ศาลจำคุกคนละ 4 ปี อดีต ส.จ.ชลบุรีและพวกรวม 3 คน โกงขายน้ำตาลให้นักธุรกิจอินโดนีเซีย และให้ร่วมกันชดใช้เงิน 76 ล้านบาทแก่ผู้เสียหาย ส่วนล่ามแปลภาษาไม่เกี่ยวข้องให้ยกฟ้อง
ที่ห้องพิจารณา 813 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (27 มี.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.3505/2555 ที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ และนายบูดี ยูโวโน อายุ 63 ปี นักธุรกิจชาวอินโดนีเซีย เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องบริษัท ศรีสุวรรณ ทรานสปอร์ต จำกัด นายรุ่งโรจน์ สุวรรณศรี กรรมการ บมจ.ศรีสุวรรณฯ นายสมศักดิ์ ศักดิ์เกษมชัยกุล นายสมศักดิ์ เนตรนิมิตร อดีต ส.จ.ชลบุรี และนายนุกราฮา อัดมาจา อินตัน ปูตรา หรือบอย ล่ามแปลภาษาอินโดนีเซีย เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง, ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 และ 341 และขอให้พวกจำเลยคืนเงินจำนวน 76 ล้านบาทแก่ผู้เสียหาย
โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 ม.ค. - 18 ส.ค. 2548 จำเลยกับพวก ได้ร่วมกันหลอกลวง บริษัท พีที บูมิเรโจ จำกัด ของนายบูดี ยูโวโน โจทก์ร่วม ชาวอินโดนีเซียซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐบาลอินโดนีเซียให้เป็นผู้นำเข้าน้ำตาลทรายว่าพวกจำเลยมีน้ำตาลทรายจำนวนมากที่จะขายให้โจทก์ร่วม จำนวน 37,500 ตัน มูลค่า 9.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อตกลงชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 76 ล้านบาท ให้กับบริษัท สามเสนไอแมกซ์ จำกัด นอกจากนี้ พวกจำเลยยังได้ร่วมกันปลอมใบตราส่งสินค้าหลายครั้งหลายหนให้แก่บริษัทผู้เสียหายว่าจะส่งน้ำตาลทรายจากท่าเรือ จ.ชลบุรี ไปที่ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งที่ความจริงจำเลยทั้งหมดไม่มีน้ำตาลทรายและไม่สามารถส่งสินค้าให้แก่บริษัทผู้เสียหายได้ โดยจำเลยมีเจตนาที่แท้จริงเพื่อหลอกลวงบริษัทผู้เสียหายให้ส่งมอบเงินและจำเลยได้รับผลประโยชน์เป็นของตนเองโดยทุจริต จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ
เมื่อถึงเวลานัดฝ่ายจำเลยเดินทางมาศาล ขณะที่ฝ่ายโจทก์ได้เดินทางมาจากประเทศอินโดนีเซียมาฟังคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า โจทก์ร่วมได้มอบอำนาจให้ผู้แทนแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดภายหลังเกิดเหตุและได้แจ้งความภายในอายุความย่อมสามารถดำเนินคดีได้ ส่วนกรณีที่พวกจำเลยร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิในการส่งออกน้ำตาลหรือไม่ เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่า จากการสอบสวนไม่พบว่าจำเลยเคยส่งน้ำตาลให้โจทก์ร่วม และเมื่อนำใบตราส่งสินค้าทางทะเล (B/L) ไปตรวจสอบตามท่าเรือก็ไม่มีใบตราสินค้าดังกล่าวมาส่งที่ท่าเรือตามที่จำเลยระบุ เอกสารดังกล่าวจึงปลอม เพื่อให้โจทก์ร่วมเชื่อว่าจำเลยมีน้ำตาลส่งให้จริง แต่โจทก์และโจทก์ร่วมไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นว่าพวกจำเลยจัดทำเอกสารดังกล่าว จึงไม่อาจฟังได้ว่าพวกจำเลยร่วมกันจัดทำเอกสารปลอม
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันใช้เอกสารปลอม เพื่อฉ้อโกงโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ร่วมเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ได้ตกลงซื้อน้ำตาลและทำสัญญากับนายคฑา เศรษฐบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกรท มอเตอร์ จำกัด และนายสรายุทธ แสนสุข ผู้บริหารบริษัท สามเสน ไอแม็กซ์ จำกัด ต่อมานางทศพร เจียรพัฒนาคม และนายสรายุทธ ได้แจ้งว่าจำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาล โจทก์ร่วมจึงไปพบจำเลยที่ 4 และถูกพาไปดูโกดังเก็บน้ำตาลที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เพื่อให้หลงเชื่อว่ามีน้ำตาลสามารถส่งขายให้กับโจทก์ร่วมได้ จึงตัดสินใจทำสัญญาซื้อขายน้ำตาลจากจำเลยที่ 4 และโอนเงินให้ 76 ล้านบาท โดยมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ส่งสินค้าตามที่ระบุใบตราส่งสินค้าทางทะเล ทั้งที่การส่งออกน้ำตาลต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล แต่จำเลยที่ 1 บมจ.เกรท และ บมจ.สามเสน ไม่มีใบอนุญาตให้ส่งน้ำตาลออกนอกประเทศ จึงเป็นอุบายที่หลอกให้โจทก์ร่วมเชื่อและโอนเงินให้เท่านั้น เนื่องจากนายคฑาและนายสรายุทธรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถส่งน้ำตาลได้ แสดงให้เห็นความเกี่ยวพันระหว่างนายคฑา และพวกจำเลยที่ได้ร่วมวางแผนมาก่อนแล้ว และมีการแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งระหว่างเดินทางโจทก์ร่วมก็ได้พบและพูดคุยกับจำเลยที่ 3-4 ตลอด จึงเชื่อว่าโจทก์ร่วมจดจำจำเลยที่ 3-4ได้ และเบิกความไปตามจริง สอดคล้องกับพยานอีกสองปากซึ่งถูกจำเลยที่ 3-4 หลอกขายน้ำตาลในลักษณะเดียวกัน พยานโจทก์และโจทก์ร่วมมีน้ำหนักรับฟังได้ ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1-2 เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ มีพิรุธ ขณะที่จำเลยที่ 3-4 ไม่ได้นำสืบหลักล้างพยานหลักฐานโจทก์ จำเลยที่ 1-4 จึงมีความผิดใช้เอกสารสิทธิ์ปลอม
สำหรับจำเลยที่ 5 ในการสอบสวนไม่ปรากฏว่ามีเจตนาร่วมใช้เอกสารปลอมและร่วมขบวนการกับจำเลยที่ 1-4 อีกทั้งโจทก์ร่วมเบิกความว่าจำเลยที่ 5 มีหน้าที่เป็นเพียงล่ามช่วยประสานงานให้เท่านั้น
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานฉ้อโกงและใช้เอกสารปลอม เป็นความผิดกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมซึ่งเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกนายรุ่งโรจน์ จำเลยที่ 2 นายสมศักดิ์ จำเลยที่ 3 และนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 4 คนละ 4 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคแรก 265, 341 ประกอบมาตรา 63 และปรับบริษัท ศรีสุวรรณทรานสปอร์ต จำกัด เป็นจำนวนเงิน 8,000 บาท และให้จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วมจำนวน 76 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ยกฟ้อง
ภายหลังนายบูดีกล่าวผ่านล่ามว่า คดีนี้นาน 10 ปีแล้ว และขอขอบคุณศาล ตำรวจ ที่ทางการไทยที่ช่วยดำเนินการให้ได้รับความยุติธรรม ส่วนเรื่องค่าเสียหายก็คงจะต้องบังคับคดีในทางแพ่งต่อไปซึ่งรวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ด้วยก็ประมาณ 150 ล้านบาท ทั้งนี้เข้าใจว่าคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนดีจึงอยากจะทำธุรกิจกับคนไทยต่อไป