xs
xsm
sm
md
lg

ดีเอสไอส่ง ป.ป.ช.เชือดกรมการท่องเที่ยวโกงซื้อเครื่องออกกำลังกาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ดีเอสไอ-ป.ป.ท.สรุปผลการสืบสวนกรมการท่องเที่ยวจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายกลางแจ้งบริษัท ยูไนเต็ด สปอร์ต จำนวน 700 กว่าล้านบาทมีพิรุธ ส่ง ป.ป.ช.ลงดาบระดับผู้อำนวยการกอง ร่วมกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

จากกรณีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับ ป.ป.ท.ทำการตรวจสอบกรณีการจัดซื้อครุภัณฑ์เล่นนันทนาการและออกกำลังกายกลางแจ้งของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในช่วงระหว่างปี 2555-2557 จำนวน 12 สัญญา รวมเป็นเงิน 714,020,468 บาท โดยได้ทำการสุ่มตรวจสอบสัญญา ที่ 5/2557 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2556 ระหว่าง กรมการท่องเที่ยว กับบริษัท ยูไนเต็ด สปอร์ต ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด จำนวน 12 รายการ รวม 77 เครื่อง ติดตั้งในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดลำปาง จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดตรัง และจังหวัดกระบี่

วันนี้ (8 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดีเอสไอ กับ ป.ป.ท.ได้ร่วมกันสรุปผลการสืบสวนเพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ ดังนี้ 1. การจัดซื้อครุภัณฑ์ไม่มีความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ โดยก่อนที่จะอนุมัติโครงการไม่เคยมีการสำรวจความต้องการของหน่วยงานหรือชุมชนในพื้นที่ที่จะได้รับมอบครุภัณฑ์ไม่มีความเหมาะสม และสมประโยชน์ต่อผู้ใช้และชุมชนที่ได้รับเท่าที่ควร เนื่องจากโครงการมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนันทนาการและแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่เมื่อพิจารณาสถานที่ที่มีการติดตั้งเครื่องเล่นฯ ในแต่ละจังหวัด พบว่าได้ติดตั้งบริเวณสวนสาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำการขององค์การบริหารส่วนตำบล ที่ทำการเทศบาล และศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่แม้จะอยู่ในที่ชุมชน แต่ไม่ใช่สถานที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามคำนิยาม

2. ครุภัณฑ์ที่กรมการท่องเที่ยวจัดซื้อจากบริษัท ยูไนเต็ด สปอร์ต ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ตามสัญญาที่ 5/2557 มีราคาแพงเกินกว่าความเป็นจริง เนื่องจากทางการสืบสวนพบว่าราคาเครื่องเล่นฯ ที่บริษัท ยูไนเต็ดฯ นำเข้าจากบริษัท DesignPark Corporation จำกัด ประเทศเกาหลีใต้ ตามที่ปรากฏในใบขนสินค้านำเข้าของกรมศุลกากรมีราคาต่ำกว่าที่บริษัท ยูไนเต็ดฯ ขายให้กรมการท่องเที่ยวประมาณ 4-5 เท่า

3. การจัดซื้อเครื่องเล่นนันทนาการและออกกำลังกายกลางแจ้ง ตามสัญญาที่ 5/2557 เป็นการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ โดยอ้างเหตุจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจากสัญญาที่ 13/2555 เป็นการจัดซื้อด้วยวิธีการแบบ e-auction ทั้งที่ช่วงเวลาในการจัดซื้อทั้งสองสัญญามีการจัดซื้อของคล้ายคลึงกันในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือปลายปีงบประมาณ นอกจากนี้ยังมีอีก 2 สัญญาที่มีการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษโดยไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน

4. เจ้าหน้าที่กรมการท่องเที่ยวที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการกำหนดราคากลาง ได้จัดทำราคากลางโดยอ้างว่าใช้ราคาจากที่มีการจัดซื้อเดิมตามสัญญา ที่ 13/2555 มาอ้างอิง แต่ปรากฏว่าราคากลางที่กำหนดขึ้นใหม่กลับมีราคาแพงขึ้น ทั้งที่การจัดซื้อตามสัญญาที่ 5/2557 ลงวันที่ 21 พ.ย. 2556 มีระยะเวลาไม่ห่างจากการจัดซื้อเดิมตามสัญญาที่ 13/2555 ลงวันที่ 28 ก.ย. 2555 มากนักและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการกำหนดราคากลางยังไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานให้เห็นได้ว่า มีการสืบราคาจากบริษัทอื่นเพื่อใช้ประกอบในการ ตั้งราคากลางด้วยหรือไม่ จึงน่าเชื่อได้ว่าเจ้าหน้าที่ของกรมการท่องเที่ยว มีเจตนาที่จะละเลยไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแนวทางการเปิดเผยราคากลางและการคำนวณราคากลางการจัดซื้อจัดจ้าง ป.ป.ช. โดยเฉพาะการกำหนดวงเงินในการจัดซื้อจัดจ้างในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงอันเป็นเหตุให้รัฐต้องสูญเสียเงินงบประมาณโดยไม่จำเป็น

5. เจ้าหน้าที่กรมการท่องเที่ยวมีการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ที่เข้าข่ายอาจเป็นการกีดกันผู้ผลิตหรือผู้ขายพัสดุที่ผลิตในประเทศหรือเป็นกิจการของคนไทย ซึ่งเป็นการออกแบบหรือกำหนดเงื่อนไขหรือคุณลักษณะพิเศษที่ทำให้บริษัท ยูไนเต็ด สปอร์ต ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้เปรียบในการเสนอราคา นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานว่ากรมการท่องเที่ยวได้มีหนังสือเชิญ บริษัท ยูไนเต็ด สปอร์ต เทรดดิ้ง จำกัด ให้เข้าร่วมเสนอราคา แต่ในวันยื่นซองเสนอราคา กลับมีผู้แทนจาก บริษัท ยูไนเต็ด สปอร์ต ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งมีกรรมการผู้จัดการบริษัท และเจ้าของเดียวกัน เข้าร่วมในการเสนอราคา โดยที่กรมการท่องเที่ยวไม่ได้มีหนังสือเชิญ อีกทั้ง ทางการสืบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท ยูไนเต็ด สปอร์ต ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ได้ว่าจ้างบุคคลอื่นให้มาแสดงตัวเป็นคู่เทียบในนามของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่วัธนะผล เข้ายื่นซองเสนอราคาต่อกรมการท่องเที่ยวเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์ตกแก่บริษัท ยูไนเต็ด สปอร์ต ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด

ทั้งนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวของเจ้าหน้าที่กรมการท่องเที่ยวซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองขึ้นไป ร่วมกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างตามสัญญาที่ 5/2557 อาจเข้าข่ายความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดฐานโดยทุจริตทำการออกแบบ กำหนดราคา กำหนดเงื่อนไข อันเป็นมาตรฐานในการเสนอราคาเพื่อช่วยเหลือผู้เสนอราคารายใดให้มีสิทธิเข้าทำสัญญาโดยไม่เป็นธรรม และกระทำการใดๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2442 ดีเอสไอจึงได้ส่งสำนวนไปยัง ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการ ศอตช.เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

นอกจากนี้ ในส่วนของการตรวจสอบการเสียภาษีนิติบุคคลของบริษัท ยูไนเต็ด สปอร์ต ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่นั้น ดีเอสไอได้ส่งเรื่องให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่ปทุมธานี 2 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงดำเนินการตรวจสอบแล้ว

ด้าน พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีดีเอสไอ เผยว่า ดีเอสไอร่วมกับ ป.ป.ท.สุ่มตรวจสอบสัญญาซื้ออุปกรณ์เครื่องออกกำลังกาย ก่อนสรุปสำนวนและนำส่ง ป.ป.ช.ไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค.ที่ผ่านมาแล้ว หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ทั้งนี้ในสำนวนการสืบสวน เป็นการสุ่มตรวจสัญญา 1 สัญญา จากทั้งหมด 12 สัญญา ชี้ให้เห็นว่ามีความน่าเชื่อว่าจะเกี่ยวข้องกับการทุจริตในการจัดซื้ออุปกรณ์กีฬาฯในกรณีดังกล่าว ขณะนี้ดีเอสไอหมดหน้าที่ในการสืบสวนคดีนี้แล้ว หลังจากนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.ต่อไป ส่วน ป.ป.ท.ก็ดำเนินการในฐานะ ศอตช.เพื่อนำข้าราชการที่ทุจริตมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น