ASTV ผู้จัดการ - สถานทูตญี่ปุ่นประสานกองปราบฯ ตามรวบกะเทยแสบตุ๋นเงินนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นทางอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้ง สารภาพกระทำผิดมานานนับ 10 ปี โกงเข้ากระเป๋าร่วม 100 ล้าน อ้างแค้นเคยถูกหนุ่มแดนอาทิตย์อุทัยหลอกไปทิ้งถึงเกาะพีพี เลยฝังใจวางแผนแก้แค้น
วันนี้ (28 ม.ค.) ที่กองกำกับการปฎิบัติการพิเศษ กองบังคับการปราบปราม โชคชัย 4 (บก.ปพ.บก.ป.) พ.ต.อ.สรายุทธ สงวนโภคัย รอง ผบก.ป. พ.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รักษาการ ผกก.ปพ.บก.ป. พ.ต.ท.ปิยรัช สุภารัตน์ รอง ผกก.ปพ.บก.ป.และ จ.ส.ต.ยุทธพล ศรีสมพงษ์ ผบ.หมู่ กก.ปพ.บก.ป. พร้อมชุดสืบสวน กก.ปพ.บก.ป. แถลงผลการจับกุม นายอุทัย นันทะขันธ์ อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38 หมู่ 2 ต.นาสะอาด อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ 2455/2548 ลงวันที่ 29 พ.ย. 2548 ในข้อหาชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธมีดและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น และใช้บัตรเครดิตของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยจับกุมได้ที่ราชครูอพาร์ทเมนท์ ซอยสุขุมวิท 93 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กทม.
พ.ต.อ.สรายุทธกล่าวว่า สืบเนื่องจากทางกองปราบปรามได้รับการประสานงานจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แจ้งมาว่า มีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาท่องเที่ยวและทำธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมากถูกคนร้ายมีลักษณะเป็นสาวประเภทสองหลอกต้มตุ๋นให้โอนเงินโดยวิธีต่างๆ ทำให้สูญเงินเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาท พ.ต.อ.อัคราเดชจึงได้สั่งการให้ พ.ต.ท.ต่อศักดิ์นำกำลังสืบสวนจับกุม ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมสืบทราบมาว่านายอุทัย ผู้ต้องหารายนี้อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ดังกล่าวจึงนำกำลังเข้าจับกุมก่อนคุมตัวมาสอบสวน
ด้าน พ.ต.อ.ต่อศักดิ์กล่าวว่า สำหรับพฤติการณ์ของผู้ต้องหารายนี้จะเลือกเหยื่อเป็นนักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นตามย่านเศรษฐกิจ เช่น ทองหล่อ อโศก เอกมัย สุขุมวิท นานา และสีลม โดยจะเข้าไปทำทีตีสนิทหลอกว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ หรือไต้หวัน เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย แต่ได้ทำกระเป๋าสตางค์หายไม่มีเงินติดตัว ขอให้เหยื่อช่วยติดต่อกับเพื่อนตามหมายเลขโทรศัพท์ แต่เป็นหมายเลขที่ไม่สามารถติดต่อได้ พอเหยื่อเห็นจะเกิดความสงสารจะให้เงิน แต่นายอุทัยจะไม่รับเงิน โดยจะบอกกับเหยื่อว่าได้ติดต่อกับครอบครัวที่ประเทศสิงคโปร์ให้โอนเงินมาให้และขอใช้บัญชีธนาคารของเหยื่อ โดยนายอุทัยจะใช้วิธีหลอกโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้งว่าเงินได้โอนมาที่บัญชีเหยื่อแล้ว เมื่อเหยื่อเห็นยอดเงินที่โอนเข้ามาแต่ยังไม่สามารถเบิกเงินได้ต้องรออีกประมาณ 3-5 วัน เหยื่อชาวญี่ปุ่นหลงเชื่อจึงกดเอทีเอ็มเบิกเงินให้ผู้ต้องหาไปก่อน เมื่อครบกำหนดใช้เงินแล้วกลับไม่มีเงินโอนเข้ามาที่บัญชีของเหยื่อจริง
พ.ต.อ.ต่อศักดิ์กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่านายอุทัยกระทำในลักษณะนี้มาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปีแล้ว มีผู้เสียหายกว่า 100 ราย ได้เงินไปราวๆ 100 ล้านบาท จำนวนมูลค่าความเสียหายที่หลอกเหยื่อได้ในแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 25,000 บาท สูงสุดบางรายถูกหลอกเป็นเงิน 2 ล้านบาท โดยครั้งสุดท้ายที่ก่อเหตุเมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมาได้เงินไปจำนวน 9 หมื่นบาท อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ต้องหารายนี้นั้นทางประเทศญี่ปุ่นได้แจ้งเตือนชาวญี่ปุ่นที่จะเดินทางเข้ามาทำธุรกิจหรือท่องเที่ยวเข้ามาในเมืองไทยให้ระวังนายอุทัยเป็นพิเศษ แต่ก็ยังมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่ออีกหลายราย นอกจากนี้ พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้เสียหายชาวญี่ปุ่นถูกหลอกลวงลักษณะดังกล่าวถึง 6 ราย โดยได้แจ้งความพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อไว้ ซึ่งจะให้มาดูตัวผู้ต้องหาว่าเป็นรายเดียวกันหรือไม่ ก่อนพิจารณาดำเนินคดีต่อไป
สอบสวนนายอุทัยให้การรับสารภาพว่า ที่เลือกเหยื่อเป็นชาวญี่ปุ่นและเป็นผู้ชายทั้งหมดเพราะว่าตนไม่ชอบคนญี่ปุ่น เนื่องจากฝังใจเจ็บเพราะก่อนหน้านั้นสมัยที่ตนเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ถูกชายชาวญี่ปุ่นหลอกไปเที่ยวเกาะพีพีแล้วถูกปล่อยทิ้งไว้ที่นั่น ตอนนั้นตนไม่มีอะไรเงินติดตัวเลยเพราะว่ายังเรียนอยู่ กลับบ้านก็ไม่ได้ ตอนนั้นลำบากมากทำให้ผูกใจเจ็บตั้งแต่นั้นมาและคิดหาทางหลอกเอาคืนคนญี่ปุ่นมาตลอดโดยที่ตนไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่ง ตั้งแต่ที่ก่อเหตุมาจำนวนเงินเยอะจนไม่สามารถจดจำได้ โดยเงินที่ได้มาจะนำไปใช้เที่ยวเตร่ ทำบุญ ซื้อของเล่นให้เด็กและซื้อทรัพย์สินต่างๆ เช่น สร้อย แหวน ทองอีกเป็นจำนวนมาก
นายอุทัยกล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่จะเลือกเหยื่อพวกนักธุรกิจ ก่อนหน้านี้หลายปีจะใช้เวลาในการหลอกล่อเหยื่อน้อยมาก แต่ปัจจุบันธนาคารของญี่ปุ่นจะมีระบบป้องกันที่ซับซ้อนมาก เวลากดเงินจะไม่ออกมาทุกครั้ง โดยทุกครั้งตนจะทำคนเดียวตลอดไม่มีคนอื่นร่วมด้วย ส่วนวิธีการหลอกลวงเหยื่อ ตนจะทำทีขอบัญชีบัตรเครดิตของเหยื่อเพื่ออ้างให้ญาติโอนเงินมาให้โดยใช้บริษัทที่บริการรับโอนเงินจากต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วบัตรเครดิตจะไม่สามารถโอนเงินได้ เมื่อมีการโอนมาจะมีการแจ้งยอด จากนั้นเหยื่อก็จะกดเงินสดให้ตนมาก่อนโดยที่ยังไม่ทราบว่ายอดที่แจ้งมาจะมีการตัดยอดการโอนนั้นทิ้งหลังจากวันโอน 1 เดือน ทำให้ช่วงนั้นเหยื่อไม่รู้ว่าเงินไม่ได้ถูกโอนเข้ามาแต่อย่างใด
นายอุทัยกล่าวต่อว่า ตอนที่ตนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำก็เคยคิดที่จะเลิกทำ แต่เมื่อออกมาก็เจออีเมลที่ส่งมาต่อว่าตน และมีชาวญี่ปุ่นนำรูปตนไปโพสต์ลงอินเทอร์เน็ตเรื่อยๆ และมีข้อความโพสต์เป็นภาษาญี่ปุ่นว่าไม่ชอบกะเทย ทำให้ตนโกรธและบอกไปว่าหากไม่หยุดโพสต์ตนก็จะหลอกลวงคนญี่ปุ่นเรื่อยๆ ทั้งนี้ตอนแรกที่ตนทำเรื่องดังกล่าวไม่คิดว่าจะมีเรื่องเงินเข้ามาเยอะขนาดนี้ แต่พอทำไปทำมารู้สึกว่ามันได้เงินมาง่าย เลยทำต่อมาเรื่อยๆ
“อยากฝากบอกคนญี่ปุ่นว่า ไม่ว่าเราจะเป็นคนเชื้อชาติไหนก็ตาม อย่าได้คิดที่จะดูถูกคนอื่นว่าเขาจะมีค่าแค่ 2-3 พันอย่างที่คุณเคยทำ เราเจ็บช้ำน้ำใจมากถ้าเป็นเขาโดนจะรู้สึกอย่างไรบ้าง” นายอุทัยกล่าว
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะสอบสวนนายอุทัยอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อขยายผลว่ามีผู้ร่วมกระทำความผิดหรือไม่ จากนั้นจะนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ เจ้าของคดีดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2555 เวลา 12.20 น. นายอุทัยได้ถูกเจ้าหน้าที่ สส.บช.น.จับกุมในคดีฉ้อโกงนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นในท้องที่ สน.ทองหล่อ และถูกตัดสินจำคุก 8 เดือน จนพ้นโทษออกมาเมื่อปี 56 ก่อนออกมาก่อเหตุซ้ำ กระทั่งตำรวจกองปราบปรามตรวจสอบแล้วพบว่ามีหมายจับค้างเก่าที่หลบอยู่ในทะเบียนประวัติอาชญากรรมจึงนำกำลังเข้าจับกุมดังกล่าว