ศาลฎีกาสั่งจำคุกไฮโซ “หมูแฮม” ขับรถพุ่งชนพนักงาน ขสมก.-ผู้โดยสารหน้าป้ายรถเมล์ตาย 1 ราย เมื่อปี 2550 เป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ชี้พฤติการณ์ร้ายแรง
ที่ศาลจังหวัดพระโขนง ถ.สรรพาวุธ วันนี้ (18 ก.ย.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีที่อัยการฝ่ายคดีศาลจังหวัดพระโขนง นายมาโนจน์ หรือธนชรพล โตจวง, น.ส.สังวาล สีหะวงษ์, น.ส.สุชีรา อินทร์สุวรรณ์ และนางทองดำ หลวงแสง เป็นโจทก์ร่วมที่ 1-4 ร่วมกันฟ้องนายกัณฑ์พิทักษ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ หรือหมูแฮม อายุ 25 ปี บุตรชายนายกัณฑ์เอนก ปัจฉิมสวัสดิ์ กับนางสาวิณี ปะการะนัง อดีตนางสาวไทยปี 2527 เป็นจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา พยายามฆ่าผู้อื่น และทำร้ายร่างกายผู้อื่นทำให้ได้อันตรายแก่กาย
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2550 เวลา 22.50 น. จำเลยใช้ก้อนหินทุบใบหน้านายสถาพร อรุณศิริ พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 513 ทะเบียน 12-0939 กรุงเทพมหานคร และขับรถเบนซ์ ทะเบียน ศศ 6699 กรุงเทพมหานคร พุ่งชนผู้โดยสารที่ยืนบนทางเท้า และนางสายชล หลวงแสง พนักงานการเงิน ขสมก.เสียชีวิต หลังเกิดเหตุรถเมล์ขับปาดหน้ารถของนายกัณฑ์พิทักษ์ให้หยุดบริเวณหน้าป้อมตำรวจจราจรที่ปากซอยสุขุมวิท 26 แยกอารีย์ แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กทม.
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2552 ว่า การกระทำของจำเลยไม่น่าเชื่อว่าจำเลยมีสติฟั่นเฟือน ที่อ้างว่ามีอาการเกร็งในขณะเกิดเหตุและตัวเองต้องได้รับการรักษาอาการป่วยจากแพทย์นั้น ศาลเห็นว่าที่จำเลยมีอาการเกร็งเกิดจากความเครียดจากการก่อเหตุเท่านั้น และที่จำเลยอ้างว่าบังคับตัวเองไม่ได้เพราะมีสภาพจิตแปรปรวน จำเลยไม่มีพยานหลักฐานยืนยันทางการแพทย์ชัดเจน การกระทำของจำเลยเกิดจากนายกัณฑ์เอนก ปัจฉิมสวัสดิ์ บิดาของจำเลยเลี้ยงดูตามใจ จึงก่อเหตุดังกล่าวจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษฐานฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจำคุก 1 เดือน และริบรถยนต์ของกลาง และให้ชำระค่าเสียหายแก่ นางสมจิตร แกล้วกล้า กระเป๋ารถเมล์ ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 1 แสนบาท น.ส.สังวาล โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 8 แสนบาท น.ส.สุชีรา โจทก์ร่วมที่ 3 จำนวน 79,412 บาท และนางทองดำ หลวงแสง โจทก์ร่วมที่ 4 มารดาของนางสายชล หลวงแสง ผู้เสียชีวิต จำนวน 2,158,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันทำละเมิด วันที่ 4 ก.ค. 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนผู้เสียหายอื่นรวม 7 ราย จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายจนเป็นเป็นที่พอใจ ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2556 ให้จำคุกจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นเป็นเวลา 3 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเป็นเวลา 2 ปี และรวมโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นอีก 1 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น เป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งและให้จำเลยไปรักษาความบกพร่องทางจิตเป็นประจำตามที่แพทย์กำหนดนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ต่อมาอัยการโจทก์ และ นางสุชีลา โจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นฎีกาว่า โทษศาลอุทธรณ์ที่ให้จำคุก 2 ปี ฐานฆ่าผู้อื่นในขณะไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 65 วรรค 2 โดยให้รอลงอาญานั้น เหมาะสมหรือไม่
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ตามวัน-เวลาเกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ขับรถประจำทาง ได้เฉี่ยวชนรถเบนซ์ของจำเลย จึงได้มีการขับรถติดตามซึ่งระหว่างทางจำเลยก็ได้แจ้งให้ตำรวจติดตามด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยก็ได้พูดกับผู้เสียหาย แต่ผู้เสียหายปฏิเสธไม่ได้ขับรถเฉี่ยวชน จำเลยจึงได้หยิบก้อนหินบริเวณดังกล่าวทุบที่ศรีษะผู้เสียหาย ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ติดตามมาก็ได้ ดึงแขนจำเลยกลับไปนั่งที่รถเบนซ์ แต่พนักงานกระเป๋ารถเมล์ ได้เดินตามมาโต้เถียงพร้อมกับกลุ่มคนอีก 7-8 ซึ่งได้เดินมาทุบที่กระจกรถกระทั่งน้องสาวของจำเลยที่อญุ่ในรถร้องไห้ จากนั้นจำเลยจึงได้พยายามขับรถออกไปในทางเท้าประมาณ 3 เมตร ก่อนที่จะพุ่งชนบุคคลที่ยืนรอรถเมล์ และชนพนักงาน ขสมก. แล้วหลังจากก่อเหตุพบจำเลยนั่งนิ่งหลังติดเบาะ ใบหน้าและมือเกร็งชิดอก โดยไม่ได้จับพวงมาลัยบังคับรถยนต์คันดังกล่าว
ทั้งนี้เมื่อเกิดเหตุแล้ว ได้มีการตรวจภาวะทางจิตของจำเลย โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และแพทย์ที่ทำการรักษาจำเลยมานาน รวมทั้งนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งพบว่า ในวัยเด็กจำเลยเคยมีชักเกร็ง ขณะที่จำเลยสะสมความเครียดตั้งแต่อายุ 12 ปี เมื่อบิดา – มารดาแยกทางกัน น้องสาวของจำเลยคนหนึ่งก็มีอาการป่วยออทิสติก อีกคนป่วยโรคลิ้นหัวใจ โดยช่วงวัยรุ่นอายุ 17-18 ปี จำเลยก็เคยใช้สารเสพติดประเภทยาบ้า ยาไอซ์และยาเค เพราะรู้สึกตนเองไร้ค่า ถูกทอดทิ้งประกอบผิดหวังด้านความรักถึงขั้นคิดทำร้ายตนเองและจะฆ่าตัวตาย ซึ่งก่อนเหตุจำเลยได้เข้ารักษาอาการต่อเนื่องที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ โดยแพทย์วินิจฉัยว่าจำเลยมีภาวะอารมณ์แปรปรวนเมื่อเกิดอาการโกรธหรือเครียดที่ต้องรักษาด้วยการกินยา แต่ช่วงก่อนเหตุจำเลยทิ้งช่วงการรักษาไปนาน 1 เดือน ซึ่งระหว่างนั้นจำเลยผิดหวังกับความรักครั้งที่สอง ก็ขับรถชนกำแพงบริเวณทางด่วน และเคยยืมอาวุธปืนจากญาติเพื่อจะฆ่าตัวตาย
ดังนั้นจากผลการตรวจรักษาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงฟังได้ว่า จำเลยมีความบกพร่องทางจิต โดยขณะเกิดเหตุเมื่อบุคคลมาทุบรถระทั่งน้องสาวจำเลยร้องไห้ ย่อมทำให้เกิดความโกรธและกลัวจนเครียด ซึ่งการขับรถออกมาพุ่งชนนั้นเป็นการแสดงความก้าวร้าวเมื่อเกิดอาการ โดยช่วงกหนึ่งที่จำเลยพยายามขับรถออกไปเมื่อมีผู้มาทุบกระจกรถ แสดงให้เห็นว่าขณะเกิดเหตุจำเลยก็น่าจะรู้ผิดชอบ แต่การกระทำที่ฆ่าผู้อื่นเกิดจากความบกพร่องทางจิต ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่การที่บิดาของจำเลย ยังยอมให้จำเลยขับรถ พฤติการณ์มีความร้ายแรง เมื่อศาลพิเคราะห์ถึงสภาวะแวดล้อม อายุ ประวัติ ความประพฤติ ภาวะแห่งจิตและสิ่งแวดล้อมของจำเลยแล้ว กรณีไม่เป็นการสมควรที่รอการลงโทษในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นฯ ที่ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษเป็นเวลา 2 ปีนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย ฎีกาของอัยการโจทก์ และ น.ส.สุชีรา โจทก์ร่วมที่ 3 ฟังขึ้นบางส่วน
ศาลฎีกา จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษให้จำเลย จึงให้ยกเลิกการคุมประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ภายหลังฟังคำพิพากษา นายกัณฑ์พิทักษ์ หรือหมูแฮม ซึ่งสวมเสื้อเชิ้ตแขนยาวสีขาว กางเกงสแลคสีดำ มีสีหน้าเรียบเฉย ไม่มีอาการเกร็งของร่างกายหรือแสดงความเครียดผ่านทางสีหน้าและร่างกายใดๆ โดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้ควบคุมตัวนายกัณฑ์พิทักษ์ ไปเพื่อรับโทษขังตามคำพิพากษาเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือนต่อไป ขณะที่การฟังคำพิพากษาฎีกาวันนี้ นายกัณฑ์พิทักษ์ หรือหมูแฮม เดินทางมากับญาติและทนายความเท่านั้น โดยนายกัณฑ์เอนก บิดา และ นางสาวิณี ปะการะนัง มารดา ไม่ได้เดินทางมาแต่อย่างใด ส่วนฝ่ายโจทก์ร่วม มี น.ส.สุชีรา บุตรของนางสายชล พนักงาน การเงิน ขสมก.ที่เสียชีวิต เดินทามางฟังคำพิพากษาพร้อมกับ นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ
นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความโจทก์ร่วม กล่าวว่า คดีนี้ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งวันนี้ศาลฎีกาได้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จากเดิมที่ให้รอลงอาญาไว้ ศาลฏีกาเห็นว่าจำเลยมีพฤติกรรมที่ไม่ควรรอลงอาญา แต่ยังคงลงโทษน้อยกว่ากฎหมายกำหนดไว้ คือยังคงลงโทษจำเลยเป็น 2 ปี 1 เดือน คดีจึงถึงที่สุดแล้ว เราต้องยอมรับในคำพิพากษาของศาล ไม่ติดใจ ส่วนที่ทำได้ตอนนี้คือปฏิบัติตามคำพิพากษา สิ่งที่ควรให้อภัยกันได้เราก็ให้อภัยแล้ว เราทำเต็มที่และทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้ตายและบุตรสาวผู้ตายแล้ว ในส่วนค่าเสียหายนั้นจำเลยและบิดาของจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายหมดแล้ว ทั้งในส่วนของ น.ส.สุชีรา บุตรผู้ตาย 79,412 บาท และนางทองดำ มารดาผู้ตาย จำนวน 2,158,500 บาท
ด้าน น.ส.สุชีรา อินทร์สุวรรณ์ อายุ 33 ปี บุตรสาวผู้ตาย กล่าวว่า วันนี้รู้สึกภูมิใจ ตนต่อสู้ในคดีนี้มานานมากผ่านความรู้สึกเสียใจ ท้อแท้ สิ้นหวังมาหมดแล้ว ซึ่งวันนี้การต่อสู้ก็มีผลสำเร็จ ดีใจที่ต่อสู้เพื่อแม่สำเร็จ