xs
xsm
sm
md
lg

รวบแก๊งสกิมเมอร์สัญชาติโรมาเนีย ออกตระเวนกดเงินเหยื่อ เสียหายหลายแสน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รวบแก๊งชาวต่างชาติ สัญชาติโรมาเนีย นำบัตรเอทีเอ็มปลอมตระเวนกดเงินทั่วพื้นที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี จากนั้นก็จะโอนเงินกลับประเทศ

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 22 ก.ย. ที่ บก.ปอศ. พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท รอง ผบก.ปอศ. มอบหมายให้ พ.ต.อ.วชิระ พยาน้อย ผกก.5 บก.ปอศ. พ.ต.ท.พรศักดิ์ พิทยารัตน์ รอง ผกก.5 บก.ปอศ. พ.ต.ท.ปิยะฉัตร ณ พัทลุง สว.กก.5 บก.ปอศ. และเจ้าหน้าที่ กก.5 บก.ปอศ. ร่วมกันจับกุม นายไอออน มาเซล มาร์คู อายุ 35 ปี และนายคลาวดิโอ มิไฮ ชิราเบา อายุ 44 ปี สัญชาติโรมาเนีย พร้อมของกลางบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอม 9 ใบ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กจำนวน 1 เครื่อง โดยสามารถจับกุมได้บริเวณภายในปั๊มน้ำมันปิโตรนาส ซ.ลาดพร้าว 15 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร

พ.ต.อ.วชิระ กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจากได้เกิดมีผู้เสียหายหลายสิบรายในพื้นที่อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ถูกคนร้ายขโมยเงินในบัญชีผ่านบัตรเอทีเอ็ม และได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สภ.บางใหญ่ โดยในเบื้องต้นคาดน่าจะถูกสกิมมิ่งบัตร หลังเกิดเหตุ พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหาญพืทักษ์ ผบช.ก. ได้สั่งการให้ บก.ปอศ. ทำการหาข่าวสืบสวนติดตามจับกุมผู้ที่ก่อเหตุ ประสานข้อมูลกับทางสถาบันการเงิน กระทั่งสืบทราบว่าคนร้ายได้มากดเงินที่ตู้เอทีเอ็มในพื้นที่ลาดพร้าว จึงได้วางกำลังสังเกตการณ์ กระทั่งเมื่อช่วงสายวันนี้เจ้าหน้าที่ก็พบผู้ต้องหาทั้งสองมากดเงินที่ตู้เอทีเอ็มภายในปั๊มน้ำมันดังกล่าว รวมทั้งได้กดตามตู้เอทีเอ็มในละแวกใกล้เคียง 3 ตู้ติดกัน จึงได้แสดงตัวขอตรวจค้นก็พบของกลางอยู่ในตัวผู้ต้องหา ก่อนทำการจับกุม

จากการสอบสวนผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ร่วมกันก่อเหตุจริง โดยได้เดินทางเข้ามายังประเทศไทยผ่านช่องทางตรวจคนเข้าเมืองที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา และได้ซื้อข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลที่การสลิมเมอร์ และบัตรเอทีเอ็มปลอมมาจากคนไทย ก่อนที่นำบัตรเอทีเอ็มปลอมออกตระเวนกดเงินสดจากตู้ต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นก็จะโอนเงินกลับประเทศ

ผกก.5 บก.ปอศ. กล่าวอีกว่า ในส่วนวิธีการป้องกันหรือระมัดระวังไม่ให้ตกเป็นเหยื่อขบวนการนี้ วิธีการสังเกตง่าย ๆ หากไปใช้บริการตู้เอทีเอ็มแล้วพบความผิดปกติ 1. ช่องเสียบบัตร และแป้นกดตัวเลข ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ โดยช่องเสียบบัตรต้องมี ไฟสีเขียวกะพริบเพื่อแสดงว่า เครื่องเอทีเอ็มดังกล่าวได้ติดตั้งเครื่องป้องกันไว้แล้ว ขณะเดียวกัน แป้นกดตัวเลขต้องไม่มีความหนา ซึ่งหากสงสัยไม่ควรใช้เครื่อง และควรรีบแจ้งให้ธนาคารเจ้าของตู้ทราบทันที 2. สังเกตความผิดปกติบริเวณตู้เอทีเอ็ม เช่น กล่องใส่โปรชัวร์ เพราะอาจใช้เป็นจุดซ่อนกล้องรูเข็ม เพื่อการแอบดูการกด รหัสบัตรขณะใช้งาน 3. ควรใช้มือบังแป้นตัวเลขขณะทำรายการทุกครั้ง และ 4. เป็นไปได้ควรเปลี่ยนรหัสอย่างสม่ำเสมอ

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันใช้หรือมีไว้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ปลอมในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น” ก่อนส่งตัวให้พนักงานสอบสวน กก.5 บก.ปอศ. ดำเนินคดีตามกฎหมาย และขยายผลติดตามจับกุมผู้ต้องหาที่เหลือต่อไป

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น