xs
xsm
sm
md
lg

ภายหลัง “ไทยมาร์แชล” ถูกยุบ ขรก.ไม่มีความชัดเจนในหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รมว.ตราชั่งคนใหม่ความหวังของข้าราชการ “ไทยมาร์แชล” ที่ลอยแพไม่มีความชัดเจนภายหลังถูกยุบหน่วยงาน โดยให้ช่วยราชการนานกว่า 2 ปี

นับตั้งแต่การประกาศยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อปฏิรูปบ้านเมืองหวังให้กลับมาสงบสุขดั่งเดิม กระทั่งวันนี้ มีหลายหน่วยงานที่ภาคประชาชนจับตามอง และคาดหวังภายหลังการยึดอำนาจของ คสช.ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี กระทรวงยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ดูเหมือนจะถูกจับตามองจากสังคมเป็นอย่างมากว่าจะมีการปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงานอย่างไรให้ได้ชื่อว่า ยุติธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ อำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน ลดความเลื่อมล้ำ ปิดกั้นช่องทางทุจริตต่างๆ ได้อย่างไร เพราะกระทรวงตราชั่งแห่งนี้ถือเป็นหน่วยงานราชการที่เป็นที่คาดหวังของคนทั่วไป และบางครั้งยังมีหน่วยงานที่สังกัดกระทรวงนี้ถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งในอดีตอีกด้วย ทำให้ที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายบุคลากรในกระทรวงยุติธรรมระดับผู้บริหารมากมาย ไล่ตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวงไปจนถึงระดับอธิบดีกรมต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ของสังคมให้ได้ในข้อหาร้ายแรงว่าสองมาตรฐาน หรือใช้ตำแหน่งเอื้อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องหรือไม่

ทั้งนี้เมื่อ คสช.เข้ามาทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองระหว่างปฏิรูปประเทศนั้น ได้ไว้วางใจให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ผู้ที่วงการราชการรู้ดีว่าเป็นมือทำงานชั้นเซียนมีความจริงจัง ครบเครื่อง และรวดเร็วในการทำงาน เข้ามารับหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทำให้ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมต่างตื่นตัว และทำการบ้านมาอย่างดี เพื่อจะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลเฉพาะกิจให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็ว หนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปเบื้องต้นองค์กรที่ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างเช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งมีการวางตัวผู้บริหารในหน่วยงานดังกล่าวแบบยกเครื่องกันเลยทีเดียว หรือแม้กระทั่งการเคลียร์ปัญหาการฟ้องร้องเก่าๆภายในหน่วยงานอย่างดีเอสไอ ที่ส่งผลให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายกันอย่างอุตลุต

อย่างไรก็ตาม จากผลของคำสั่งของศาลปกครองคงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนให้ลงตัวก่อนที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ให้เห็นชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม แต่เหมือนจะไม่ง่ายซะแล้วเพราะนอกจากทั้ง 2 หน่วยงานที่กล่าวถึง ยังมีอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีปัญหาคาราคาซังมาตั้งแต่จัดตั้งหน่วยงานในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จนมาถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยโดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ตามมาด้วย นายชัยเกษม นิติศิริ ซึ่งถ้าดูจากชื่อชั้นทั้ง 3 รัฐมนตรีฯแต่ละท่านแล้วถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเป็นถึงอดีตเป็นถึงผู้พิพากษา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาของหน่วยงานนี้ได้ หน่วยงานที่กล่าวข้างต้นคือ “ไทยมาร์แชล” หรือชื่อตามการจัดตั้งหน่วยงาน คือ สำนักบังคับคดีอาญาและบังคับใช้กฎหมาย สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่เป็นศูนย์รวมของข้าราชการที่มากฝีมืออีกหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องทำงานแบบปิดทองหลังพระมาตลอด เพราะตั้งแต่จัดตั้งหน่วยงานนี้มาเมื่อปี 2553 จนถึงปัจจุบันร่วม 4 ปี ได้ใช้งบประมาณไปแล้วกว่าร้อยล้านบาท เพื่อการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานตามภารกิจการบังคับใช้กฎหมาย มีการศึกษาดูงานในต่างประเทศ (สหรัฐอเมริกา) และมีการมอบหมายหน้าที่ให้ไปช่วยปฏิบัติราชการในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายสังกัดกระทรวงยุติธรรม ล่าสุดข้าราชการรวมถึงพนักงานราชการของไทยมาร์แชลได้ไปช่วยราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษกว่า 2 ปี โดยก่อนหน้านี้มีการประกาศเป็นนโยบายของกระทรวงยุติธรรมผ่านสื่อต่างๆว่าจะยุบรวมไทยมาร์แชลให้ไปรวมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้โอนข้าราชการ พนักงานไปสังกัดที่ดีเอสไอ โดยคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมขณะนั้นมีความเห็นตรงกันว่าหน่วยงานทั้งสองมีภารกิจและหน้าที่เหมือนกัน การยุบรวมครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในชั้นสืบสวนสอบสวนและชั้นฟ้องคดี ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองพยาน

สืบเนื่องจากกระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งสำนักบังคับคดีอาญาและบังคับใช้กฎหมายในปี 2553 โดยกำหนดให้มีภารกิจหลัก ในการสนับสนุนการบังคับคดีอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย เมื่อได้รับการร้องขอจากหน่วยงานอื่น ทั้งการสืบสวนและจับกุมบุคคลตามหมายจับหรือคำสั่งศาล การคุ้มครองและให้ความปลอดภัยกับพยาน หรือผู้ต้องการในคดีอาญาสำคัญ การตรวจสอบเพื่อให้มีการยึดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิดอาญา การบังคับโทษปรับตามกฎหมายหรือคำสั่งศาล การคุ้มครองบุคคลวีไอพี แต่เพื่อต้องการปฏิรูประบบกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ จึงจำเป็นต้องควบรวมหน่วยงานที่มีภารกิจคุ้มครองพยานที่คล้ายคลึงกันให้อยู่ในสังกัดดีเอสไอ โดยจะจัดตั้งสำนักคุ้มครองพยานขึ้นในดีเอสไอ กระทั่งส่งข้าราชการทั้งหมดไปฝึกอบรมทั้งบุ๋นและบู้ในหลักสูตรหลักๆ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษจนจบหลักสูตร แต่จู่ๆ ก็ชะงักไปดื้อๆ ต่อมากระทรวงยุติธรรมกลับเรียกข้าราชการทั้งหมดกลับมาอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้มอบหมายงานใดๆให้เลย ทั้งๆที่กรมสอบสวนคดีพิเศษขอตัวบุคลากรทั้งหมดไปช่วยงานที่ยังคั่งค้างอยู่มากมาย โดยมีเหตุผลว่ารอนโยบายของท่านรัฐมนตรีฯคนใหม่ ซึ่งงานนี้คงต้องเป็นการบ้านอีกชิ้นที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงตาชั่งคนใหม่ควรพิจารณาและสั่งการให้ชัดเจนถึงความคงอยู่และภารกิจของเจ้าหน้าที่ไทยมาร์แชล ว่าจะให้โอนหรือไปสังกัดหน่วยงานใด เพราะนอกจากข้าราชการในหน่วยงานนี้ที่อึดอัดใจจนต้องวิ่งหางานทำ เพราะคิดเสียว่าดีกว่านั่งรอรับเงินเดือนอยู่เฉยๆ เพียงเพื่อรอรัฐมนตรีฯ คนใหม่จะมีนโยบายอย่างไร ทั้งที่งานบังคับใช้กฎหมายและปราบปรามการทุจริตก็มีอยู่จนล้นมือกระทรวงยุติธรรมอยู่แล้ว

ความหวังของข้าราชการไทยมาร์แชลนี้ จึงหวังต่อ พล.อ.ไพบูลย์ รัฐมนตรีแห่งกระทรวงตราชั่งคนปัจจุบันที่จะให้ความชัดเจนในหน้าที่ของข้าราชการในสังกัด เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานรับใช้ประชาชนต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น