xs
xsm
sm
md
lg

ลงดาบ...ตำรวจเฉย !!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

เป็นที่ทราบกันว่าตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน เป็นต้นไป... หากมีการฝ่าฝืนข้ามถนนในบริเวณที่ไม่ใช่ทางม้าลาย จะถูกปรับเป็นเงิน 200 บาท นะครับ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยทั้งคนข้ามและคนขับ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจของตำรวจจราจรที่จะต้องคอยสอดส่องดูแล เพื่อสร้างวินัยจราจรที่ดีร่วมกัน...

มาถึงเรื่องที่จะคุยกันในวันนี้ แน่นอนครับว่า...ต้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับวินัยตำรวจ แต่ก่อนที่จะไปคุยกันถึงรายละเอียดในเรื่องดังกล่าว มาดูคดีวินัยตำรวจในต่างประเทศแบบเบาๆ กันก่อนครับ...

คดีนี้เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี.. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งได้ไปตัดผมทรงสกินเฮด จึงถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษกักบริเวณเป็นเวลา 1 วัน ฐานประพฤติตัวไม่เหมาะสมทำให้ภาพลักษณ์ของกองกำลังตำรวจเสื่อมเสีย เนื่องจากการโกนผมด้านข้างศีรษะทั้งสองข้าง และปล่อยให้ผมตรงกลางตั้งแต่เหนือหน้าผากลงไปถึงท้ายทอยยาวแบบสกินเฮดนั้น ผิดระเบียบข้อบังคับของกองกำลังตำรวจ แต่นายตำรวจดังกล่าวเห็นว่าเป็นทรงผมที่คนทั่วไปก็ตัดกันเป็นปกติ ไม่ถือว่าเป็นการทำให้กองกำลังตำรวจต้องเสื่อมเสียเกียรติแต่อย่างใด จึงยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษตามสายการบังคับบัญชา และต่อมาถูกยกอุทธรณ์ จึงนำเรื่องไปฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นอิตาลี เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำเกินอำนาจ ปราศจากความสมเหตุสมผล และขัดต่อหลักความได้สัดส่วน กรณีนี้ศาลปกครองชั้นต้นอิตาลีได้พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ แต่ฝ่ายปกครองยื่นอุทธรณ์ และสุดท้ายสภาแห่งรัฐอิตาลีเห็นพ้องกับฝ่ายปกครองคือผู้บังคับบัญชาว่า คำสั่งลงโทษกักบริเวณนายตำรวจที่ตัดผมผิดระเบียบเป็นเวลา 1 วันนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจที่ชอบและเหมาะสมแล้ว

จากคดีวินัยตำรวจต่างแดน...มาดูคดีวินัยตำรวจในบ้านเรากันต่อครับ โดยอุทาหรณ์ทั้งสองคดีที่นำพูดคุยกันนี้ เป็นเรื่องของข้าราชการตำรวจที่เพิกเฉย ละเลยต่อหน้าที่ จนต้องถูกลงดาบหรือลงทัณฑ์ทางวินัย โดยคดีแรกถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และคดีที่สองถือเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง เรามาดูคดีแรกกันเลยครับ...

คดีนี้...ผู้ฟ้องคดี คือร้อยตำรวจเอกโอภาสซึ่งในขณะที่ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน กล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานบกพร่องต่อหน้าที่ราชการ กรณีทำสำนวนการสอบสวนคดีอาญาและคดีจราจรบกพร่อง ล่าช้า มีคดีค้างจำนวนมากถึงกว่า 30 คดี ผลการสอบสวนคณะกรรมการฯ เห็นว่า การกระทำดังกล่าวได้เกิดความเสียหาย แต่คดีที่ล่าช้านั้น ยังไม่ถึงที่สุด สามารถดำเนินตามกระบวนการต่อไปได้ จึงยังไม่ถึงขนาดเกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ที่จะถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หากแต่เป็นความผิดวินัยฐานไม่ประพฤติตนให้เคร่งครัดต่อมารยาทและระเบียบแบบแผนของตำรวจ เกียจคร้าน ละทิ้ง เลินเล่อต่อหน้าที่ หรือประพฤติตนไม่สมควร อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยตำรวจ พุทธศักราช 2477 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจึงมีคำสั่งให้ลงทัณฑ์กักยามเป็นเวลา 30 วัน แล้วรายงานไปยังคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ

อนุกรรมการคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยฯ พิจารณาเห็นว่าการกระทำของร้อยตำรวจเอกโอภาสซึ่งทำคดีล่าช้าจนเกิดความเสียหาย ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาล เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาได้รับประโยชน์ไม่ถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย จึงทำให้ผู้กล่าวหาในคดีและทางราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง การกระทำดังกล่าวได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีมติให้เพิ่มโทษเป็นไล่ออกจากราชการ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางจึงมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ร้อยตำรวจเอกโอภาสยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว แต่อนุกรรมการข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับการอุทธรณ์พิจารณาแล้วยกอุทธรณ์ เรื่องจึงมาสู่ศาลปกครองในที่สุด

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า... คำสั่งลงโทษทางวินัยที่ให้ร้อยตำรวจเอกโอภาสออกจากราชการนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

โดยคดีนี้ศาลปกครองชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง เนื่องจากเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการลงโทษที่หนักเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด แต่ศาลปกครองสูงสุดได้เห็นต่างโดยวินิจฉัยไว้ดังนี้ครับ

ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งเพียงประเด็นเดียวว่า การทำสำนวนการสอบสวนล่าช้าตามที่ถูกกล่าวหาไม่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการและการพิจารณาลงโทษไล่ออกจากราชการเป็นโทษที่หนักเกินสมควร ซึ่งศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การกล่าวอ้างว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถแล้ว เป็นการอ้างที่ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน โดยการทำคดีล่าช้า จนทำให้มีคดีที่ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาส่งฟ้องต่อศาลได้ 7 สำนวน และแม้ภายหลังจะสามารถติดตามตัวผู้ต้องหามาฟ้องคดีต่อศาลได้บางคดีก็ตาม แต่โดยที่คดีอาญาทั้ง 7 สำนวน แม้ทางปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะถือว่าเป็นคดีอาญาธรรมดาและประมวลกฎหมายอาญาจะกำหนดให้มีอายุความอยู่ระหว่าง 10-15 ปี แต่ก็หาแปลความได้ว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่สอบสวนใช้เวลาปฏิบัติหน้าที่ได้นานเพียงใดก็ได้ ในทางตรงกันข้าม การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวต้องอยู่ภายในบังคับแห่งกฎหมาย กฎ และระเบียบที่กำหนดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ปฏิบัติอันเป็นหลักประกันของบุคคลที่จะต้องตกอยู่ในอำนาจสอบสวนให้ไม่ต้องถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาประกอบกับคำสั่งกรมตำรวจเรื่องมาตรการควบคุม ตรวจสอบและเร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา ซึ่งบทบัญญัติและคำสั่งดังกล่าวล้วนต่างมุ่งประสงค์ให้พนักงานสอบสวนต้องทำการสืบสวน สอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และหากผู้ฟ้องคดีเอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามความเป็นจริงในทันทีที่ปรากฏว่าการสอบสวนจะเกินระยะเวลา ไม่ว่าความล่าช้าดังกล่าวจะเกิดด้วยสาเหตุใดก็ตาม ความเสียหายก็จะไม่เกิดขึ้นแก่สำนวนทั้งเจ็ดดังกล่าว

การกระทำของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ต้องหาได้รับประโยชน์ไม่ต้องถูกดำเนินคดีทั้งอาญาและแพ่ง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเป็นเหตุให้กระทบถึงความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อองค์กรตำรวจโดยรวม เป็นการไม่รักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ ในตำแหน่งหน้าที่ของตน อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติ ชั่วอย่างร้ายแรง ซึ่งความผิดวินัยฐานดังกล่าว พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ กำหนดโทษปลดออก หรือไล่ออก ตามความร้ายแรงแห่งกรณี ซึ่งความผิดวินัยฐานนี้ในขณะที่ผู้ฟ้องคดีกระทำความผิดนั้น คณะกรรมการข้าราชการตำรวจได้กำหนดระดับการลงทัณฑ์สำหรับความผิดกรณีปฏิบัติหน้าที่บกพร่องโดยเป็นพนักงานสอบสวน เกียจคร้าน ทำสำนวนล่าช้าค้างเป็นจำนวนมาก และเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงไว้เป็นมาตรฐานคือให้ไล่ออกจากราชการ (ทั้งนี้ตามมติของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ครั้งที่ 6/2530 และครั้งที่ 16/2530) ฉะนั้นการที่ ผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง มีคำสั่งเพิ่มโทษจากกักยาม 30 วัน เป็นให้ไล่ออกจากราชการจึงชอบด้วยเหตุผลและชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง (คดีหมายเลขแดงที่ อ.899/2556) เป็นอันปิดฉากชีวิตราชการตำรวจของร้อยตำรวจเอกโอภาส...

คดีต่อมา... เหตุเกิดจากตำรวจเกือบทั้งโรงพัก เพิกเฉยต่อหน้าที่ไม่ดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิด จนฝ่ายปกครองต้องลงมือจับเสียเอง โดยเรื่องมีอยู่ว่า..ฝ่ายปกครองจังหวัดพร้อมกับสมาชิกอาสาสมัครได้ร่วมกันจับกุมผู้กระทำผิดลักลอบเล่นการพนันไพ่บาร่าออนไลน์ คดีตู้เกมส์ไฟฟ้า คดีหวยใต้ดิน หวยหุ้น คดีพนันไฮโลว์ สนุกเกอร์ คดีสถานประกอบการผิดกฎหมายต่างๆ จำนวน 32 คดี มีผู้ต้องหารวม 185 ราย ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงได้มีหนังสือรายงานผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคเกี่ยวกับผลการจับกุมดังกล่าวตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของกระทรวงมหาดไทย พร้อมทั้งมีความเห็นประกอบด้วยว่า ข้าราชการตำรวจที่รับผิดชอบในพื้นที่มิได้เอาใจใส่ กวดขันจับกุม แต่กลับปล่อยปละ ละเลย เพิกเฉยต่อการกระทำผิดดังกล่าว และเชื่อว่าข้าราชการตำรวจบางนายมีส่วนได้เสียกับผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมายด้วย จึงนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้

ผลการสืบสวนเห็นว่ามีข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้น 28 นาย (ซึ่งรวมดาบเฉย ผู้ฟ้องคดีในคดีนี้ด้วย) โดยคณะกรรมการฯ มีความเห็นควรยุติเรื่องทางวินัยจำนวน 9 ราย และเห็นควรลงโทษว่ากล่าวตักเตือนจำนวน 19 ราย (รวมดาบเฉย) กรณีไม่ตั้งใจ เอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนโยบายผู้บังคับบัญชาในการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอบายมุข อันเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และได้รายงานผลการดำเนินการทางวินัยให้กองวินัยทราบ ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาผลการสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า โทษว่ากล่าวตักเตือนยังไม่เหมาะสมกับความผิด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงโทษ โดยในกรณีของดาบเฉยและตำรวจอีก 18 นาย ให้มีคำสั่งให้ลงโทษกักขังเป็นเวลา 7 วัน

ดาบเฉยไม่เห็นด้วยจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ซึ่งต่อมามีมติให้ยกอุทธรณ์ ดาบเฉยจึงนำเรื่องมาฟ้องต่อศาลปกครองปกครองชั้นต้น (อุดรธานี)

คดีมีประเด็นที่วินิจฉัยว่า การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงโทษจากว่ากล่าวตักเตือน เป็นให้ลงโทษกักขัง 7 วัน ในกรณีของดาบเฉยนั้น ถือเป็นการออกคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบหรือไม่
โดยการออกคำสั่งลงโทษดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 (มาตรา 89,91) ประกอบกฎ ก.ตร.ว่าด้วยอำนาจการลงโทษ อัตราโทษและการลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง หรือตัดเงินเดือน พ.ศ.2547 ซึ่งตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ข้าราชการตำรวจผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาสามารถใช้ดุลพินิจลงโทษได้ตั้งแต่ภาคทัณฑ์จนถึงตัดเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะสมกับความผิด ถ้ามีเหตุควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลดโทษก็ได้ แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยหรือมีเหตุอันควรลดหย่อน ซึ่งยังไม่ถึงกับต้องถูกลงโทษทัณฑกรรม ซึ่งการลงโทษตามมาตรานี้ ผู้บังคับบัญชาจะมีอำนาจสั่งลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาในสถานโทษและอัตราโทษได้เพียงใด ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.ตร. โดยเมื่อผู้บังคับบัญชาได้ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้ใดแล้วให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาที่มีตำแหน่งเหนือผู้ดำเนินการทางวินัยและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาที่ได้รับรายงานเห็นว่า การงดโทษหรือการลงโทษเป็นการไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ก็ให้มีอำนาจสั่งลงโทษ เพิ่มโทษ ลดโทษ งดโทษหรือยกโทษให้ถูกต้องเหมาะสมตามควรแก่กรณีตลอดจนแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในคำสั่งเดิมให้ถูกต้องเหมาะสมได้ด้วย ทั้งนี้ต้องไม่เกินอำนาจของตน และหากเห็นว่าการจะลงโทษหรือเพิ่มโทษนั้นเป็นกรณีการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ก็ให้รายงานต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อพิจารณาดำเนินการ

สำหรับกรณีของดาบเฉยนั้น เป็นกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 ได้มีคำสั่งให้ว่ากล่าวตักเตือน ดาบเฉยและผู้ถูกลงโทษรายอื่น โดยเมื่อมีการรายงานการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งได้พิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่เหมาะสมกับความผิด จึงใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชาที่ได้รับรายงานสั่งเพิ่มโทษเป็นกักขังเป็นเวลา 7 วัน ซึ่งอยู่ในอำนาจและอัตราโทษข้าราชการตำรวจตามที่ กำหนดไว้ในกฎ ก.ตร. อันเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด

ประเด็นที่พิจารณาต่อมาคือ การสั่งลงโทษกักยาม 7 วันนั้น เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ศาลพิเคราะห์ว่า การออกคำสั่งเพิ่มโทษของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นการออกคำสั่งตามที่กฎหมายให้อำนาจดังที่ได้วินิจฉัยแล้ว โดยกรณีดังกล่าว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาถึงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยแบ่งการลงโทษออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรก ผู้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการสถานี กลุ่มที่สอง เจ้าหน้าที่ระดับรองผู้กำกับ สารวัตร และรองสารวัตรป้องกันปราบปราม และกลุ่มที่สาม กลุ่มผู้บังคับหมู่ซึ่งรวมผู้ฟ้องคดีได้ถูกเพิ่มโทษเป็นกักยาม 7 วัน ซึ่งการพิจารณาโทษของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นการพิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งอยู่ในสายงานป้องกันและปราบปรามตามลำดับชั้น เมื่อ ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมู่งานป้องกันปราบปราม แม้ได้รับมอบหมายหน้าที่จากผู้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่งานชุมชน และงานมวลชนสัมพันธ์ โครงการตำรวจชุมชนประจำตำบล ซึ่งเป็นหน้าที่นอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่สายงานป้องกันปราบปราม ผู้ฟ้องคดียังคงมีหน้าที่หลักในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ การที่ฝ่ายปกครองจับผู้กระทำผิดได้ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ฟ้องคดี และมีการลักลอบกระทำผิดมานานแล้ว ประกอบกับเมื่อพิจารณาตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาเจ้าหน้าที่ตำรวจบกพร่องในการป้องกันและปราบปรามความผิดเกี่ยวกับอบายมุข กรณีปล่อยปละละเลยไม่สนใจปราบปรามผู้กระทำความผิดระดับเจ้าหน้าที่ชั้นประทวนให้ลงโทษกักขัง

ฉะนั้น การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นว่าโทษตักเตือนไม่เหมาะสมจึงได้มีคำสั่งเพิ่มโทษเป็นกักยาม 7 วัน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลปกครองอุดรธานีจึงพิพากษายกฟ้อง (คดีหมายเลขแดงที่ 139/2557) คดีนี้ผู้ฟ้องคดีไม่อุทธรณ์ เรื่องจึงจบลงตามนี้ครับ

จะเห็นได้ว่า.. ในการพิจารณาว่าการออกคำสั่งลงโทษทางวินัยชอบหรือไม่นั้น ศาลจะตรวจสอบว่ามีกฎหมายให้อำนาจในดำเนินการลงโทษหรือไม่ และผู้ใช้อำนาจนั้นได้ดำเนินการถูกต้องตามวิธีการขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งได้ใช้อำนาจดุลพินิจในการกำหนดโทษตามขอบเขตที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ภายใต้หลักความสมเหตุสมผลและได้สัดส่วน หรือไม่นั่นเอง

คดีข้างต้นจึงถือเป็นบทเรียนสำหรับตำรวจเฉย... ที่ละเลยต่อหน้าที่ !! ครับ

ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น