ศาลสั่งจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา “ตู่-จตุพร” ปราศรัยหมิ่น “อภิสิทธิ์” อดีตนายกฯ เมื่อปี 2552 กล่าวหาสั่งฆ่าคนเสื้อแดงและประวิงเวลาฎีกาของพระราชทานอภัยโทษ “ทักษิณ”
ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น.วันที่ 28 ม.ค. 2558 ศาลอ่านคำพิพากษาคดี อ.4176/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่น โดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2552 จำเลยได้ขึ้นเวที นปช.ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน โดยได้กล่าวถึงนายอภิสิทธิ์ทำนองว่าประวิงเวลาในการทำความเห็นเพื่อเสนอสำนักราชเลขาธิการ พิจารณาผู้ที่ร่วมลงรายชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและ เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2552 จำเลยยังได้ขึ้นเวทีปราศรัยของกลุ่ม นปช.ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยได้กล่าวหานายอภิสิทธิ์ขณะเป็นนายกรัฐมนตรีทำนองว่าเป็นอาชญากรและฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน โดยได้มีการเผยแพร่คำปราศรัยผ่านสถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนแนล ชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้วเห็นว่า การปราศรัยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2552 ที่จำเลยกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ว่า ประวิงเวลา ทำให้การเสนอความเห็นขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณล่าช้านั้น ในประเด็นนี้โจทก์ได้เบิกความถึงขั้นตอนการทำความเห็นว่าก็จะต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องของผู้ที่ร่วมลงรายชื่อ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีมากถึง 3.5 ล้านรายชื่อ และเมื่อตรวจสอบแล้วก็จะต้องเสนอความเห็นตามขั้นตอนที่จะต้องผ่านกรมราชทัณฑ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรีตามลำดับ ก่อนที่จะเสนอไปยังสำนักราชเลขาธิการต่อไป ซึ่งแม้จำเลยจะกล่าวอ้างว่าโจทก์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 60 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 17 ต.ค. 2552 แต่ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ขึ้นเวทีปราศรัยถึงกรณีดังกล่าวในวันที่ 11 ต.ค. 2552 ซึ่งเป็นวันก่อนครบกำหนด 60 วัน ทั้งที่ในการติดตามเรื่องการพิจารณาทำความเห็นนั้นสามารถที่จะติดตามจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ ตามช่องทางที่เหมาะสม นอกจากนี้ในการนำสืบจำเลยก็ไม่มีพยานอื่นมาเบิกความประกอบว่าโจทก์เจตนาที่จะประวิงเวลาดำเนินการดังกล่าวให้ล่าช้าออกไปอีกทั้งจำเลยก็เป็นอดีตนักการเมืองย่อมถึงขั้นตอนดำเนินการ แต่กลับกล่าวปราศรัยถึงโจทก์ในลักษณะที่ได้ปิดบังขั้นตอนดำเนินการทำให้ประชาชนทั่วไป เข้าใจผิดเชื่อว่าโจทก์ทำการยึดพระราชอำนาจทั้งที่ไม่มีบุคคลใดที่จะกระทำเช่นว่านั้นได้ ซึ่งการกระทำของจำเลยไม่ใช่เป็นการติชมเพื่อความเป็นธรรมแต่ทำให้โจทก์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องได้รับความเสียหาย
ส่วนการปราศรัยในวันที่ 17 ต.ค. 2552 ที่กล่าวพาดพิงถึงโจทก์ทำนองว่า เป็นอาชญากรสั่งฆ่าประชาชนและสร้างสถานการณ์ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง บริเวณนางเลิ้ง ถนนเพชรบุรี ซอย 5 และ 7 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 รายนั้น ศาลเห็นว่า ตามคำเบิกความโจทก์ยืนยันว่าในช่วงที่มีการชุมนุมไม่ได้ใช้ความรุนแรงใดๆ แต่เน้นหลักการประนีประนอมและกำชับผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งก็มีสื่อต่างชาติให้การยอมรับในวิธีการที่โจทก์ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ขณะที่ถ้อยคำซึ่งจำเลยได้กล่าวปราศรัยนั้นฟังได้ว่ามาจากการประมวลเหตุการณ์ต่างๆ โดยจำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบยืนยัน ส่วนที่ว่ากรณีผู้เสียชีวิตนั้นก็ยังไม่ปรากฏว่ามีคดีที่โจทก์ถูกศาลตัดสินจากการกระทำดังกล่าวหรือได้มีการพิสูจน์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงในถ้อยคำของจำเลยดังกล่าว ส่วนคลิปเสียงที่จำเลยอ้างว่าเป็นเสียงของโจทก์ที่กล่าวในช่วงที่มีการชุมนุมนั้นก็ได้มีการตรวจพิสูจน์แล้ว ซึ่ง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นคลิปเสียงตัดต่อ และเมื่อพิจารณาถ้อยคำที่จำเลยกล่าวก็มีลักษณะที่เป็นการยั่วยุ ปลุกปั่นให้ประชาชนที่รับฟังเข้าใจว่าโจทก์กระทำการดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่เป็นการกล่าวเพื่อปกป้องสิทธิหรือประโยชน์ของตนตามสมควร แต่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงทั้งที่ยังไม่ปรากฏในขณะนั้นว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นใด จึงถือเป็นการกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ที่สร้างความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นตาม มาตรา 328
จึงพิพากษาให้จำคุกจำเลยฐานหมิ่นประมาท มาตรา 328 รวม 2 กระทงๆ ละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี และเมื่อพิเคราะห็พฤติการณ์ของจำเลยแล้วเห็นว่านอกจากเป็นการกระทำให้โจทก์เสียหายแล้วยังได้กระทบต่อสถาบันฯ ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชน กรณีจึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เดลินิวส์ มติชน เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายและให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีหมายเลขดำ อ.1008/2553 ที่ได้กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 5 หมื่นบาท แต่โจทก์จำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี
ภายหลังฟังพิพากษา นายจตุพรไม่แสดงสีหน้าเคร่งเครียดแต่อย่างใด โดยนายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 2 แสนบาทขอปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ต่อสู้คดี
ด้านนายวิญญัติกล่าวว่า ในการยื่นประกันหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าจะต้องเพิ่มมูลค่าหลักประกันมากว่า 2 แสนก็พร้อมปฏิบัติตาม โดยระหว่างนี้คำร้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ส่วนตามพิพากษาที่ศาลให้นับโทษนายจตุพรต่อจากคดีหมิ่นประมาทนายอภิสิทธิ์อีกสำนวนหนึ่งนั้น คดีดังกล่าวศาลพิพากษาจำคุกแต่ให้รอลงอาญาไว้ โดยคดีนั้นยังไม่ถึงที่สุด หากจะมีการนับโทษต่อก็จะต้องรอจนกว่าผลคดีดังกล่าวจะถึงที่สุดในชั้นศาลฎีกา ส่วนคดีนี้ก็จะยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อไปซึ่งมีหลายประเด็นที่เรามีความเห็นแตกต่างจากคำพิพากษา แต่ก็เคารพในดุลพินิจของศาล
ทั้งนี้ภายหลังศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ประกัน โดยตีราคาประกันหลักทรัพย์จำนวน 2 แสนบาท