xs
xsm
sm
md
lg

“สมยศ” รอ “ประยุทธ์” สั่ง ยันไม่ดึงเกมยื้อเวลาถอดยศ “แม้ว” ย้ำเป็นลูกผู้ชายไม่ส่งระเบิดให้คนอื่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTV ผู้จัดการ - “สมยศ” ร่ายยาวแจงสี่เบี้ยเหตุถอดยศ “ทักษิณ” ช้า เผยทำมาตั้งแต่ปี 52 แต่มีความเห็นต่าง และสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย ยันไม่ได้ยื้อ พร้อมทำตามคำสั่งนายกฯ ลั่นเป็นลูกผู้ชาย ไม่เอาลูกระเบิดส่งให้คนอื่น



วันนี้ (13 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงการดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินถนนรัชดาภิเษก หลังจากคณะกรรมการพิจารณาข้อกฎหมายเรื่องการถอดยศ ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ข้อสรุปว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจเสนอถอดยศได้ตามกฎหมายว่า เรื่องนี้เกิดตั้งแต่ปี 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการเรื่องนี้มาตลอด แต่ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้น ตลอดจนผู้บังคับบัญชาในขณะนั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ความคิดความเห็นตั้งแต่ปี 2552-2557 มีความแตกต่างกันโดยตลอด

พล.ต.อ.สมยศกล่าวต่อไปว่า เรื่องนี้นับแต่ปี 2552-2554 มีความเห็นว่าควรถอดยศ บางปีมองว่าสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยที่จะดำเนินการเรื่องนี้ก็ไม่มีการหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา กระทั่งในปี 2555 ในสมัยนั้นมีความเห็นว่าไม่ควรถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นในปี 2555 จากนั้นปี 2556 มีผู้ร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่า มติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ถูกต้องเห็นควรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาใหม่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีการพิจารณาในปี 2557 แล้วส่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการพิจารณาทบทวนเรื่องการถอดยศของพ.ต.ท.ทักษิณ ใหม่ เมื่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องถึงตร. ผมได้รับเรื่อง จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธุ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นประธานในการพิจารณาการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวได้นำระเบียบการถอดยศ พ.ศ. 2547 ทั้ง 7 ข้อขึ้นมาพิจารณา ที่ประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวมีความเห็นว่า ความผิด หรือการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นความผิดตามระเบียบการถอดยศ ของ ตร. ข้อ 1 (6) เป็นสิ่งที่คณะกรรมการชุดนั้นมีมติมา เมื่อส่งเรื่องถึงตน ผมก็ส่งไปที่สำนักงานกำลังพล (สกพ.) ให้ประมวลเรื่อง โดยให้ตรวจสอบข้อมูล ข้อกฎหมาย ตลอดจนความคิดเห็นต่างๆ ที่ไม่ตรงกันมาแต่อดีต มาประกอบเป็นข้อมูลที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า หลังจากนั้น พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภสร์ ผบช.สกพ.เสนอว่า ยังมีข้อกฎหมายบางประเด็นที่จะต้องหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการข้อมูลและข่าวสารของราชการ ประเด็นเช่นว่านั้นคือ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นบุคคลในหรือนอกราชการ กฎหมายสามารถดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณได้หรือไม่ ประเด็นที่ 2 ระเบียบการถอดยศข้าราชการตำรวจปี 47 บังคับใช้กับคนบุคคลทั่วไป จำเป็นต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ ก่อนนำมาบังคับใช้ ในเบื้องต้นทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบมาว่า การพิจารณาว่าว่าระเบียบ ตร.ว่าด้วยการถอดยศตำรวจปี 47 นี้จำเป็นหรือไม่ที่ต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ เป็นอำนาจของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ซึ่งทราบว่า พรุ่งนี้ (14 ส.ค.) คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของทางราชการจะเชิญตัวแทน ตร.ไปชี้แจงในประเด็นที่หารือไป นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ผบ.ตร.กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้ง พล.อ.ไพบูลย์ เรียกหน่วยงานทุกหน่วยหารือแสดงความคิดเห็น กระทั่งสรุปว่าเห็นควรถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องชี้แจงว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติมิได้นิ่งดูดายที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่ หรือในความรับผิดชอบในส่วนนี้ แต่เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถที่จะออกคำสั่ง หรือเชิญหน่วยงานเหล่านี้มาหารือ หรือสามารถที่จะก้าวล่วงหรือเร่งรัดของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ดี หรือคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการก็ดี แต่คณะกรรการชุดของ พล.อ.ไพบูลย์ สามารถเรียก เร่งรัดได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ดี

“สิ่งนี้ยืดเยื้อมานาน ดูเหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูเหมือนผมยื้อ ดึงเรื่องดึงเวลา ซึ่งไม่เป็นความจริง ผมได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาโดยตลอด แต่เมื่อบางเรื่องบางสิ่งเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานภายนอก ผมไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่เมื่อชุดของ พล.อ.ไพบลูย์ได้ข้อยุติว่าเห็นควรถอดยศ จากนี้ก็เป็นหน้าที่ของท่านที่จะประมวลเรื่องราวต่างๆ เหตุผลเสนอถึงนายกฯ จากนั้นถ้านายกฯ มีคำสั่งมาที่ผม ผมก็จะปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ ภายใต้กรอบ ระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย” พล.ต.อ.สมยศกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำลังรอผลการพิจารณาข้อกฎหมายจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารทางราชการ ใช่หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ตรงนี้อยู่ที่ดุลพินิจของคณะกรรมการฯ ว่า ตนมีหนังสือถามไปยังหน่วยงานต่างๆ นานแล้ว แต่กลับไม่ได้รับคำตอบหรือคำชี้แจงในข้อหารือ ถ้าท่านหารือมาเร็วกว่านี้ผมคงตัดสินใจได้เร็วกว่านี้ แต่ถ้าท่านยังไม่หารือมา ต้องดูว่าเมือเราถามไปแล้ว เราควรรอหรือไม่ มันครบถ้วนกระบวนความแล้วหรือไม่ อันนี้ต้องพิจารณาให้ดี บางเรื่องต้องถามต่อกฤษฎีกา บางเรื่องต้องถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสาร จะตอบโจทย์เรื่องนี้หรือไม่ แล้วแต่กรณี กรณีนี้มันมีเรื่อง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารมาเกี่ยวข้องจึงต้องถามคณะกรรมการชุดนี้ ดีที่ตนถามทุกที่ ไม่เช่นนั้นก็โยนกันไปมา เสียเวลาอย่างนี้ ยืนยันตนทำงานไม่ได้ดึงเวลา ถ้าตนดึงตนคงค่อยถามไปคนละแต่ละที่ ใช้เวลาเดือนสองเดือนก็ปลดเกษียณพอดี ตนไม่ต้องการดึงเวลาทำตามขั้นตอน แต่หน่วยงานภายนอกเร่งรัดไม่ได้ คณะกรรมการอื่นอาจประชุมเดือนละครั้ง ไปเร่งรัดเขาไม่ได้

เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าเรื่องนี้จบแล้ว แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังรอคำตอบแง่กฎหมาย อาจเกิดความสับสนได้ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เชื่อว่า พล.อ.ไพบูลย์คงสรุปเป็นรายงานการประชุมและควรมีรายงานการสัมภาษณ์ ตนทราบและมั่นใจว่าทั้ง พล.อ.ไพบูลย์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ทำเรื่องแบบนี้ทราบดีว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ท่านต้องชี้แจงได้ หลังจาก พล.ต.อ.ชัยยะสรุปเรื่องให้ตน สัปดาห์ต่อมาตนก็ได้สอบถามยังคณะกรรมการกฤษฎีกาทันที ทั้งนี้ ตนมองว่าคณะกรรมการชุด พล.อไพบูลย์ ไม่ได้รวบรัดในการสรุป พล.อ.ไพบูลย์ปฏิบัติตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ถือป็นการบูรณาการ วิธีอย่างนั้นตนอยากทำ ตร.อยากทำอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ตนไม่มีศักยภาพหรืออำนาจที่จะเชิญหน่วยงานต่างๆ มา หรือหากส่งมาก็แค่ระดับเล็กๆ ไม่มีอำนาจตัดสินใจ แล้วก็กลับเหมือนเดิม นี่คือปัญหา

เมื่อถามว่า การที่ระบุว่าการถอดยศได้ทั้งที่เป็นอดีตข้าราชการ ผบ.ตร.กล่าวว่า การออกมาแถลงชี้แจงเช่นนี้แสดงว่ามีข้อมูลเหตุผลสนับสุนน เชื่อว่าท่านคงไม่ทำอะไรแบบง่ายๆ เพราะรู้ว่าเรื่องนี้สังคมเฝ้ามองอยู่ อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการทุกอย่างที่เหตุผล ระเบียบกฎหมายข้อมูลสนับสนุนเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ ตร.ต้องดำเนินการ ส่วนการจะฟ้องร้องภายหลังหรือไม่ ต้องดูเหตุผล เจตนาว่าที่ตนทำไปด้วยเหตุผลใด กลั่นแกล้งให้ร้ายป้ายสีหรือไม่ เพราะตลอดเวลาตนยืนยันว่านับตั้งแต่รับตำแหน่งมาถึงปัจจุบันยังยึดหลักการปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัด วิธีการ ใช้ระเบียบข้อบังคับ กฎหมายเป็นสำคัญ และที่สำคัญไม่กลั่นแกล้งให้ร้ายป้ายสีใคร

“ที่ผ่านมาผมไม่อยากชี้แจง เพราะเป็นประเด็นที่เปราะบาง เมื่อถึงเวลาค่อยชี้แจง เมื่อถึงเวลาผมไม่จำเป็นต้องชี้แจง หรือรายงานรายวัน ผมมีเวลาก็ชี้แจง ใครไม่ถาม ผมก็ไม่ชี้แจง ผมต้องมายืนพูดเป็นนกกระจ้ออย่างนี้หรือ ใครจะว่าอย่างไรผมทนได้ เป็นผู้นำต้องเชื่อมั่นใจตนเอง กล้าตัดสินใจ และพร้อมที่รับแรงเสียดทานในทุกรูปแบบ เมื่อเราอาสามาเป็น ผบ.ตร. เมื่อเรากลัวในสิ่งเหล่านี้ก็อย่าเป็น ผมพร้อมที่จะรับแรงเสียดทานและคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ต้องอยู่ภายใต้ความถูกต้อง ระเบียบข้อบังคับกฎหมาย ถ้าวิพากษ์วิจารณ์เกินเลย ละเมิด ก้าวล่วง ผมฟ้อง ซึ่งผมกำลังจะฟ้องสื่อบางฉบับอยู่ มันเป็นสิทธิของผม จะว่าผมก็ได้แต่ต้องว่าผมในกรอบ ถ้าไม่ดีตำหนิติงติงได้ แต่อย่าเกินเลย ก้าวล่วง อย่าเอาสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรมาทำให้คนดูหมิ่นเกลียดชังว่าผมคนไม่ดี คนเลว ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด อย่างนี้เจอกัน ผมยึดกรอบกฎหมายเป็นหลัก ที่ทราบคณะกรรมการจะตอบเมื่อไหร่ไม่ทราบ ทราบแต่พรุ่งนี้เชิญแจง” ผบ.ตร. กล่าว

เมื่อถามว่าหากคณะกรรมการชุด พล.อ.ไพบูลย์ เสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีแล้วมีคำสั่งให้ ตร.ดำเนินการตามนั้นจะดำเนินการทันทีแล้วเสร็จก่อนเกษียณอายุราชการหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ถ้าเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ตนเป็น ผบ.ตร. เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นกลไกของรัฐบาล พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งโดยเคร่งครัด

“คนก็มองว่าผมดึงเกมดึงเวลา แต่ลูกผู้ชายอย่างผมไม่เอาลูกระเบิดส่งให้คนอื่นหรอก ถ้าถอดระเบิดเองก็ต้องถอดเอง ไม่ส่งให้คนอื่น ให้เขาจารึกว่าในยุคผม ผมเป็นคนทำ ผมชอบทำในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่อยากทำ ก็เห็นไหมตั้งแต่ปี 2552 มีใครอยากทำบ้าง เตะลูกกันไปมา เขาให้เลี้ยงในสนามฟุตบอล ดันไปเลี้ยงใส่ตู้เย็นไว้ที่บ้าน ผมจับ ผมดำเนินการทุกคน ที่ผ่านมาผมไม่จับใครบ้าง แต่ทุกอย่างต้องมีเหตุผล นี่ผมรับตำแหน่งแค่ปีเดียว คาดคั้นเอาเป็นเอาตายให้ผมทำเรื่องนี้ให้เสร็จให้ได้ ทีเขาทำตั้งแต่ปี 2552 เขาให้เลี้ยงในสนามเอากลับบ้านเขาตู้เย็นแช่ไว้เลย 6 ปี ไม่ถามกันบ้าง ไปดูสิใครทำ มติไม่ถอดยศยังมีเลย ศึกษาประวัติศาสตร์กันบ้าง” พล.ต.อ.สมยศกล่าวทิ้งท้าย

 

กำลังโหลดความคิดเห็น