เครือข่ายผู้หญิงปลอดหนี้มีสุขเข้าขอบคุณ “สุวณา” หลังให้ความช่วยเหลือตลอด 5 ปี - ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.... ต่อ รมว.ยธ ในสัปดาห์นี้
วันนี้ (23 มิ.ย.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เมื่อเวลา 17.00 น. สมาชิกเครือข่ายผู้หญิงปลอดหนี้มีสุขจาก จ.สกลนคร จ.สุโขทัย จ.ตรัง จ.โคราช และจ.ขอนแก่น กว่า 50 ราย เดินทางเข้าพบนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม เพื่อขอบคุณภายหลังได้ช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้นอกระบบที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งให้คำปรึกษาและไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปี
นางศรีนวล ฉิ่มเชื้อ อายุ 54 ปี ประกอบอาชีพขายสินค้าโอทอป เผยว่า ตนเคยกู้เงินนอกระบบเมื่อปี 2551 จำนวน 600,000 บาท ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้จำนวน 30,000 บาทต่อวัน ส่งไปแล้ว 142 วัน และยังไม่รวมค่าทำสัญญาอีกครั้งละ 150,000 บาท ส่วนสาเหตุที่ต้องไปกู้หนี้นอกรับบนั้น เนื่องจากต้องการนำเงินมาลงทุนค้าขายสินค้าโอทอปแต่ไม่มีหลักทรัพย์ที่จะไปขอกู้กับสถาบันการเงิน ประกอบกับลูกชายประสบอุบัติเหตุต้องใช้เงินค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก จึงต้องกู้เงินนอกระบบ ต่อมาทางศูนย์ลูกหนี้ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา รวมทั้งช่วยไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้จนสามารถชำระหนี้ได้อย่างเป็นธรรมและหมดหนี้สินในที่สุด
ด้านนางสุวณากล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยตนดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหนี้นอกระบบ รวมทั้งไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม โดยตนและคณะได้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษา ความรู้ รวมถึงประสานธนาคารแหล่งกู้เงินในระบบให้ นอกจากนี้ บางรายเราได้ไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถชำระเงินในส่วนของเงินที่กู้มาได้หมด อย่างไรก็ตาม ประชาชนต้องตระหนักถึงการเป็นหนี้ ไม่ฟุ่มเฟือย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในสัปดาห์นี้ทางศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้ฯ จะเสนอร่าง พ.ร.บ.ห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ... ต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอแก้ไขนี้ มุ่งเน้นแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีการเรียกเก็บอัตราดอกเบี้ยเกินกฎหมายกำหนด คือร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีการเสนอเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.จากเดิม จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนกลุ่มกระบวนการที่มีลักษณะเป็นนายทุนให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท และหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐให้เพิ่มโทษเป็น 2 เท่า นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมเพื่อดูแลเรื่องหนี้นอกระบบโดยเฉพาะอีกด้วย