xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเปิดแผนกคดี “ค้ามนุษย์-คอร์รัปชัน-ยาเสพติด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
ศาลอาญาเปิดแผนกคดี “ค้ามนุษย์-คอร์รัปชัน-ยาเสพติด” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในคดี รองเลขาฯ ศาลยุติธรรมระบุเล็งเห็นปัญหาคดีมีความซับซ้อน ผู้ต้องหามีอิทธิพลและพยานหลักฐานเข้าถึงยาก

วันนี้ (13 มิ.ย.) นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานการบริหารศาลยุติธรรม ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) 3 ฉบับ เพื่อจัดตั้งแผนกคดีคดีค้ามนุษย์-คอร์รัปชัน-ยาเสพติด ว่าเหตุผลที่ศาลยุติธรรมมีการจัดตั้งแผนกคดีดังกล่าวเนื่องจากพบว่าเป็นคดีที่มีความซับซ้อน ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีเครือข่ายอิทธิพลมีจำนวนมากหลายรายทำให้ในการนำพยานหลักฐานมีปัญหาที่จะนำเสนอในชั้นศาลทำให้ยากในการพิจารณาคดี จึงได้ให้มีการจัดตั้งผู้พิพากษาผู้เชี่ยวชาญคดีเฉพาะด้านเข้ามาดูแลคดีในแผนกคดีที่จัดขึ้นพิเศษนี้

โดยแนวคิดในการจัดตั้งแผนกพิเศษดังกล่าวในศาลอาญานี้มีการเตรียมความพร้อมมานานเป็นปีแล้ว อย่างการจัดตั้งแผนกคดียาเสพติดนั้น เนื่องจากคดียาเสพติดเป็นคดีที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลมากที่สุด จึงมีการจัดตั้งแผนกคดีนี้ขึ้นมา ส่วนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ และค้ามนุษย์นั้นมีแนวคิดการจัดตั้งขึ้นมาเนื่องจากเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณคดีที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความยากในการนำพยานเข้าสืบในชั้นศาลจึงต้องมีการจัดให้เป็นแผนกคดีพิเศษขึ้นมา ซึ่งในเรื่องของการเตรียมความพร้อมนั้นมีการส่งผู้พิพากษาไปดูงานในต่างประเทศ ในเรื่องข้อกฎหมายที่เป็นไปตามหลักสากล เพื่อให้มีความเชี่ยวชาญพิเศษโดยผู้พิพากษาที่จะมาเป็นองค์คณะในแผนกดังกล่าวนี้จะเป็นผู้พิพากษาในศาลอาญา

นายสราวุธกล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วจะมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป และเชื่อว่าเมื่อมีการเปิดแผนกคดีแล้วการพิจารณาพิพากษาคดีจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัญหาทั้งในคดีค้ามนุษย์ คดีคอร์รัปชันและคดียาเสพติด จะดีขึ้น การพิจารณาจะรวดเร็ว มีความเป็นธรรม เข้าถึง เพราะการพิจารณาคดีจะเป็นผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งถือเป็นการพัฒนาบริหารการจัดการคดีที่ดีขึ้น

เมื่อถามว่า เมื่อเปิดคดีทุจริตแล้วจะซ้ำซ้อนกับคดีในศาลฎีกาฯ นักการเมืองหรือไม่ รองเลขาฯ ศาลยุติธรรมกล่าวว่า ไม่ซ้ำซ้อน เพราะเป็นการเปิดคดีขึ้นในศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นเท่านั้น โดยพนักงานสอบสวนนั้นหากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐก็จะเป็นพนักงานสอบสวนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แต่หากเป็นข้าราชการระดับสูงก็จะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐานส่งให้พนักงานอัยการเป็นผู้ส่งสำนวนฟ้องต่อศาลอาญาต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวคิดในการจัดตั้งแผนกคดีดังกล่าวนี้มีการประชุมหรือสอดรับนโยบายจาก คสช.หรือไม่ รองเลขาฯ ศาลยุติธรรมกล่าวว่า ไม่ใช่ เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากศาลยุติธรรมได้ตระหนักถึงปัญหา ปริมาณคดีและกระแสของคดีดังกล่าวจึงมีแนวคิดและเตรียมมาตรการจนนำมาสู่การจัดตั้งแผนกคดีดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น