xs
xsm
sm
md
lg

เลขาธิการ ปปง.โต้ ไม่มีรับสินบนยึดทรัพย์รุกที่สาธารณะที่โคราช

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เลขาธิการ ปปง.โต้ไม่มีรับสินบนยึดทรัพย์รุกที่สาธารณะหนองกุง-หนองแก้ว อ.สูงเนิน จ.นครราชขสีมา เชื่อสำนวนแน่น แค่รอปรึกษากฤษฎีกาประเด็น “บุกรุกเพื่อการค้า” ชัดเจนเมื่อไหร่ลุยทันที

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ทหารจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2 เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผสานกำลังเข้าตรวจสอบและยึดอายัดทรัพย์นายอัมรินทร์ อยู่สุขดี หรือเสี่ยกัง นักธุรกิจเจ้าของโรงแรมชื่อดังใน อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา นายสมโภชน์ ศรีใหม่ และนายทรงชัย แป้สูงเนิน กับพวก บุกรุกใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์หนองกุง-หนองแก้ว หมู่ 6 ต.หนองตะไก้ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา กว่า 3,900 ไร่ มานานกว่า 20 ปี โดยก่อนหน้านี้ทหารพร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้เข้าตรวจสอบและอยู่ระหว่างขอเพิกถอน ส.ป.ก.4-01 จากนั้นได้ส่งข้อมูลให้ ปปง.ตรวจสอบ เพื่อเอาผิดกลุ่มผู้บุกรุกในฐานความผิดตามมาตรา 3 (15) ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เรื่องการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการค้านั้น

ล่าสุด วันนี้ (10 ต.ค.) พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า กรณีนี้มีความผิดอยู่แล้ว แต่เพื่อความชัดเจนของข้อกฎหมายซึ่งขณะนี้เรากำลังหารือกับกฎษฎีกาเรื่องของการบุกรุกที่ดินเพื่อการค้า ที่เกรงว่าจะมีปัญหา คือ 1. การบุกรุกพื้นที่ดังกล่าวถ้าเป็นราษฎรไม่มีที่ทำกินก็ไม่ควรยึดทรัพย์ และ 2. ถ้าไม่ใช่ราษฎรบุกรุกเพื่อการค้าก็ควรดำเนินคดีตามกฎหมาย และเพื่อความชัดเจนจึงต้องปรึกษากับกฤษฎีกาก่อน

ทั้งนี้จะต้องตรวจสอบโรงงานน้ำตาลด้วย เนื่องจากเข้าไปเกี่ยวข้องโดยการไปรับซื้ออ้อยที่ปลูกในที่ดินแปลงบุกรุก อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินของนายทุนที่ถูกยึดจากการลงพื้นที่นั้นเป็นการยึดไว้เพื่อตรวจสอบโดยอาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก

สำหรับก่อนหน้านี้ที่มีกระแสข่าวว่านายทุนได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่ ปปง.ชุดลงพื้นที่ตรวจสอบกว่า 2 ล้านนั้น ตนไม่เชื่อ เพราะ ปปง.และทหารทำสำนวนร่วมกัน โดยระบุคำพิพากษาที่ชัดเจนจึงต้องมีการยึดแน่นอน จะไปแก้ไขก็เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ว่าเรารอกฤษฎีกาวินิจฉัยว่าการค้าในข้อกฎหมายนี้เป็นอย่างไรเท่านั้น เนื่องจากเกรงว่าราษฎรจะได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม หากกฎษฎีกาวินิจฉัยกรณีดังกล่าวแล้วก็จะยึดเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 3 (15)
กำลังโหลดความคิดเห็น