xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ส.เผยยูเอ็นกังวลประเทศแถบเอเชียเป็นแหล่งผลิตสารตั้งต้นสูงสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.)
ป.ป.ส.แถลงผลประชุมร่วม 8 ประเทศ ในการควบคุมสารตั้งต้นไม่ให้ไปสู่แหล่งผลิตยาบ้า พร้อมจัดตั้งศูนย์ประสานงานร่วมเฉพาะกิจ เผยยูเอ็นกังวลประเทศแถบเอเชียมีซูโดเอฟีดรีนมากที่สุด


วันนี้ (10 ก.พ.) ที่โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท เมื่อเวลา 11.30 น. นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พร้อมด้วย น.ส.กัญญนันทน์ คงภัสนิธิโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ป.ป.ส. ร่วมแถลงผลการประชุมเพื่อวางแนวทางการควบคุมสารตั้งต้นไม่ให้ไปสู่แหล่งผลิตยาเสพติด ระหว่าง 8 ประเทศ ได้แก่ จีน ไทย กัมพูชา พม่า อินเดีย เกาหลี ลาว และเวียดนาม

นายเพิ่มพงษ์กล่าวว่า จากที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ยูเอ็น ได้จำแนกสารตั้งต้นที่สามารถนำมาผลิตเป็นยาเสพติดและให้ดำเนินการควบคุมทั้งหมด 23 ชนิด แบ่งเป็นสารที่เป็นสารตั้งต้น 14 ชนิด และสารที่ทำปฏิกิริยา หรือเป็นตัวละลาย เป็นสารประกอบอีก 9 ชนิด โดยประเทศไทยได้กำหนดและควบคุมสารเพิ่มเติมจากที่ยูเอ็นกำหนดอีก 8 ตัว รวมสารตั้งต้นที่ประเทศไทยกำหนดให้มีการควบคุมตามกฎหมายทั้งหมด 32 ชนิด ทั้งนี้ ในบางประเทศ เช่น จีน อินเดีย และเกาหลี สารตั้งต้นบางตัวมีประโยชน์มากในอุตสาหกรรมยารักษาโรค แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่นำสารเหล่านั้นมาใช้ผลิตเป็นยาเสพติด

สำหรับสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดซึ่งหลายประเทศให้ความสำคัญมากในการควบคุม 2 ชนิด ได้แก่ 1. ซูโดเอฟีดรีน (psedoephedrine) เป็นสารตั้งต้นที่ใช้ผลิตยาบ้าและยาไอซ์ โดยสารนี้จะเป็นส่วนประกอบในยาแก้หวัด และ 2. อาเซติก แอนไฮไดรด์ (acetic ansydride) เป็นสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตเฮโรอีน ซึ่งยาที่มีส่วนผสมของสารนี้ได้แก่ แอสไพลิน

เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวอีกว่า ทางยูเอ็นมองว่าประเทศในพื้นที่เอเชียนี้เป็นพื้นที่ที่มีสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดมากที่สุด โดยเฉพาะซูโดเอฟีดรีนที่มีมากในประเทศ จีน เกาหลี และอินเดีย ทั้งนี้ ยูเอ็นได้มีมาตรการให้แต่ละประเทศควบคุมสารตั้งต้นดังกล่าว โดยออกกฎหมายในการควบคุม และเฝ้าระวังติดตามผล เจ้าหน้ายูเอ็นจะมีการสุ่มตรวจบางพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์ของสารตั้งต้นด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการปฏิบัติด้านการควบคุมสารดังกล่าวยังไม่ชัดเจน หลังจากนี้ทั้ง 8 ประเทศจะดำเนินการในการควบคุม โดยมีมาตรการดังนี้ 1. จัดตั้งศูนย์ประสานงาน 8 ประเทศ เป็นหน่วยเฉพาะกิจ (Task Force) ซึ่งประเทศไทยจะใช้ศูนย์แม่น้ำโขงปลอดภัยในการประสานงานร่วม 2. จัดประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ 3. แลกเปลี่ยนข้อมูลจากการปฏิบัติ เช่น ผลการจับกุมในพื้นที่ต่างๆแต่ละประเทศ เพื่อให้ทราบที่มาแหล่งผลิต และเป้าหมายการลำเลียง

4. ร่วมตรวจสอบโดยแต่ละประเทศตั้งด่านตรวจ คุมเข้มตามชายแดน ด่านศุลกากร โดยเฉพาะท่าเรือ สนามบิน ชายแดน ที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษ 5. จัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับสารตั้งต้นมากขึ้น 6. แต่ละประเทศเสนอการลดปริมาณซูโดเอฟีดรีนในอุตสาหกรรมยา และดำเนินการควบคุมอย่างเข้มข้น และ 7. ให้ความรู้เรื่องสารเคมี การผลิต ซึ่งส่วนใหญ่การผลิตยามักเกิดจากการทดลองในห้องแล็บ

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แนวโน้มทั่วโลกมีสถิติของสารตั้งต้นที่นำมาผลิตเฮโรอีนมีสูงขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำซึ่งต้องจับตามองและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

ด้าน ผอ.สถาบันวิชาการและตรวจพิสูจน์ยาเสพติด ป.ป.ส.เผยว่า ยาที่มีส่วนผสมของซูโดเอฟีดรีนนั้นมี 3 สูตร ได้แก่ สูตร 30 มิลลิกรัม 60 มิลลิกรัม และ 120 มิลลิกรัม โดยยาที่ใช้ในประเทศไทยเป็นสูตร 60 มิลลิกรัม ส่วนอินเดียจะใช้มากที่สุด คือ สูตร 120 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มผลิตยาเสพติด

นอกจากนี้ ยังมีสารตั้งต้นที่ได้จากการสกัดเปลือกไม้ยืนต้นเรียกว่าสารซัฟฟอร์น ซึ่งมีมากในประเทศกัมพูชา โดยสารดังกล่าวนั้นเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาอี ทั้งนี้ในบ้านเราเมื่อปี 50 มีการทำลายสารนี้ หลังจากที่จับกุมได้และศาลได้มีคำสั่งให้ทำลายจำนวนกว่า 50 ตัน และเร็วๆ นี้จะมีการเผาทำลายสารซัฟฟอร์นที่สารมารถจับกุมได้อีกจำนวน 17 ตัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการทำลายแหล่งผลิตสารตั้งต้นจำนวนกว่า 10 แห่ง แล้วจากทั้งหมด 89 แห่ง โดยที่ประเทศจีนพบว่าต้น “มาฮวง” ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมีสารอีเฟดราที่สามารถนำมาสกัดเป็นสารอีเฟดรีนได้ และประเทศจีนไม่ได้นิ่งนอนใจได้ประกาศให้ไม้เหล่านี้ผิดกฎหมายและได้ทำลายไปกว่า 200 ตันแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น