก็อยากให้ประชาชนหรือผู้ที่ติดตามสถานการณ์ข่าวให้รู้จักคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ในการค้นหาข้อมูลข่าวสาร เพื่อที่จะได้ติดตามข่าวสารและได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แต่ก็อยากให้ประชาชนนั้นได้ติดตามข่าวสารจากทางสื่อหลัก เพราะในการทำงานของสื่อมวลชนนั้น เป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่จริงอยู่ในสนามข่าว รับรู้ถึงบรรยากาศในที่เกิดเหตุ สามารถอธิบายได้โดยมีบุคคลที่เชื่อถึงได้เป็นผู้อ้างอิง มีกระบวนการที่กลั่นกรองข้องเท็จจริง ก่อนที่ข่าวนั้นจะเผยแพร่ออกสู่ประชาชน พร้อมด้วยมีภาพประกอบที่ชัดเจน ที่มีการบันทึกภาพด้วยตัวของผู้สื่อข่าว - ช่างภาพ ที่มีต้นสังกัดที่เชื่อถือได้จริง ซึ่งหากว่าเป็นการนำข้อมูลข่าวสารจากโลกออนไลน์ มาเผยแพร่เองโดยไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ก็อาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและความเสียหายให้กับสังคมได้”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น