xs
xsm
sm
md
lg

รองปลัด ยธ.ชงแนวคิดจับเด็กแว้นห้ามให้ประกันตัวทุกกรณี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รองปลัด ยธ. เตรียมชงแนวคิดแก้ปัญหาเด็กแว้น ชี้หากถูกจับกุมห้ามประกันตัว ให้ส่งเข้าสถานพินิจฯอบรมตามโปรแกรม เชื่อสาเหตุที่กระทำผิดเป็นแค่พฤติกรรมตามวัย และอย่าแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง

วันนี้ (10 มิ.ย.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้เขียนข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการแก้ปัญหากลุ่มเด็กแว้น โดยเสนอแนวทางแก้ไข ทั้งแบบระยะสั้น และ ระยะยาว ทั้งนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับทราบ ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขของนายธวัชชัย แล้ว และได้เชิญให้เข้าร่วมประชุมแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 15 มิ.ย. เวลา 13.00 น. นี้

สำหรับข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุว่า แว้นบอย สก๊อยเกิร์ล กับราชพฤกษ์โมเดล...!!! จากข้อมูลพื้นฐาน เฉพาะกลุ่มเด็ก หรือ เยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี พบว่า จากทั้งหมด 125 คน เป็นเยาวชนหญิง 1 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 14.16% ไม่เรียนหนังสือ 84 คน หรือคิดเป็น 67.20 %

ท่านเห็นตัวเลขเหล่านี้ มันเป็นตัวแทนของฐานข้อมูลทำให้เราเห็นอะไร?

การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชน อย่าแก้ปัญหาแบบไฟไหม้ฟาง ต้องทำเชิงระบบยาวๆ เพื่อป้องกันมิให้มันเกิดขึ้นอีก หรือเกิดขึ้นก็ในสัดส่วนที่ลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่เป็นปัญหา เพราะพฤติกรรมนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมพัฒนาการตามวัยเท่านั้น ดั่งเราจะเห็นว่าเด็กชุดนี้จะไม่มีทางแว้นไปตลอดชีวิต อีกไม่กี่ปีก็คิดได้ว่า กู..ทำไปทำไม?

ทำอย่างไร..?

การแก้ปัญหาระยะสั้น.
1) ระดมจับอย่างต่อเนื่อง ถ้าไม่เป็นไฟไหม้ฟาง ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะเหมือนกับเป็นการหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ อุปมาดั่งคนป่วยไปพบแพทย์ เพื่อค้นหาสาเหตุ รักษา และยุติโรคฉวยโอกาสที่จะตามมา เช่น อุบัติเหตุ พิการ เสียชีวิตของตนเองหรือผู้อื่น ยุติโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธุ์ หรือท้องก่อนวัยอันควร จากการนำสก๊อยเกิร์ลเป็นหลักประกันในการแข่งขัน เป็นต้น

2) ศาลต้องไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวทุกกรณี โดยสั่งให้เด็กหรือเยาวชนเข้าโปรแกรมปรับพฤติกรรมของกรมพินิจฯ หรือจัดโปรแกรมบำบัดที่เหมาะสมเป็นรายบุคคลตามผลการเมินจากเครื่องมือจำแนกปัจจัยจำเป็นและปัจจัยเสี่ยง โดยให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งต่อไป

การแก้ปัญหาระยะยาว
1) โรงเรียนเลิกระบบขับไสไล่ส่งเด็กที่มีพฤติกรรมเสียหายเสียที เพราะการย้ายที่เรียนเป็นทั้งภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครองที่เพิ่มขึ้น เด็กต้องปรับตัวใหม่กับครูและเพื่อนใหม่ ยังเป็นการย้ายเอาปัญหาไปไว้ที่อื่น โรงเรียนควรเรียนรู้ทักษะวิธีการจัดการกับเด็กที่มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ การให้เด็กมีทัศนคติที่ดีและรักโรงเรียนเป็นหน้าที่ของครูและโรงเรียน
2) ใช้ทฤษฎีจับถูก ไม่จับผิด เสริมทักษะและเสริมพลัง (Neo Humanism) เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์มากกว่าการจำที่เกิดจากการการท่องจำ เช่น หากเด็กแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ไม่เสียหายมาก บิดามารดาผู้ปกครอง หรือครู ต้องทำเป็นไม่เห็นเสียบ้างให้เหมือนอากาศธาตุ เพื่อทำให้เด็กเห็นว่าพฤติกรรมนั้นใช้ไม่ได้ผลในการเรียกร้องความสนใจ แต่ถ้ายังทำซ้ำๆ หรือเป็นพฤติกรรมที่อาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงในอนาคต เราก็ต้องบอกเด็กไปเลยว่า "เราไม่ชอบ" โดยให้เหตุผลด้วย พร้อมทั้งบอกว่า “เราไม่ชอบพฤติกรรมนี้เท่านั้น ไม่ใช่ไม่ชอบแบบหมดเนื้อหมดตัว เพราะลูกยังมีส่วนดีเยอะแยะเต็มไปหมด” รวมทั้งควรยกเลิกกิจกรรมที่ระบายสีดำลงไปในตัวเด็ก เช่น นำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จัดงานแจกทุนการศึกษาเด็กเรียนดีแต่ยากจน ประกาศเด็กที่ติด “0” ติด “ร” เพื่อให้เด็กดูแล้วไปแก้

ขณะเดียวกัน กรณีเด็กมีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ เราควรรีบเข้าไปชมเชย กอดหรือหอมเป็นการให้รางวัลในทันที เพื่อเสริมพลังให้เด็กอยากทำพฤติกรรมนั้นต่อ เป็นการผลิตซ้ำทางความคิดจนพัฒนาเป็นพฤตินิสัยติดตัวต่อไปในทุกๆ ช่วงชั้นของชีวิต

3) นำเด็กหรือเยาวชนไปจัดกิจกรรมจิตอาสา ที่มีกระบวนการเตรียความพร้อมและสร้างแรงจูงใจเด็กทั้งก่อน ระหว่างและหลัง จนให้เด็กเกิดความสุขขึ้นภายใน เพื่อให้เด็กเกิดสร้างความรู้สึกที่ดีและอยากจะทำอีก อย่าปล่อยให้เด็กรวมตัวและจัดกิจกรรมกันเองโดยขาดกระบวนการเฝ้าระวังแบบจับถูกไม่จับผิด จนเห็นว่ากลุ่มเด็กๆ สามารถทำและควบคุมกันเองในพฤติกรรมที่พึงประสงค์จึงปล่อยมือ ย้ายฝั่งไปเป็นผู้ให้การสนับสนุนหรือให้คำปรึกษาเมื่อเด็กต้องการความช่วยเหลือ

4) ส่งเสริมภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการให้เยาวชน ทำงานในช่วงปิดเทอม โดยให้สามารถนำค่าแรงไปหักรายได้สุทธิเพื่อลดภาษีได้

5) ควรจัดโรงเรียนหรือหลักสูตรเตรียมคู่สมรสก่อนการสมรส หรือโรงเรียนพ่อแม่อย่างเป็นระบบให้เข้าใจจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก เพื่อจะปฏิบัติกับเด็กได้อย่างเหมาะสมตามวัย

6) การดูแลเด็กหรือเยาวชน ควรแบ่งเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เมื่อเด็กมีปัญหาควรแก้ปัญหาเป็นรายบุคคล ยุทธศาสตร์ในการดูแลเด็กและเยาวชนของชาติที่เหมาะสมที่สุดต้องดำเนินการพระราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานไว้ คือ นำกระบวนการลูกเสือไทยมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเยาวชน เพราะมีการแบ่งเด็ก หรือเยาวชนให้ดูแลกันเองเป็นหมู่ละ ๘ คน อีกทั้งยังได้ระเบียบวินัย การรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และอื่นๆ ตามกฎและคำปฏิญานลูกเสือ

7) สำรวจจำนวนและจัดการศึกษานอกโรงเรียนหรือตามอัทธยาศรัยให้แก่เด็กหรือเยาวชนที่เหมาะสม

8) บังคับใช้มาตรการเอาผิดกับผู้ปกครองที่ไม่นำบุตรหลานเข้าสถานการศึกษาตามวัยการศึกษาภาคบัวคับตามพระราชบัญญัติการศึกษา

9) กระทรวงการพัฒณาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องจัดให้มีบ้านพักพิงกลุ่มเด็กหรือเยาวชนที่ไร้ที่พึ่ง หรือครอบครัวไม่ความพร้อมในการเลี้ยงดูอย่างถึงพร้อม เข้าใจ เข้าถึงอย่างเพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น