ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง บก.“นสพ.ผู้จัดการ” ไม่หมิ่นประมาท “ภูมิธรรม เวชยชัย” อดีตรัฐมนตรีช่วยฯคมนาคม ชี้บรรณาธิการไม่ต้องรับผิด ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ปี 50
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (21 ม.ค.) ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดี อ.538/2549 ที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท แมเนเจอร์มีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนายขุนทอง ลอเสรีวานิช บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลยในความผิดฐาน ร่วมกันหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และความผิดตาม พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ. 2484
คดีนี้โจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างวันที่ 22 - 23 พ.ย. 2548 จำเลยได้ร่วมกันหมิ่นประมาทนายภูมิธรรม ด้วยการตีพิมพ์ข้อความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ว่า นายภูมิธรรม ขายตัวให้กับลาภยศสรรเสริญไปหมดสิ้นแล้ว แปรสภาพเป็นเพียงสุนัขรับใช้ตัวหนึ่งที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ ทำลายความชอบธรรมของการต่อสู้ เพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพของประชาชนและประชาธิปไตย ทำให้โจทก์เสื่อมเสีย ได้รับความเสียหาย และถูกดูหมิ่นเกลียดชัง
ซึ่งศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการใส่ความดูหมิ่น ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนไม่ดี เป็นการนำเรื่องส่วนตัวมาเขียนพาดพิง ไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป เห็นว่า นายขุนทอง ลอเสรีวานิช จำเลยที่ 6 ในฐานะเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ข้อความดังกล่าว มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์จริง พิพากษาให้จำคุก 6 เดือน ปรับเป็นเงิน 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี และให้ทำลายหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฉบับวันที่ 23 พ.ย. 2548 ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งหมด ส่วนจำเลยที่ 1 - 5 เป็นเพียงเจ้าของและกรรมการบริษัทเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการเสนอข้อความดังกล่าว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 - 5 กระทำผิด พิพากษาให้ยกฟ้อง ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 6 ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อเตือนโจทก์ให้เลิกข่มขู่สื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ชอบด้วยความเป็นธรรม ข้อความตามฟ้องจึงไม่เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ต่อมาโจทก์ยื่นฎีกา ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยที่ 6 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา โดยขณะนี้มีพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ซึ่งไม่ได้บัญญัติให้บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ต้องเป็นผู้รับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นในส่วนของจำเลยที่ 6 อีก ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยพิพากษายืน