xs
xsm
sm
md
lg

รองเลขาฯ ศาลยุติธรรมผลักดันร่าง กม.จัดตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
รองเลขาฯ ศาลยุติธรรม เผย สนช.รับหลักการร่างกฎหมายการจัดตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ แก้ระบบอุทธรณ์ฎีกาจะทำให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยลดภาระของศาลฎีกา เพราะคดีส่วนใหญ่จะสิ้นสุดในศาลอุทธรณ์

วันนี้ (25 ส.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษแก้ระบบอุทธรณ์ฎีกาว่า สนช.มีมติรับหลักการกฎหมาย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 รวม 9 ฉบับ คือ 1. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ 2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม 3. ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 4. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) 5. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) 6. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) 7. ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร (แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอุทธรณ์และฎีกา) 8. ร่างพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การอุทธรณ์และฎีกา) 9. ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

โดยศาลชำนัญพิเศษ มี 5 ประเภท คือ 1. ศาลแรงงาน 2. ศาลภาษี 3. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 4. ศาลศาลล้มละลาย 5. ศาลเยาวชนและครอบครัว หลักการคือเป็นศาลพิเศษพิจารณาคดีเฉพาะบุคคลและคดีบ้างประเภท ปัจจุบันมีศาลชำนัญ 4 ประเภท คือ 1. ศาลแรงงาน 2. ศาลภาษี 3. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 4.ศาลศาลล้มละลาย ซึ่งศาลชำนัญพิเศษพิจารณาคดีเสร็จ คู่ความจะยื่นฎีกาตรงไปยังศาลฎีกาแผนกต่างๆโดยเฉพาะจึงจบเพียง 2 ศาล นั่นคือระบบศาลชำนัญพิเศษในปัจจุบัน มีเพียงศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่จะพิพากษาทั้งหมด 3 ศาล เพราะทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกามีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว

“ศาลชำนัญเกิดขึ้นเนื่องจากจะให้ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษเป็นผู้พิจารณา แทนที่จะส่งคดีไปยังศาลฎีกา ซึ่งเหตุผลคือศาลฎีกามีคดีเยอะแล้ว ทั้งการพิจารณาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แผนกคดีเลือกตั้ง ซึ่งเป็นภาระของศาลฎีกาอย่างมาก การที่คดีขึ้นไปสู่ศาลฎีกามากทำให้คดีล่าช้า เลยเปลี่ยนระบบให้การอุทธรณ์และฎีกาจบที่ศาลอุทธรณ์ คือประชาชนมีสิทธิ์สู้คดี 2 ชั้นศาลเหมือนเดิม แต่จากเดิมคือศาลชั้นต้นไปศาลฎีกา ก็เปลี่ยนมาเป็นศาลชั้นต้นแล้วจบที่ศาลอุทธรณ์ อย่างไรก็ตาม ระบบใหม่ยังอนุญาตให้ประชาชนสามารถยื่นฎีกาได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลพิจของศาลฎีกาว่าจะรับหรือไม่ก็ได้ ถ้าหากคดีนั้นเป็นคดีที่มีคุณประโยชน์แก่สาธารณะ ศาลฎีกาจึงจะรับไว้พิจารณา” นายสราวุธกล่าว

นายสราวุธกล่าวอีกว่า ถ้าร่างกฎหมายจัดตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษแก้ระบบอุทธรณ์ฎีกาผ่าน สิทธิการยื่นต่อสู้คดีของประชาชนยังอยู่ไม่ได้หายไป แต่ขั้นตอนการพิจารณาคดีต่างๆจะรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะปัจจุบันคดีที่ศาลฎีกายังคงค้างเยอะจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบ หลักการแนวคิดนี้ต่างประเทศก็ใช้กัน เช่น สหรัฐอเมริกาก็เป็นระบบที่อนุญาตให้ประชาชนยังคงมีสิทธิ์ยื่นฎีกาได้ หรือเรียกว่าระบบอนุญาตให้ยื่นฎีกา แต่ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจว่าจะรับฎีกาไว้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น