ศาลเลื่อนฟังอุทธรณ์คำสั่งขอส่งตัว “วิลลี่” นักธุรกิจไทย จัดหาอาวุธสงครามให้กลุ่มกบฏอินเดีย เหตุทนายจำเลยส่งเอกสารสั่งยุติการสอบสวนเพราะคดีไม่มีมูล จึงเห็นควรส่งสำนวนกลับให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและมีคำสั่งอีกครั้ง
ที่ห้องพิจารณา 708 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (3 ก.ย.) ศาลนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ในคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน หมายเลขดำ อผ. 8/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวิลลี่ หรือนายวุฒิกร นฤนาถวานิช อายุ 58 ปี เจ้าของธุรกิจสปา และเครื่องสำอาง เป็นจำเลย เพื่อขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับไปยังสาธารณรัฐอินเดีย
คำฟ้องอัยการระบุว่า จำเลยเป็นบุคคลสัญชาติไทยได้กระทำผิดข้อหาคบคิดเพื่อกระทำความผิดทางอาญา และสะสมอาวุธ และอื่นๆ โดยเจตนาก่อสงครามที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลอินเดีย เป็นความผิดที่มีโทษเทียบกฎหมายไทยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 114, 135/1-3 และมาตรา 210 ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เป็นความผิดทางการเมือง หรือมีลักษณะในทางการเมือง อีกทั้งคดียังไม่ขาดอายุความ เนื่องจากเป็นคดีเร่งด่วนตาม 10 แห่งสนธิสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นกรณีเร่งด่วนตามพ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2472 มาตรา 10 โดยคำร้องนี้ ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐอินเดียต่อไป
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2557 ให้ส่งตัวนายวุฒิกรเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สาธารณรัฐอินเดีย โดยวันนี้ศาลได้เบิกตัวนายวุฒิกร จำเลยซึ่งถูกควบคุมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาฟังคำสั่ง ขณะที่ฝ่ายโจทก์มีอัยการ และเจ้าหน้าที่จากสถานทูตสาธารณรัฐอินเดียมาร่วมฟังคำสั่ง
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าศาลอาญาได้มีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำสั่งออกไปก่อน ตามคำแถลงของทนายจำเลย เนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2558 และ 1 ก.ย. 2558 ทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลระบุว่ามีพยานหลักฐานใหม่เพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบสวนข้อกล่าวหาว่าจำเลยร่วมกระทำผิดในการสะสมอาวุธสงคราม โดยเอกสารจากพนักงานสอบสวนกองปราบปราม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่มีมูล และได้ยุติการสอบสวนคดีดังกล่าว ซึ่งจำเลยขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารหลักฐานใหม่และไต่สวนพยานเพิ่มเติม ดังนั้นเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ศาลอาญาจึงมีคำสั่งให้ส่งเอกสารคำร้องของฝ่ายจำเลยทั้งหมดให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป ส่วนคดีนี้ให้รอจนกว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่ง
นายวุฒิกรกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าการกล่าวหาที่จะขอส่งตนเป็นผู้ร้ายข้ามแดนนั้น เป็นข้อกล่าวหาที่การกระทำเกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งสิ้น หากจะมีการพิจารณาก็ควรเป็นดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีในชั้นศาลภายในประเทศไทย
ด้านนายศิรา โอสถธรรม ทนายความจำเลย กล่าวว่า คดีดังกล่าวทางรัฐบาลอินเดียเคยขอความร่วมมือทางอาญาให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนและจับกุมจำเลยพร้อมพวกซึ่งเป็นคนไทยที่ร่วมกระทำผิดคดีลักลอบขนอาวุธสงครามเพื่อการก่อการร้าย เมื่อปี 2554 ต่อมารัฐบาลอินเดียส่งหนังสือมาว่าหลักฐานยังไม่ชัดเจนจึงให้ยุติเรื่อง หลังจากนั้นรัฐบาลอินเดียได้ยื่นคำร้องขอส่งตัวจำเลยเป็นผู้ร้ายข้ามแดนโดยวิธีทางการทูตแทน โดยใช้พยานหลักฐานชุดเดียวกับที่เคยส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวน จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่ประเทศอินเดีย ทางเราจึงยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้สอบสวนเรื่องดังกล่าวใหม่ เพราะไม่เคยเห็นหลักฐานชุดดังกล่าวของรัฐบาลอินเดีย ซึ่งกองบังคับการปราบปรามได้สรุปสำนวนคดีนี้ใหม่เมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมาว่า ไม่พบหลักฐานว่าจำเลยและบุคคลอื่นมีการกระทำผิดเกี่ยวกับการลักลอบขนอาวุธสงครามเพื่อการก่อการร้ายที่รัฐเตลันกานา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศอินเดียแต่อย่างใด และเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีมูลความผิดทางอาญาและให้ยุติการสืบสวนสอบสวน ตนจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนเพิ่มเติม ศาลอาญาจึงมีคำสั่งเลื่อนฟังคำสั่ง และให้ส่งสำนวนและคำร้องกลับไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีกครั้ง
นายศิรากล่าวอีกว่า คดีนี้เรายังมีความหวัง แต่หากมีการกระทำผิดจริง การกระทำทั้งหมดก็เกิดขึ้นในประเทศไทยและมีคนไทยเข้ามาเกี่ยวข้องหลายคน ดังนั้น ควรจะดำเนินคดีที่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม นายวุฒิกรดำเนินธุรกิจค้าขายเล็กๆ โดยมีนายวุฒิกรบริหารจัดการเพียงผู้เดียว และไม่เคยติดต่อค้าขายกับประเทศอินเดีย ซึ่งปัจจุบันธุรกิจของนายวุฒิกรได้ยุติกิจการไปแล้วจากการที่ถูกขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน