ชมรมแพทย์ชนบท-เภสัช ยื่นดีเอสไอสอบบอร์ดองค์การเภสัชกรรมส่อทุจริต โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยา 3 แห่งที่ยังไม่แล้วเสร็จ รวมทั้งเบิกใช้จ่ายงบประมาณผิดวัตถุประสงค์ ก่อนเดินทางยื่น คสช.จี้ปลดปลัด สธ.และ ผอ.ต่อไป
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เครือข่ายองค์กรสุขภาพ นำโดยนายแพทย์วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง ในฐานะตัวแทนชมรมแพทย์ชนบท เภสัชกรหญิงศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ตัวแทนชมรมเภสัชกรชนบท นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และน.ส.แสงศิริ ตรีมรรคา ตัวแทนกลุ่มรักหลักประกันสุขภาพ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้ดีเอสไอตรวจสอบคณะกรรมการองค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ชุดที่มีนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา เป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ที่มีพฤติการณเข้าข่ายส่อทุจริต อันทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ โดยมี พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจน์นิรันดร์กิจ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 2 รับเรื่องดังกล่าวไว้ตรวจสอบ
นพ.วชิระกล่าวว่า เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ได้นำหลักฐานมามอบให้ดีเอสไอเพื่อขอให้ตรวจสอบและรับกรณีนี้เป็นคดีพิเศษ ซึ่งมีอยู่ 4 ประเด็นหลัก คือ 1. การก่อสร้างโรงงานผลิตยารังสิตของ อภ. ซึ่งก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ผอ.และบอร์ดยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง และร่าง TOR ใหม่ เอื้อแก่บริษัทที่เคยทิ้งงานและไม่ขึ้นบัญชีดำบริษัทที่ทิ้งงาน ทั้งที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยทักท้วงมา โดยที่โรงงานผลิตยารังสิตนั้นไม่สามารถสร้างเสร็จได้ทันกำหนด ส่งผลให้เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ที่มีราคาสูงเสื่อมสภาพ เพราะไม่ได้ใช้งาน และทยอยหมดอายุรับประกันตามสัญญา เช่น เครื่อง Chiller (เครื่องทำความเย็น) ราคากว่าร้อยล้านบาท ซึ่งหมดประกันไปเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
2. โรงงานผลิตยาของ อภ.ที่ถนนพระราม 6 ที่ต้องปิดปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด GMP ในเดือน ต.ค.นี้ ซึ่งถ้าโรงงานผลิตยาที่รังสิตสร้างไม่เสร็จ ก็จะเกิดปัญหาไม่มีโรงงานรองรับการผลิตยาได้เพียงพอ ส่งผลให้โรงพยาบาลประสบปัญหาการบริหารยา กระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ ผู้ป่วยเบาหวาน โรคระบบหัวใจและหลอดเหลือดนอกจากนี้ ปัจจุบันยังพบว่าโรงงานผลิตยาที่รังสิต ต้องเสียค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ เดือนละหลายแสนบาทด้วย
3. การก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหลังจากบอร์ด อภ. ปลดนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล ผอ.อภ.ในขณะนั้น แต่กลับไม่มีการเร่งรัดเพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว และ 4. ขอให้ตรวจสอบการใช้งบประมาณกว่า 12 ล้านผิดวัตถุประสงค์ของนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยนำไปมอบให้กับมหาวิทยาลัยฮาร์เวิรด์
อย่างไรก็ตาม ถ้าองค์การเภสัชกรรมมีภาวะที่อ่อนแอ ไม่สามารถผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นให้แก่ประเทศได้ จะส่งผลกระทบต่อหลักประกันสุขภาพ เพราะต้นทุนยาจะมีราคาสูงขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเครือข่ายองค์กรสุขภาพยื่นหนังสือต่อดีเอสไอแล้ว จะไปยื่นหนังสื่อถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกครั้งเพื่อขอให้ คสช.พิจารณาปลดนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา เป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากมีส่วนรับผิดชอบโดยตรงต่อความเสียหายของ อภ. นอกจากนี้จะมีหนังสือถึงซูเปอร์บอร์ด เสนอให้จัดองค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อประชาชน มุ่งเน้นบทบาทในการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศในการตั้งราคาและคิดกำไรที่สมเหตุผล ไม่มุ่งแต่แสวงหากำไร