xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่มส่วยใหญ่-กำจัดส่วยเล็ก “สินบนใบสั่ง” ปล้นกลางแดด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 2 ตำรวจ สน.มักกะสัน รับเงินรางวัล 1 หมื่น หลังจับกุมหนุ่มสกลนครกลับรถในที่ห้ามกลับบริเวณแยกผังเมืองและพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ 50 บาท  เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา
กลายเป็นข่าวฮือฮามากที่สุดของสังคมไทยในเวลานี้ นั่นคือมาตรการเล่นงานคนให้ “สินบน” ตำรวจจราจร

หลังจากการส่งสัญญาณมาจาก “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ผบ.ตร.เจ้าของนโยบายตำรวจต้องเป็นที่รักของประชาชน พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.ดูแลงานจราจรในกรุงเทพมหานคร ก็เด้งรับ “จัดระเบียบ” ปราบส่วยริมถนนด้วยการตั้งค่าหัว 1 หมื่นบาทสำหรับตำรวจจราจรคนใดก็ตามที่สามารถจับคนให้สินบนตำรวจเพื่อแลกกับการทำผิดกฎจราจร ปรากฏว่าหลังรับทราบนโยบายวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ดาบตำรวจนรินทร์ ฟักบำรุง ผบ.หมู่จราจร สน.วัดพระยาไกร ก็ประเดิมจับนายบันเทิง ทองปาน เป็นรายแรก และมีพิธีรับมอบเงินรางวัลสินบนนำจับเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และโลกโซเชียลฯ อย่างเอิกเกริก

หลายสำนักข่าวชี้นำสังคมไปในทางเดียวกันเสมือนว่า นายบันเทิงคือพลเมืองร้ายที่ให้สินบนจำนวนเล็กน้อยแก่เจ้าหน้าที่เพื่อหลีกเลี่ยงความผิด ขณะเดียวกัน ฝ่ายตำรวจเองได้รับคำชื่นชมจนเชื่อว่านี่คือมาตรการ “เกลือจิ้มเกลือ” ที่ถูกต้อง มีความเหมาะสมกับสังคมไทย

แต่อีกด้านหนึ่งมีมุมมองที่น่าสนใจระบุว่า นี่คือวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง โดยตำรวจเองยังตกอยู่ในวังวนของระบบส่วย

และเมื่อตำรวจจราจร สน.มักกะสัน จับนายวันชัย แสงสุดตา เป็นรายที่ 2 กระแสเริ่มตีกลับกลายเป็นว่าตำรวจกำลังทำสิ่งท้าทายจนอาจทำให้การเผชิญหน้าระหว่างตำรวจกับประชาชนจะมีมากขึ้นซึ่งไม่น่าจะเกิดผลดีต่อใครทั้งสิ้น

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการท่านนี้มองว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ได้ผลแค่ระยะสั้น และที่สำคัญ การให้สินบนเจ้าพนักงานมีความผิดอยู่แล้ว และเป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องดำเนินคดี ไม่จำเป็นต้องได้รับผลประโยชน์อะไรตอบแทน ส่วนเงินรางวัลที่ให้ตำรวจ ต้องตอบสังคมให้ชัดว่าดึง หรือเอาเงินส่วนไหนมาให้

“การให้รางวัลกับตำรวจที่ไม่รับสินบน มันสะท้อนปัญหาของระบบตำรวจว่ามันเต็มไปด้วยการรับสินบน ส่วนตัวคิดว่าโครงการแบบนี้มันยิ่งทำให้สินบนมีราคาแพงขึ้น เอาเงินไปให้ทหารที่ไปรบดีกว่า เพราะตามหน้าที่แล้วคุณมีหน้าที่เอาผิดคนให้สินบนเจ้าพนักงานอยู่แล้ว เหมือนกับอาจารย์ถ้าบอกว่าสอนหนังสือเป็นประจำแล้วได้รางวัล ถามหน่อยครับว่าจะได้รางวัลไปทำไม ในเมื่อคุณมีหน้าที่สอนหนังสือ ถ้าคุณไม่สอนหนังสือนี่สิ เป็นปัญหา

เช่นเดียวกับตำรวจ คุณถูกจ้างมาให้รักษากฎหมาย หรือบังคับใช้กฎหมาย คุณก็ไม่จำเป็นต้องได้รับรางวัลอะไร แต่ในกรณีที่ตำรวจทุจริตเสียเองแล้วประชาชนมีหลักฐาน ประชาชนเขาควรจะได้รับรางวัลมากกว่า เพราะเขาพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่รักษากฎหมาย และทำการฉ้อฉลเสียเอง”


ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ รศ.ดร.สังศิตบอกว่า ความเละเทะของโลกตำรวจยังคงจะมีอยู่ต่อไป ถ้ายังไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจไทยอย่างจริงจัง และไม่มีการกระจายอำนาจของตำรวจออกไปเพื่อทำให้เกิดการตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มุมมองของนักวิชาการท่านนี้ยิงตรงไปยังสังคมตำรวจ และเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ น่าจะส่งไปยัง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ผบ.ตร.ในฐานะผู้นำสูงสุดขององค์กรอย่างปฏิเสธไม่ได้ เป็นที่ทราบกันดีว่าระหว่างการขึ้นมารับตำแหน่ง พล.ต.อ.สมยศ ตอกย้ำความคิดอย่าชัดเจนว่าตำรวจต้นทุนต่ำแต่อยากให้มองที่ประชาชนคนให้สินบนด้วยมีทำผิดเช่นกัน และที่สร้างภาพลักษณ์ในทางเสียหายมากที่สุดก็คือส่วยจราจรซึ่งเห็นบ่อยๆ ในคลิปที่เผยแพร่ทางโลกโซเชียลมีเดีย จากกระบวนการความคิดจึงออกมาเป็นนโยบาย และผู้ที่นำมาใช้ไม่สามารถตอบโจทย์ให้กับสังคมได้ กลับทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะ “ผู้นำ”องค์กรตำรวจกำลังหลงทาง เพราะการแก้ปัญหาที่แท้จริงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีรายละเอียดอยู่มากมาย และหนี่งในจำนวนนั้นก็คือตำรวจจราจร ควรขึ้นกับหน่วยงานใด ขึ้นกับท้องถิ่นดีหรือไม่เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การแก้ปัญหา “เพิ่มส่วยใหญ่ กำจัดส่วยเล็ก”ซึ่งต้องยอมรับว่าสามารถสยบพฤติกรรมคนขับรถได้ในระดับหนึ่งนั้น แต่ในอีกด้านยังมีจุดอ่อนอีกมากมายเพื่อรอการแก้ไขเช่นส่วยสติกเกอร์ อันเป็นส่วยอิทธิพล มีผลประโยชน์จำนวนมากไม่ต้องถูกจับไม่ต้องจ่ายรายทางเพราะจ่ายให้กับ “ตัวใหญ่” ไปแล้ว ต่างกับบรรดาผู้ขับขี่หาเช้ากินค่ำ เช่น รถแท็กซี่ สามล้อตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซรับจ้าง หรือกระทั่งรถราของประชาชนทั่วไป และที่สำคัญระบบส่วนแบ่งจากค่าปรับยิ่งเปิดโอกาสให้ตำรวจจราจรจองเวรกับผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้นเพิ่อเพิ่มตัวเลข

มีคำถามอีกมากมายที่รอคำตอบ เช่น หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการให้ระบบส่วยหมดสิ้นไป ไม่ว่าจะเป็นส่วยจราจรหรืออื่นใด ทำไมการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจที่ผ่านมาจึงเลือกรุ่น เลือกคนสนิทส่งไปคุมพื้นที่เศรษฐกิจหรือหน่วยงานที่มีผลประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ ตัวอย่างที่จะเห็นในอนาคตอันใก้ลก็คือการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับ พ.ต.อ.ขอให้จับตาไปยังโรงพักต่างๆ ที่เป็นทำเลทอง เป็นที่ตั้งของ บ่อน ซ่อง สถานบริการ ผับบาร์คาราโอเกะ หรือกระทั่งเป็นแหล่งผลิตและขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซีดีลามก ต่างด้าว

ตำรวจระดับ “ผู้กำกับการ” สน.บางรัก สน.พญาไท สน.ห้วยขวาง สน.สุทธิสาสน.ทองหล่อ สน.ลุมพินี สน.ตลิ่งชัน สน.พลับพลาไชย และยังไม่นับอีกหลายร้อยโรงพักทั่วประเทศ 100 เปอร์เซ็นต์จะต้องมาจากรุ่นที่กำลังมีอำนาจ เด็กนาย เด็กเส้น มีตั๋วจากผู้มีอำนาจในบ้านในเมือง

พฤติกรรมดังกล่าวของตำรวจก็ยังคงวนเวียน ซ้ำๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขั้นสุดท้ายแล้วประชาชน ก็คือเหยื่อ กลายเป็นถูกตราหน้าว่าเป็น “ผู้ร้าย”ตัวจริงของสังคมไทย โดยที่ตำรวจเป็นผู้ถูกกระทำด้วยทัศนคติของผู้นำสานักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า “ตำรวจผิดเพราะประชาชนเป็นคนให้ส่วย”

ทำนองเดียวกันปฏิบัติการ “เพิ่มส่วยใหญ่ ขจัดส่วยเล็ก” จนเริ่มเห็นรอยปริแยกระหว่างตำรวจกับประชาชนกว้างมากขึ้นหากมีกลุ่มประชาชนรวมตัวกันเพื่อเอาคืนด้วยการเบิ้ลเป็น 2 เท่าให้ 2 หมื่นตามล่าตำรวจชั่วกินส่วย ก็อาจจะวุ่นวายกันไม่น้อย หน้าตาซื่อๆ ของนายบันเทิง ทองปาน ผู้ต้องหาให้สินบนตำรวจประเดิมเป็นรายแรกของนโยบายนี้อาจจะไม่เป็นที่จดจำของคนไกลตัวแต่สำหรับครอบครัวเขาหรือตัวนายบันเทิงเอง ป่านนี้ไม่รู้จะตกอยู่ในสภาพไหน เพราะกระแสที่เกิดขึ้นเขาคือพลเมืองร้าย ส่วนตำรวจคือฮีโร่ เป็นผู้กระชากหน้ากากตัวการทำให้ตำรวจกลายเป็นคนเลวในสายตาประชาชนไว้ได้ ความผิดในข้อหาให้สินบนเจ้าหนักงานมีโทษหนักปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท จำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือทั้งปรับทั้งจำ แถมต้องใช้เงินสดถึง 7.5 หมื่นบาทประกันตัว จึงไม่ไม่ใช่เรื่องสนุก และนโยบายปิดประตูตีแมวโดยมีตำรวจเป็นผู้ได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่องนี้ควรมีต่อไปหรือไม่

จึงเป็นเรื่องของทุกฝ่ายต้องติดตามและวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น