xs
xsm
sm
md
lg

ศาลเลือกองค์คณะ 9 ท่าน คดีระบายข้าว จีทูจี นัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 20 เม.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกองค์คณะ 9 ท่าน คดี “บุญทรง” กับพวก 21 คน ทุจริตโครการระบายข้าว จีทูจี นัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 20 เม.ย.นี้

ที่ศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ วันนี้ (25 มี.ค.) นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด 173 คนซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาเพื่อลงคะแนนลับเลือกผู้พิพากษา 9 คนเป็นองค์คณะขึ้นพิจารณาพิพากษาคดี หมายเลขดำ อม.25/ 2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ ที่ 1 และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ที่ 2 กับพวก อีก 19 ราย ร่วมกันเป็นจำเลยรวม 21 ราย ฐานทุจริตโครงการ ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ผลการนับคะแนนจากผู้พิพากษาจำนวน 130 คน ที่เข้าร่วมประชุม ปรากฏว่า ผู้พิพากษา 9 คนที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะ โดยมีคะแนนสูงสุดเรียงลำดับดังนี้ 1. นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา 2. นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา 3. นายวิรุฬห์ แสงเทียน ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา 4. นางทัศนีย์ จั่นสัญชัย ธรรมเกณฑ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา 5. นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา 6. นางพฤษภา พนมยันตร์ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา 7. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา 8. นางนวลน้อย ผลทวี ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา และ 9. นายอภิรัตน์ ลัดพลี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

ทั้งนี้ หลังจากได้เลือกผู้พิพากษาองค์คณะแล้วก็จะเสนอนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เพื่อลงนามติดประกาศรายชื่อตามขั้นตอน โดยจะนำรายชื่อองค์คณะทั้ง 9 คน ปิดประกาศไว้ที่หน้าห้องพิจารณาคดี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาคารศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ ภายใน 5 วัน นับจากที่วันเลือกองค์คณะเสร็จสิ้น เพื่อให้คู่ความได้รับทราบและตรวจสอบ หากจะมีการคัดค้านผู้พิพากษาองค์คณะคนหนึ่งคนใดสามารถยื่นคัดค้านได้ตั้งแต่วันที่มีการติดประกาศรายชื่อเป็นต้นไป จนก่อนจะเริ่มมีการไต่สวนพยาน

โดยหลังจากนี้องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คนจะนัดประชุมกันภายในเพื่อลงคะแนนลับเลือกผู้พิพากษา 1 คน เป็นเจ้าของสำนวนคดีนี้และร่วมกันพิจารณาคำฟ้องว่าครบองค์ประกอบและอยู่ในเขตอำนาจศาลฎีกาฯที่จะประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาหรือไม่ โดยศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้องคดีนี้หรือไม่วันที่ 20 เม.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายชื่อองค์คณะผู้พิพากษา 9 คนที่ต้องพิจารณาคดีนี้นั้น ปรากฏว่า มีผู้พิพากษา ถึง 5 คนประกอบด้วย นายธนฤกษ์ นิติเศรณี, นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายชีพ จุลมนต์ และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ที่ร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาคดี หมายเลขดำ อม.22/2558 ที่อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 จากกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าว จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐบาลเป็นเงินกว่า 5 แสนล้านบาท

นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ซึ่งได้รับเลือกคะแนนสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่องค์คณะผู้พิพากษาในคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับคดีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ พร้อมพวกรวม 21 คน มีรายชื่อซ้ำกัน 5 คนว่า การเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คนของแต่ละคดีนั้น ขึ้นอยู่กับที่ประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกาจะเป็นผู้เลือกด้วยวิธีการลงคะแนนลับ แม้ว่าองค์คณะผู้พิพากษาจะมีรายชื่อซ้ำกันใน 2 คดีดังกล่าว แต่ก็ไม่มีผลต่อการพิจารณาคดีแต่อย่างใด โดยองค์คณะจะตัดสินไปตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวน รวมทั้งระเบียบข้อกำหนดของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่ได้มีข้อห้ามไว้แต่อย่างใด







กำลังโหลดความคิดเห็น