xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กกุ้ย” เซ็นซื้อเครื่องบินพันล้าน โปรเจกต์ทิ้งทวนก่อนเกษียณอายุ?

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร.ลงนามสัญญาซื้อขายอากาศยานเครื่องบินปีกติดแบบคาซา 235 กับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (17ก.ย.57)
ทั้งนี้ มีเสียงนินทาหนาหูว่า เครื่องบินลำเลียงขนาดกลาง มักจะถูกใช้ไปในมุมของการ “เลี้ยงดูปูเสื่อ” รับรองผู้บังคับบัญชา หรือนักการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่บางช่วง จึงถูกนำไปใช้ “บรรเทา” เหตุการณ์ต่างๆ ตามคำอวดอ้างสรรพคุณที่กล่าวมา

...ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถือว่าการเซ็นสัญญาชื้อของคนใกล้เกษียณครั้งนี้ อาจไม่คุ้มค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องบินลำเลียงขนาดกลาง ที่มีชั่วโมงการบินคิดเป็นเงินหลายหมื่นบาท...“บิ๊กกุ้ย” เซ็นซื้อเครื่องบินพันล้านโปรเจกต์ทิ้งทวนก่อนเกษียณอายุ?

นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุมประเทศ ก่อนจะผุดรัฐบาล “ประยุทธ์ 1” ขึ้นมา สำหรับ “บิ๊กกุ้ย” พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่นั่งเก้าอี้เป็นรักษาการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ถือว่ามีบทบาทเด่นทีเดียว โดยเฉพาะการจัดระเบียบ “แถวตรง” ในอาณาจักรโล่เงิน ภายใต้ผู้ให้คำปรึกษาอย่าง “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็เป็นไปอย่างเบ็ดเสร็จเรียบวุธ

หลังจากที่ “บิ๊กกุ้ย” เข้ามานั่งขัดตาทัพเป็นผู้นำสีกากี ก็เริ่มงานแรกด้วยความพยายามที่จะปฏิรูปกรมปทุมวัน ก่อนจะตบท้ายด้วยการผลักดันให้นายตำรวจผู้กว้างขวางอย่าง “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ขึ้นเป็น ผบ.ตร. คนที่ 10 จากนั้นจึงกางแผนกระดาษจิ้มชื่อในการโยกย้ายประจำปี ข้าราชการตำรวจในระดับรอง ผบ.ตร. ถึงผู้บัญชาการ (ผบช.) ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป และเตรียมทิ้งทวนระดับรอง ผบช. ถึงผู้บังคับการ (ผบก.) อีกชุดเป็นการส่งท้าย

...ขณะที่ส่วนตัว พล.ต.อ.วัชรพล ได้นั่งเสียบเป็นสมาชิก สนช. ด้วย และยังสวมชุดสูทเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม...ซึ่งเวลานี้ถือเป็นช่วงขาขึ้นของเจ้าตัวจริงๆ ที่เตรียมจะเกษียณอายุราชการสิ้นเดือนกันยายนนี้

ทั้งนี้ อีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ “บิ๊กกุ้ย” มีส่วนร่วมก่อนจะถอดเครื่องแบบสีกากีอีกเพียงไม่กี่วัน? เห็นจะเป็นการลงนามเซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินปีกติดแบบ “คาซา 235-220 M” มูลค่ากว่า 1,140 ล้านบาท กับบริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด เพื่อใช้ในการสนับสนุนปฏิบัติการทางอากาศยานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)...ซึ่งเครื่องบินรุ่นนี้เคยเป็นปัญหาของรัฐบาลอินโดนีเซีย กับทาง “ทักษิณ” หลังจากอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยรายนี้ เคยผิดคำสัญญาซื้อขายมาก่อน...

ส่วนการจัดซื้อครั้งนี้ทาง พล.ต.ต.พรวิสุทธิ์ งามปัญญา ผู้บังคับการกองบินตำรวจ ชี้แจงว่า เนื่องจากกองบินตำรวจ มีเครื่องบินประจำการอยู่เพียง 3 ลำ คือ 1. เครื่องบินแบบสกายแวน SC-7 เป็นเครื่องบินลำเลียงขนาด 10-12 ที่นั่ง ประจำการเมื่อปี 2516 2. เครื่องบินแบบฟอกเกอร์ 50 เป็นเครื่องบินโดยสารขนาด 40 ที่นั่ง ประจำการเมื่อปี 2535 3. เครื่องบินแบบคาซา 235 เป็นเครื่องบินลำเลียง ขนาด 30 ที่นั่ง ประจำการเมื่อปี 2539 ซึ่งเครื่องบินเหล่านี้มีการใช้งานเป็นเวลานาน และการซ่อมบำรุงแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานกส่า 6 เดือน จึงเสนอให้มีการซื้อเครื่องบินลำดังกล่าว ที่ผลิตโดยบริษัท “Airbus Military” และบริษัท “PTDI” ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีระยะเวลาการส่งมอบ 18 เดือน

...ส่วนวัตถุประสงค์นั้น พล.ต.ต.พรวิสุทธิ์ ระบุว่า เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจ ด้านป้องกันปราบปราม และภารกิจด้านการบรรเทาสาธารณภัย หรือการใช้ค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ และสนับสนุนภารกิจในการสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงยาเสพติด การหลบหนีเข้าเมือง รวมถึงการค้ามนุษย์ตามแนวชายแดนและรอยต่อของประเทศ กระทั้งการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน เพิ่มขีดความสามารถทางการแพทย์ในการรักษาพยาบาล การจัดตั้งแพทย์สนาม ศูนย์บัญชาการส่วนหน้า และการส่งกลับทางอากาศ โดยไม่เกินขีดความสามารถของเครื่องบินและนักบิน...

สำหรับเครื่องบิน “คาซา 235-220 M” เป็นประเภทเครื่องบิน ลำเลียงขนาดกลาง โดยใช้เครื่องยนต์ General Electric CT-9C จำนวน 2 เครื่องยนต์ กางปีก 25.81 เมตร มีความยาว 22.89 เมตร และสูง 8.18 เมตร โดยมีอัตราเร็วสูงสุด 240 น็อต เพดานบินสูงสุด 27,000 ฟุต บินได้นาน 8 ชั่วโมง...

อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อครั้งนี้ ผ่านบริษัทขุมทรัพย์หมื่นล้านของทัพอากาศ อย่างอุตสาหกรรมการบิน แม้จะมองในแง่การทำงาน จะถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง แต่อีกมุมหนึ่งก็ไม่ควรจะรีบร้อนให้ “บิ๊กกุ้ย” ที่ใกล้จะ “แขวนสตั๊ด” เกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนกันยายนนี้ เป็นผู้จัดการแทน!?!

ทั้งนี้ มีเสียงนินทาหนาหูว่า เครื่องบินลำเลียงขนาดกลาง มักจะถูกใช้ไปในมุมของการ “เลี้ยงดูปูเสื่อ” รับรองผู้บังคับบัญชา หรือนักการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่บางช่วง จึงถูกนำไปใช้ “บรรเทา” เหตุการณ์ต่างๆ ตามคำอวดอ้างสรรพคุณที่กล่าวมา ...ฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถือว่าการเซ็นสัญญาชื้อของคนใกล้เกษียณครั้งนี้ อาจไม่คุ้มค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องบินลำเลียงขนาดกลาง ที่มีชั่วโมงการบินคิดเป็นเงินหลายหมื่นบาท...ซึ่งจากทุนนับพันล้าน เห็นแล้วก็น่าจะไปทุ่มซื้อเครื่องบินที่ใช้เฉพาะกิจ ในเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์แบบเต็มรูปแบบไปเลยเสียดีกว่า อย่างน้อยก็มีประโยชน์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือพื้นที่เสี่ยงภัยอื่นๆ แน่นอน

โดยที่ผ่านมามีหลายครั้งที่การจัดซื้อจัดจ้าง ภายในรั้วกรมปทุมวัน มักจะส่งกลิ่นไม่ดีอยู่เป็นประจำ อย่างกรณีรถมอเตอร์ไซค์ “ไทเกอร์” หรือ “รถเช่า” ที่ถูกซุกอยู่ใต้พรมสีกากีมานานหลายปี...หรือสุดท้ายจะเป็นการทิ้งทวนที่ใครต่อใครก็ “รู้กันอยู่แล้ว” หรือไม่?
เครื่องบินปีกติดแบบ คาซา 235-220 M มูลค่ากว่า 1,140 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น