xs
xsm
sm
md
lg

บช.น.เข้มห้ามผู้ขับขี่เล่นไลน์-แชต ฝ่าฝืนปรับ 1 พัน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สแตนดี้ อุปกรณ์ติดตั้งเพื่อวางมือถือยึดติดกับพวงมาลัยรถยนต์เพื่อใช้โปรแกรมแชทในขณะขับรถ
บช.น. เข้มจับจริงผู้ขับขี่ใช้มือถือขณะขับรถ ทั้งพูดคุยเล่นแชต - ไลน์ หรือดูข้อมูลอินเทอร์เน็ต รวมทั้งติดตั้งที่วางมือถือยึดติดกับพวงมาลัยรถยนต์เพื่อแชต หรือสแตนดี้ ขณะขับขี่ ชี้เป็นการรบกวนสมาธิและเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เจอปรับ 1,000 บาท โต้เถียงจับขึ้นศาล

วันนี้ (30 ก.ค.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) รับผิดชอบงานด้านการจราจร กล่าวว่า ได้กำชับสั่งการตำรวจจราจร 88 สน. และจราจรกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) คุมเข้มกวดขันวินัยจราจรผู้ขับขี่ที่กระทำความผิดใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย หรือเล่นแชต เล่นไลน์ หรือดูข้อมูลอินเทอร์เน็ตในมือถือก็ตาม ถือว่ามีความผิด รวมถึงการนำที่วางมือถือยึดติดกับพวงมาลัยรถยนต์ เพื่อใช้โปรแกรมแชตในขณะขับรถ เป็นการกระทำที่มีความผิดทั้งสิ้น ผู้ขับขี่ไม่สามารถกระทำได้ในขณะขับขี่รถยนต์และรถจักรยายนต์เข้าข่ายความผิดใช้โทรศัพท์ขณะขับรถตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2551 มาตรา 43 ห้ามมิให้ผู้ขับรถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยมีอุปกรณ์เสริมสำหรับสนทนา (สมอลทอล์ก) เท่านั้น โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์

พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวต่อว่า การใช้ที่ตั้งมือถือที่พวงมาลัยรถ หรือสแตนดี้ เป็นการรบกวนสมาธิในการขับรถอย่างมากเนื่องจากต้องละสายตาจากท้องถนนเพื่อพิมพ์ข้อความก็ต้องละมือข้างหนึ่งไปจากการควบคุมพวงมาลัยรถ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายมีโทษปรับไม่เกิน 400 - 1,000 บาท แต่กรณีวางมือถือที่สแตนดี้ และเปิดลำโพงเสียงเพื่อสนทนานั้นไม่ถือว่าเป็นความผิด ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับการใช้สมอลทอล์ก หากตรวจพบการกระทำความผิดดังกล่าวตำรวจจราจรจะดำเนินการจับกุมทันที ทั้งนี้ หากมีกรณีโต้เถียงผู้ทำผิดไม่ยอมรับจะนำเรื่องไปสู่การพิจารณาบนชั้นศาลเพื่อดูหลักฐานพยานว่ามีเจตนาเล่นโทรศัพท์ขณะขับรถหรือไม่

รอง ผบช.น. กล่าวว่า พฤติกรรมการเล่นไลน์เล่นแชตในมือถือขณะขับรถนั้น เป็นอันตรายมาก นอกจากจะผิดกฎหมายแล้วยังส่งผลง่ายต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเป็นที่มาของการจราจรติดขัดยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ขับขี่ไม่มีสมาธิและไม่ได้สนใจเมื่อปล่อยสัญญาณไฟเขียว ทำให้รถเคลื่อนตัวช้า ซึ่งความจริงแล้วตำรวจจราจรไม่อยากจับกุมพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายบนท้องถนนมากขึ้นโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วนได้กำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มองเห็นถึงความสำคัญ เพราะหากไม่ดำเนินการตามกฎหมายก็จะส่งผลเสียในหลายด้าน อาจเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงต่อผู้ขับขี่หรือผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกันผู้ที่ขับรถจึงควรมีจิตสำนึกในการใช้ทางสาธารณะด้วยไม่ใช่คำนึงถึงความสนุกสนานเพลิดเพลินของตนเองฝ่ายเดียว


กำลังโหลดความคิดเห็น