อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง “พล.ท.มนัส คงแป้น” กับพวก 104 คน เอี่ยวคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาที่ จ.สงขลา และใกล้เคียงรวมทั้งสิ้น 16 ข้อหา และให้อัยการส่งตัวยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนาทวีแล้ว 72 ราย พร้อมคัดค้านการประกันตัว ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือจะประสานตำรวจและนายอำเภอนาทวีติดตามตัวมาดำเนินคดี
เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (24 ก.ค.)นายวันชัย รุจนวงศ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายอรุณ กมลกิจไพศาล อัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอัยการสูงสุด 2 และนางทรงรัตน์ เย็นอุระ อธิบดีสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวการสั่งคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา
นายวันชัยกล่าวว่า วันนี้พนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดนาทวี จังหวัดสงขลา ได้ยื่นฟ้อง พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และพวกรวม 72 ราย เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดนาทวี ในความผิด พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และความผิดอื่น รวม 16 ข้อหา เป็นคดีหมายเลขดำ อ.2741/2558 แล้ว ภายหลังจากเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหา 104 ราย ในข้อหาร่วมกันค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ มาตรา 4, 6, 7, 9, 10, 11, 52, 53/1, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์การอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 3 ,5, 6, 10, 25, ร่วมกันหรือนำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร หรือช่วยเหลือบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63,64 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหาย ตามประมลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งสิ้น 16 ข้อหา ตามสำนวนที่พนักงานสอบสวน สภ.ปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ได้รวบรวมพยานหลักฐานพร้อมความเห็นกล่าวหา นายบรรจง หรือ จง ปองพล กับพวก รวม 120 คน ประกอบด้วย บุคคลสัญชาติไทย 107 คน ซึ่งเป็นพลเรือน 92 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คน (ชั้นสัญญาบัตร 3 คนและชั้นประทวน 1 คน) ทหาร 1 คน ข้าราชการพลเรือน 1 คน กลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน 2 คน ผู้บริหารท้องถิ่น 3 คน และสมาชิกท้องถิ่น 4 คน, บุคคลสัญชาติพม่า 9 คน และบุคคลสัญชาติบังกลาเทศ 4 คน สรุปสำนวนส่งให้อัยการสูงสุด
นายวันชัยกล่าวอีกว่า คำสั่งคดีผู้ต้องหา 120 คนนั้น อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องผู้ต้องหาและนำตัวไปฟ้องต่อศาลชุดแรกวันนี้ 72 ราย พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรงและมีอัตราโทษสูงถึงประหารชีวิต โดยผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว และยังสั่งยุติการดำเนินคดีผู้ต้องหา 1 รายซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว ส่วนผู้ต้องหาอีก 47 ราย ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องนั้นได้แยกดำเนินการ 2 ส่วน กลุ่มแรก ผู้ต้องหา 32 คน ซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติไทย 24 คน, บุคคลสัญชาติพม่า 5 คน และบุคคลสัญชาติบังกลาเทศ 3 คนนั้น อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องและให้แจ้งนายอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ติดตามตัวผู้ต้องหากลุ่มนี้มาดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องภายในอายุความ 20 ปี ซึ่งหากมีผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศ ก็ให้สำนักงานอัยการสูงสุดประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อดำเนินการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ต่อไป
กลุ่มที่ 2 ซึ่งมีผู้ต้องหา 15 คน ที่ยังจับกุมตัวไม่ได้เช่นกัน ก็ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไป เพื่อให้ได้ความชัดเจนว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับผู้ต้องหาอื่นอย่างไร โดยพฤติการณ์คดีนี้น่าเชื่อว่ายังมีผู้ร่วมกระทำความผิดอีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้การสอบสวนขยายผลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายตระกูล อัยการสูงสุด จึงได้มีคำสั่งให้มีพนักงานอัยการสำนักงานอัยการจังหวัดนาทวีและพนักงานอัยการสำนักงานอัยการภาค 9 ร่วมดำเนินคดีต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
นายวันชัยกล่าวว่า เรื่องนี้อัยการสูงสุดให้ความสำคัญเพราะเป็นคดีที่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและข้อเท็จจริงเกี่ยวพันหลายพื้นที่ อีกทั้งผู้ต้องหาหลายคนเป็นข้าราชการระดับสูงและมีอิทธิพลจึงต้องใช้ความละเอียดรอบครอบ และประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขณะนี้พยานทุกคนก็ได้รับการคุ้มครองพยานอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีปัญหาในการสืบพยานหรือไม่ เนื่องจากพยานบางคนอยู่นอกราชอาณาจักร นายอรุณ กมลกิจไพศาล อัยการพิเศษฝ่ายคดีอัยการสูงสุด 2 กล่าวว่า ไม่มีปัญหาเพราะสามารถใช้วิธีสืบพยานล่วงหน้าหรือสืบพยานฝ่ายวีดีโอคอนเฟอร์เร้นซ์ โดยเบื้องต้นได้มีการสืบพยานล่วงหน้าไปแล้ว 1 ปาก ซึ่งมีทนายความผู้ต้องหาร่วมซักค้านด้วย
เมื่อถามว่า หากฏษณสอบสวนพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐของต่างประเทศเกี่ยวข้องกับด้วยจะถือว่าอยู่นอกเขตอำนาจของอัยการสูงสุดหรือไม่ นางทรงรัตน์กล่าวว่า คดีนี้อัยการสูงสุดต้องการขยายผลถึงตัวผู้กระทำความผิดไปให้มากที่สุด หากพบว่ามีผู้เกี่ยวข้องรายอื่นอีกก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน