ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน ยกฟ้อง “สนธิ” พร้อมอดีตแกนนำพันธมิตรฯ คดี “ทักษิณ” ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท กรณีออกปฏิญญาพันธมิตรฯ วันที่ 28 มี.ค. 2551 ระบุเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อติชมด้วยความเป็นธรรม ไม่มีความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ศาลจังหวัดจังหวัดมีนบุรี ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.3596/2551 ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โจทก์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย โดยคำพิพากษาระบุว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันหมิ่นประมาทโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ประกาศคำปฏิญญาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยศาลชั้นต้นพิจารณามีคำพิพากษายกฟ้อง
คำบรรยายฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 นายพิชา ป้อมค่าย เป็นโจทก์ผู้รับมอบอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ดูอินเทอร์เน็ตเว็บไซต์ของผู้จัดการออนไลน์ ของจำเลยที่ 6 พบว่าจำเลยที่ 1-4 ร่วมกันออกประกาศโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้อ่านประกาศตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 โดยมีข้อความให้เข้าใจได้ว่านายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งรัฐบาลที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงโดยให้มีอุดมการณ์ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทุจริต ฉ้อฉล ปล้นฆ่าประชาชน กดขี่ข่มเหงประชาชน หลอกลวงประชาชน มีเป้าหมายจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์ ซึ่งล้วนเป็นความเท็จ ความจริงแล้วมีอุดมการณ์เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ร่วมกับคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันจัดตั้งพรรคไทยรักไทย ลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับความจากประชาชนจนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่คยกระทำสิ่งได้ที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ โดยจำเลยที่ 1-4 มีเจตนาทำลาย ล้มล้างโจทก์ และก่อให้เกิดความวุ่นวายให้บ้านเมือง เพื่อจะโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาหมิ่นประมาทมาแล้วตามเอกสารหมาย จ.7
จำเลยที่ 1-6 นำสืบว่า จำเลยที่ 1-4 และประชาชนประมาณ 2,000 คน ร่วมกันชุมนุมที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อกล่าวคำปฏิญญาณตามหมาย จ.5 ตามสิทธิของประชาชนที่จะพึ่งกระทำ เพื่อพิทักษ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 70 และเพื่อเตือนรัฐบาลหุ่นเชิดของโจทก์ไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237,309 เพื่อช่วยเหลือโจทก์และพวกพ้อง ไม่ให้แทรกแซงขบวนการยุติธรรม และสื่อมวลชน เพื่อให้บริหารราชการอย่างถูกต้องชอบธรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนไม่ใช่เพื่อใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ให้มรการออกกฏหมายหรือแก้กฏหมายเพื่อลบล้างความผิดของโจทก์และพวกพ้อง ไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมฉบับปี 2550 เพื่อกลับมาใช้รัฐธรรมมนูญฉบับปี 2540 เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการต่อไปได้
ศาลพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงให้เบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-4 และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551 จำเลยที่ 1-4 ร่วมกันออกคำประกาศปฏิญญา โดยมอบให้ให้จำเลยที่ 1 อ่านข้อความผ่านเครื่องประจายเสียงต่อผู้ที่อยู่ในที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ให้จำเลยที่ 5 ออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ASTV จำเลยที่ 6 นำข้อความออกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ ปรากฏข้อความตามเอกสารหมาย จ.5
กรณีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คำประกาศของประชาชนตามเอกสารหมาย จ.5 ไม่เป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นการหมิ่นประมาณโจทก์ เมื่อไม่มีใครอุทธรณ์ คัดค้าน คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โดยจำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันว่า การทำหนังสือออกคำประกาศปฎิญญาตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นความจริงที่จำเลยที่ 1 และประชาชน เพื่อเตือนรัฐบาลหุ่นเชิดของโจทก์ไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237, 309 เพื่อช่วยเหลือโจทก์และพวกพ้อง แม้โจทก์จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแต่โจทก์ก็ยังยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอยู่ตลอดภ โจทก์พยายามปลุกระดมคนเสื้อแดงเพื่อให้สนุบสนุนตนเองและพยายามล้มคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี โดยกระทำการหลายครั้งที่มิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามเอกสารหมาย ล.22 หรือ ล.25 และกระทำการโจมตีกระบวนการยุติธรรม
ศาลจึงพิพากษาว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1-6 สามารถนำสืบเข้าต่อสู้ข้อกล่าวหาของโจทก์ได้อย่างสมเหตุสมผล และมีน้ำหนักเพียงพอสามารถรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงคือรับฟังได้ว่า คำกล่าวปฏิญญา คำประกาศของประชาชนผู้พิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แม้จะมีถ้อยคำและข้อความที่เกินเลยความถูกต้องสมควรไปบ้าง แต่ก็ยังอยู่ภายในขอบเขตที่พอจะถือได้ว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริตเพื่อติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยที่ 1-4 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ตามประมวลกกฏหมายอาญามาตรา 329 (3) จำที่ 5-6 ไม่มีความผิดฐานสนับสนุนการร่วมกันหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย ศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดยระบุว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 นำเอาจุดบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์มาวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะโจทก์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย่อมเป็นบุคคลสาธารณะ อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ เป็นการป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม ในฐานะประชาชนชาวไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหรือพฤติกรรมของรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้นและเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 5 ถึงที่ 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ย่อมไม่มีความผิดด้วย พิพากษายกฟ้อง