xs
xsm
sm
md
lg

“สมยศ” หนุนใช้ ม.44 จัดการเด็กแว้น ตั้งด่านตรึงกำลังทั้งปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สตช.ถก 64 หน่วยงานแก้ปัญหาเด็กแว้น “สมยศ” เห็นด้วยอย่างเต็มที่หากจะใช้กฎหมายมาตรา 44 เข้ามาจัดการ จัดตั้งกำลังตั้งด่านตรึงกำลังทั้งปี


วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุมการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเยาวชนแข่งรถในทางสาธารณะ โดยมี พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับ บช. ทั้งจาก บช.น., ก., ภ.1, ภ.2, ภ.7, สยศ.ตร. และในระดับ บก. จาก บก.จร., น.1-9, ภ.จว.นนทบุรี, ปทุมธานี, สมุทรปราการ, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, นครปฐม และสมุทรสาคร รวมทั้งหน่วยเกี่ยวข้องอื่นๆกว่า 64 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร และผู้แทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง

พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการที่มีเยาวชนหรือบุคคลไปแข่งจักรยานยนต์บนพื้นผิวการจราจรที่ประชาชนใช้สัญจรมาอย่างต่อเนื่อง ตนก็ได้รับการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมาตลอดเช่นกัน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ดำเนินการจับกุมกลุ่มเยาวชนเหล่านี้มาตลอด แต่ก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหลาบจำ แสดงให้เห็นว่ามาตรการต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำมาใช้ไม่สามารถหยุดคนเหล่านี้ได้ อาจจะเป็นเพราะว่ามาตรการที่ไม่แข็งแรง หรือกฎหมายที่บังคับใช้มีบทลงโทษที่น้อยเกินไป จึงทำให้บุคคลเหล่านั้นไม่เกิดความเกรงกลัวและยังคงสร้างความเดือดร้อนไม่หยุด แม้ว่าจะมีการจับกุมได้จำนวนมาก แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีการรวมตัวและมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีก

“วันนี้จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานมาประชุมหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อหาวิธีแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้แบบยั่งยืน ทำอย่างไรจะให้บุคคลเหล่านี้เกรงกลัวต่อกฎหมายแล้วไม่ประพฤติแบบที่ผ่านมา ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งการให้ รมว.กระทรวงยุติธรรม เป็นแม่งานใหญ่ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งอาจจะมีการเรียกประชุมในวันจันทร์ที่ 15 มิ.ย.นี้ อีกครั้ง โดยจะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุมหารือว่าจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืน กฎหมายอาจจะต้องมีการแก้ไข ในกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล คงต้องมีการพูดคุย และขอความร่วมมือเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะว่าปัญหานี้เป็นของประชาชน และเป็นปัญหาที่สังคมไม่ยอมรับ สิ่งที่บุคคลเหล่านั้นกระทำอยู่เป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญจริงๆ และบางครั้งอาจเกิดเหตุอาชญากรรมรุนแรงขึ้นเพราะความคึกคะนองได้” พล.ต.อ.สมยศกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนใหญ่เด็กแว้นมักเป็นเยาวชน พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เด็กเหล่านั้นก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน หรือในกรอบของกฎหมาย สิ่งที่สำคัญคือเราต้องมองลึกลงไปว่าเด็กเหล่านั้นได้รับการเอาใจใส่จากผู้ปกครองดีหรือไม่ และทำอย่างไรให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม ส่วนนี้ต้องหารือกันและหาแนวทาง ตนเชื่อว่าถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมมือกัน ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาเชื่อว่าจะต้องมีทางออกที่ดี และประชาชนคงไม่อยากเห็นคนเหล่านั้นมาใช้พื้นผิวจราจรเพื่อสร้างความเดือดร้อนให้คนทั่วไป แต่เรื่องเด็กและเยาวชนก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงว่าหากดำเนินคดี ก็จะเสียอนาคต ก็ต้องบอกพ่อแม่ผู้ปกครองว่าหากไม่อยากให้บุตรหลานต้องถูกดำเนินคดี ต้องดูแล คนอื่นช่วยไม่ได้ พ่อแม่ต้องช่วยตัวเองเพราะเป็นลูกหลาน

เมื่อถามต่อว่าขณะนี้ยังไม่มีการแก้กฎหมาย เจ้าหน้าที่จะจัดการอย่างไร พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า สิ่งที่เราทำก็อยู่ในกรอบของกฎหมาย เป็นเรื่องที่ต้องทำ วันนี้เชิญทุกหน่วยงานมาเพื่อที่จะบอกทุกภาคส่วนว่าตำรวจเพียงหน่วยงานเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาอย่างครบวงจรได้ และกฎหมายที่มีอยู่ควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ การประชุมในครั้งนี้คาดหวังว่า เราควรต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ดีกว่าที่ไม่ทำอะไรเลย วันนี้ก็ต้องเป็นวันแรกที่ต้องร่วมกัน ไม่ใช่รอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมาบังคับใช้กฎหมาย ในขณะที่กฎหมายไม่ได้สร้างความเกรงกลัวให้คนเหล่านี้เลย

เมื่อถามถึงกรณีการเรียกร้องให้นำกฎหมายพิเศษมาตรา 44 มาใช้ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า กฎหมายอะไรก็ได้ที่ทำให้สังคมเรียบร้อย ถ้าอะไรที่ทำให้สังคมดีขึ้นกฎหมายบางอย่างถ้าจะแก้ต้องใช้เวลานาน มีขั้นตอนเยอะ และนายกฯ กำชับเรื่องจำหน่ายสุราต้องให้จบในสิ้นเดือนนี้ และตนก็เห็นด้วยอย่างเต็มที่หากจะใช้กฎหมาย มาตรา 44 เข้ามาจัดการ ถามต่อว่าจากวันนี้ผลการพูดคุยมีอะไรคืบหน้าหรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า ได้บอกในที่ประชุมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของส่วนรวม ทางตำรวจแก้ไขที่ปลายเหตุคือจับกุมและดำเนินคดี แต่การจับกุมดำเนินคดีก็ไม่ได้สร้างความเข็ดหลาบ เป็นเพราะว่ากฎหมายมีบทลงโทษที่เบาไปหรือไม่ ก็ต้องมาแก้กันหรือว่ากฎหมายเราไม่มีบทลงโทษผู้ปกครองพ่อแม่หรือไม่ ต้องทำงานร่วมกันปล่อยตำรวจทำงานฝ่ายเดียวไม่ได้ จับที่นี่ไปโผล่ที่อื่น มันก็เหมือนจับปูใส่กระด้ง

“เด็กเหล่านั้นเขารู้สึกสนุก ยิ่งถ้าตำรวจไล่จับก็ยิ่งถือเป็นความท้าทาย ว่าตัวสามารถปิดถนนได้ท้าทายกฎหมาย ลำพังตำรวจแก้ปัญหาไม่ไหว ฉะนั้นเราต้องหามาตรการอื่นมาเสริมเพื่อให้ตำรวจสามารถดำเนินการได้ หากมัวตั้งด่านอย่างเดียวแล้วเกิดเหตุการณ์อย่างอื่นก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปแก้เหตุ แต่ที่ผ่านมากรณีราชพฤกษ์โมเดล ก็ได้รับการสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร พล.ร.9 มาช่วยทำให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” ผบ.ตร.กล่าว

ด้าน พล.ต.ท.ประวุฒิแถลงภายหลังการประชุมว่า สำหรับประเด็นซึ่งที่ประชุมมีความคิดเห็นตรงกัน ก็คือแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการสร้างจิตสำนึกของตัวเด็กและเยาวชน เนื่องจากปัญหาเยาวชนขับขี่จักรยานยนต์บนทางสาธารณะส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความต้องการแสดงตัวตน ความสามารถ และต้องการเป็นที่ยอมรับของสังคม อันเป็นผลมาจากการขาดการยอมรับในความสามารถเรื่องการเรียนหรือสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่ให้ความสำคัญจึงต้องมาแสดงออกกับสิ่งเหล่านี้แทน

“การแก้ไขปัญหาเยาวชนขี่รถซิ่งนี้ทุกหน่วยงานต้องมาร่วมกันแก้ไขอย่างบูรณาการไปพร้อมๆ กัน ต้องทำแบบเชื่อมโยง แก้ไขทุกปัญหาที่เกิดขึ้นจากเยาวชนพร้อมกับการแข่งรถซิ่ง เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด อาวุธ ตลอดจนการลักจี้ชิงปล้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากกลุ่มแข่งรถดังกล่าว ทั้งนี้ ตร.โดยผมในฐานะกำกับดูแลงานด้านจราจรได้อาสาเป็นแกนนำในการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน จะมีการตั้งด่านตรึงกำลังตลอดทั้งปี จะทำต่อเนื่องให้ได้ 1-2 ปี เพื่อป้องปรามการรวมตัวแข่งรถซิ่งในระยะแรก ส่วนการแก้ปัญหาในระยะยาวนั้นทุกหน่วยงานจะร่วมกันฟื้นฟูและสร้างจิตสำนึกที่ดีให้เด็กและเยาวชน เรียกว่าเป็นโร้ดแมพในการแก้ปัญหาของวัยรุ่นทุกเรื่อง” โฆษก ตร.กล่าว

พล.ต.ท.ประวุฒิกล่าวอีกว่า ในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ตร.ร่วมประชุมใหญ่กับกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานตามที่นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้ง เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาให้ได้ภายในเดือนนี้ ซึ่งตนได้เตรียมโมเดลในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอาไว้แล้วและเตรียมเสนอขอความเห็นชอบในที่ประชุม โดยประเด็นสำคัญคือจะเสนอแนวทางการตั้งด่านตรวจว่าจะให้หน่วยงานอื่นมาร่วมกับเจ้าหน้าที่จราจร และได้เตรียมโมเดลการวางกำลังตั้งด่านบนถนนหลวงซึ่งมีเส้นทางยาว อาจจะใช้วิธีสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งการตั้งด่านไปตามสถานการณ์ เพื่อป้องกันปัญหาการแข่งรถซิ่งและการกระทำผิดโดยใช้รถอื่นๆ อีกทั้งจะได้เสนอประเด็นเกี่ยวกับการออกใบขับขี่ให้กับเด็กเยาวชนที่ปัจจุบันผู้ที่มีอายุเพียง 15 ปีก็สามารถมีใบขับขี่ได้นั้นจะเสนอที่ประชุมว่าอายุเท่านี้เพียงพอหรือไม่ นอกจากนั้นจะมีการเตรียมข้อมูลเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการตรวจสอบร้านตกแต่งรถแข่งซิ่งต่างๆ ที่สนับสนุนการรวมตัวของเด็กและเยาวชนว่าจะมีแนวทางแก้ไขหรือไม่อย่างไรด้วย

ด้านนายวีระยุทธ สุขเจริญ ตัวแทนจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นร่วมกันว่าควรมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยเชิญผู้รู้จากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมหาแนวทางแก้ไข โดยจะเน้นที่การสร้างจิตสำนึกที่ดีเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเด็กและเยาวชน ไม่มาก่อเรื่องสร้างปัญหาแก่สังคม อีกทั้งหาแนวทางดูแลพวกเขาตั้งแต่วัยเยาว์ พร้อมกับบำบัดฟื้นฟูหากหลงผิด กล่าวคือต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็ก เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าปัญหาของเยาวชนเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ผู้ใหญ่ในสังคมสร้างขึ้นมาทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ใหญ่จึงต้องหันกลับมามองตัวเองเพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อย่างจริงจังต่อไป

“จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับเด็กและเยาวชนในการเผชิญโลก โดยหน่วยย่อยทางสังคมต้องเข้ามาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว ศาสนา รวมถึงสื่อสาธารณะต่างๆด้วย ทั้งนี้ การแก้ไปัญหานี้จะมีแนวทางอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1. การป้องกัน ไม่ให้เด็กเยาวชนออกมากระทำความผิด 2. หาทางเบี่ยงเบนพวกเขาออกจากกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก โดยหันมาใช้เครื่องมือทางสังคม คือ ครอบครัว ศาสนา และสื่อ เป็นตัวขัดเกลาพวกเขาแทน และ 3. การควบคุมปัญหาไม่ให้เกิดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบด้วยว่าครอบครัวยังให้เวลาพวกเขาไม่เพียงพอจนออกไปสร้างปัญหาขึ้น และเราควรหาทางทำให้คนคิดให้ดีให้ถูกต้อง ดีกว่าไปทำให้เขากลัวด้วยการบังคับใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน” นายวีระยุทธกล่าว

ด้านนางอภิรดี โพธิ์พร้อม ตัวแทนจากสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ปัญหานี้ราชการและเอกชนต้องร่วมกันแก้ไข ทำอย่างไรไม่ให้เด็กเยาวชนหลุดรอดเข้าไปสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องค้นหาสาเหตุของปัญหา เพื่อวางแผนหาแนวทางแก้ไข ตลอดจนติดตามการกระทำความผิดซ้ำในอนาคต การประชุมครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนต่อไป โดยเชื่อว่าการแก้ปัญหาจะต้องสร้างจิตสำนึกที่ดีแก่เด็ก ทำอย่างไรให้เขาเคารพกฎหมาย ควรมีการจำแนกเด็กให้ได้ว่าอยู่ในกลุ่มใด ควรหาวิธีแก้ปัญหาอย่างไรให้เหมาะสม เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายหรือการเพิ่มโทษนั้นไม่สามารถควบคุมคนเหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ดีการใช้กฎหมายก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กที่เกินแกงเช่นเดียวกัน ดังนั้นแนวทางที่เหมาะสมคือการสร้างเครื่องมือเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนออกจากสิ่งที่ผิดกฎหมายตั้งแต่พวกเขาลืมตาดูโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น