xs
xsm
sm
md
lg

ยธ.ยกระดับศูนย์ดำรงธรรมเป็นเจ้าภาพลดความเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รมว.ยุติธรรมหารือตัวแทนกระทรวงมหาดไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำความยุติธรรม โดยจะยกระดับศูนย์ดำรงธรรมซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 78 จังหวัด จำนวน 800 ศูนย์เป็นแม่งานหลัก ชี้การทุจริตสร้างสนามฟุตซอลมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มครู ผู้ประกอบการ และกลุ่มจัดซื้อจัดจ้าง

วันนี้ (24 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 8 กระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทย, อธิบดีกรมการปกครอง, อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานความร่วมมือการดำเนินงานร่วมกันด้านการอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ เรื่องเครือข่ายและยุติธรรมชุมชนกับศูนย์ดำรงธรรม และการแก้ปัญหายาเสพติด โดยใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า เรื่องการปราบปราบปรามยาเสพติดและด้านการอำนวยความยุติธรรมจะบูรณาการทำงานร่วมกัน โดยจะปรับให้กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีศูนย์ดำรงธรรมครอบคลุมทั่วประเทศไทยทั้ง 78 จังหวัด จำนวน 800 ศูนย์เป็นแม่งานหลัก โดยผ่านการทำงานรูปคณะกรรมการหมู่บ้านที่ประกอบด้วยปราชญ์ชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ขณะที่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ก็ถูกคัดเลือกให้ทำงานในศูนย์ดำรงธรรม หรือศูนย์ยุติธรรมชุมชน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งขณะนี้ศูนย์ยุติธรรมชุมชนมีเพียง 70-80 แห่ง และต้องมีครบทุกตำบลภายในปี 2560 ขณะที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ มีจำนวนน้อยมาก

สำหรับกรณีที่ปรากฏข่าวว่าผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายใหญ่ได้ฟอกเงินโดยการนำเงินไปซื้อที่ป่าสงวนจำนวน 1,000 ไร่ จะดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างไรนั้น พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า กรณีนี้ได้มีการพูดคุยร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรฯ กรมธนารักษ์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพย์จะเป็นแม่งานนี้ ส่วนกระทรวงยุติธรรมจะมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนะงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้กระทำผิดกลุ่มนี้ โดยกรณีนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบข้อมูลแล้ว

ส่วนกรณีการตรวจสอบการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศนั้น พล.อ.ไพบูลย์ยืนยันว่าไม่ได้เงียบ แต่บางครั้งไม่สามารถชี้แจงบอกสื่อได้ เพราะขณะนี้มีรายชื่อผู้ต้องสงสัยเข้ามาเกี่ยวข้องมีจำนวนกว่า 700-800 คนซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่าใครทำผิด เพราะถ้าใครถูกพาดพิงอาจได้รับความเสียหายได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบแต่ให้เหตุผลว่ากรณีทุจริตสร้างสนามฟุตซอลนั้นเป็นความผิดเรื่องฮั้ว และอ้างว่าอำนาจการสอบสวนเป็นของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ตนสั่งให้เลขาฯ ป.ป.ท.ไปดูแล้วว่าขณะนี้ขั้นตอนตรวจสอบไปถึงไหนแล้ว

“ต้องยอมรับว่าการตรวจสอบทุจริตเราไม่สามารถไปสั่งหน่วยงานที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมได้ แต่ได้ใช้วิธีการประสานและบรูณาการทำงานร่วมกัน ซึ่งก็ทำให้มีช่องทางพูดคุยและทำให้มีคำตอบให้กับสังคมว่าทำไมการดำเนินการสอบทุจริตในเรื่องใดจึงช้า-เร็ว อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เห็นของกระทรวงยุติธรรรมได้เรียนนายกฯทราบแล้วว่าการปราบทุจริตมอบให้กระทรวงยุติธรรมเป็นแม่งานแต่องค์กรที่ทำงานในมือมีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งท่านได้รับทราบปัญหาแล้ว” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า สำหรับรายชื่อผู้เกี่ยวข้องทุจริตสร้างสนามฟุตซอลมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มครูและผู้ประกอบการนั้นชัดเจน และกลุ่ม 3 คือกลุ่มอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องดำเนินการตามประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 69/2557 ว่ามีบุคคลากรมาเกี่ยวข้องหรือทำผิดกฎหมายอย่างไร ทั้งนี้ รายชื่อที่รวบรวมมาก็ต้องว่าไปตามหลักฐาน

เมื่อถามถึงความเป็นห่วงว่าข้าราชการครูชั้นผู้น้อยจะเป็นเหยื่อกรณีทุจริตดังกล่าว รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ในเมื่อมีหลักฐานอยู่ว่าใครเซ็นชื่อจ้าง-จัดซื้อ ก็ต้องไปว่ากันในชั้นศาล ครูที่มีชื่อในเอกสารและเซ็นตรวจรับการจัดจ้างจัดซื้อก็ต้องกล้าเสนอข้อมูลหากว่ามีใครอยู่เบื้องหลัง โดยใครที่บอกให้คุณเซ็นชื่อในเมื่อรู้อยู่ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องมีข้าราชการกลุ่มหนึ่งเข้าไปเกี่ยวพัน
กำลังโหลดความคิดเห็น