ก.ต. มติเอกฉันท์เลือก “วีระพล ตั้งสุวรรณ์” รองประธานศาลฎีกา ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด ขึ้นเป็นประธานศาลฎีกาคนใหม่ แทน “ดิเรก อิงคนินันท์” ที่จะเกษียณ 30 ก.ย. นี้
วันนี้ (29 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมศาลยุติธรรมชั้น 5 ศาลฎีกา อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ครั้งที่ 14/2558 โดยมีวาระสำคัญในการเลือกประธานศาลฎีกาคนใหม่แทนนายดิเรก ประธานศาลฎีกาคนปัจจุบัน ซึ่งจะเกษียณราชการในวันที่ 30 ก.ย. นี้
โดยในที่ประชุม ก.ต. ทั้ง 15 คน ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ เลือก นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ซึ่งมีอาวุโสสูงสุด เป็นประธานศาลฎีกาคนต่อไป และให้ นายดิเรก อิงคนินันท์ ซึ่งจะเกษียณราชการในวันที่ 30 ก.ย. นี้ เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาด้วย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ก.ต. ได้พิจารณาวาระตำแหน่งรองประธานศาลฎีกา ซึ่งจะว่างลง 4 ตำแหน่ง จากตำแหน่งรองประธานศาลฎีกาทั้งหมด 6 ตำแหน่ง โดยทาง ก.ต. ได้พิจารณาจากคุณสมบัติและลำดับอาวุโสแล้ว โดยมีมติแต่งตั้ง นายชาติชาย อัครวิบูลย์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา, นางพฤษภา พนมยันตร์ ประธานแผนกคดีเยาวชนในศาลฎีกา, นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และ นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา ทั้งหมดขึ้นเป็นรองประธานศาลฎีกา ทั้งนี้ เมื่อได้รองประธานศาลฎีกาครบทั้ง 6 ตำแหน่งแล้ว ทำให้ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสลำดับที่ 5 ได้ขึ้นเป็นอาวุโสลำดับที่ 1 ส่วน นายวิรัช ชินวินิจกุล รองประธานศาลฎีกาอาวุโสลำดับที่ 6 ขึ้นเป็นอาวุโสลำดับที่ 2 ส่วนนายชาติชาย นางพฤษภา นายธนฤกษ์ และ นายวิรุฬห์ เป็นรองประธานศาลฎีกา อาวุโสลำดับที่ 3 - 6 ตามลำดับ
ขณะที่ นายศิริชัย วัฒนโยธิน รองประธานศาลฎีกา ลำดับที่ 4 เป็นประธานศาลอุทธรณ์ ซึ่งการพิจารณาสับเปลี่ยนโยกย้ายตำแหน่งดังกล่าว เป็นไปตามบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการชั้น 4
นอกจากนี้ ก.ต. มีมติแต่งตั้ง นายเกษม เกษมปัญญา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา, นายปริญญา ดีผดุง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา, นายโสภณ โรจน์อนนท์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา, นายวิชัย เอื้ออังคณากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา, นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา และ นายพิศล พิรุณ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นประธานแผนกคดีเยาวชนในศาลฎีกา โดยการแต่งตั้งโยกย้ายและสับเปลี่ยนตำแหน่งทั้งหมดดังกล่าว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ นายวีระพล ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่ง นายวีระพล เป็นทั้งผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และเป็นหนึ่งในองค์คณะในคดี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมพวกรวม 21 ราย เป็นจำเลยทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) และเป็นหนึ่งในองค์คณะคดีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมพวกรวม 4 ราย ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปี 2551 ดังนั้นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจึงต้องประชุมเพื่อเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา ขึ้นเป็นองค์คณะผู้พิพากษาในคดีดังกล่าวแทนนายวีระพล ต่อไป
ทั้งนี้ ประวัติของ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ เกิดวันที่ 7 ตุลาคม 2494 อายุ 64 ปี ประวัติการศึกษา จบนิติศาสตร์บัณฑิต 2514 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย 2515 สำนักอบรมศึกษากฎหมาย แห่งเนติบัณฑิตยสภา, Master of Laws 2518 New York University, New York
ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน รองประธานศาลฎีกา 1 ตุลาคม 2556, ตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีต ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, ผู้พิพากษาศาลฎีกา, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 4 , ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ และรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ เหรียญจักรพรรดิมาลา, มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก, มหาวชิรมงกุฎ
นอกจากนี้ นายวีระพล ยังเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีที่สำคัญต่างๆในศาลฎีกาหลายคดี ประกอบด้วย 1. เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน คดีหมายเลขดำ อม 22/2558 ที่ นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว
2. เป็นหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.ที่ 25 /2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ที่ 1 และ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ 2 กับพวกอีก 19 ราย ร่วมกันเป็นจำเลยรวม 21 ราย เป็นจำเลยในความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐหรือฮั้วประมูล พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9, 10 และ 12 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และ 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 พร้อมทั้งขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมด เป็นจำนวนเงิน 35,274,611,007 บาท กรณีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
3. เป็นหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีหมายเลขดำ อม.2/2558 ที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นเครือญาติกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อาญา ม.157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 จากกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อปี 2551 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 471 ราย
4. เป็นหนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับพวกรวม 27 ราย เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีทุจริตที่ธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ บริษัท กฤษดามหานคร จำกัด และบริษัทในเครือ ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างไต่สวนพยานในส่วนของจำเลยอื่น แต่ในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ยังหลบหนีคดีศาลได้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมา