xs
xsm
sm
md
lg

กรมคุกยันเซ็นลงนามผู้คุม 38 อัตราถูกต้อง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์
กรมราชทัณฑ์ยันเซ็นลงนามผู้คุมระดับ 8 จำนวน 38 อัตราเป็นไปตามขั้นตอนคัดเลือกถูกต้องตามระเบียบ ก.พ.

จากกรณีที่ น.ส.พรพิตร นรภูมิพิภัชน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ใช้อำนาจรักษาการอธิบดีกรมทัณฑ์ ลงนามคำสั่งเมื่อวันที่ 4 ก.ค.แต่งตั้งข้าราชการกรมราชทัณฑ์รักษาการในระดับ 8 ตำแหน่งนักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการคุมแดนในเรือนจำ ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งโยกย้าย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม มีผลเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา

วันนี้ (8 ก.ค.) ที่กรมราชทัณฑ์ นายวิทยา สุริยะวงศ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณีการลงนามคำสั่งให้ข้าราชการรักษาการระดับ 8 จำนวน 38 ตำแหน่ง ที่ น.ส.พรพิตร นรภูมิพิภัชน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ใช้อำนาจรักษาการอธิบดีลงนามก่อนตนมารับตำแหน่ง ว่าการลงนามเซ็นคำสั่งดังกล่าวก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่งมีข้อสงสัยว่าทำได้หรือไม่ และเหมาะสมหรือไม่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะมารับตำแหน่ง ดังนั้นเมื่อวานนี้ตนจึงได้สอบถามความเป็นไปได้ก่อนจะสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า การลงนามดังกล่าวเป็นเรื่องของการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ที่ปัจจุบันจะเป็นการปฏิบัติตามข้อกำหนดที่อยู่ใน พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ซึ่งวิธีการจะแตกต่างจากระบบเหมือนในอดีตที่ผ่านมา สมัยก่อนจะใช้วิธีการคัดเลือกบรรจุข้าราชการจากการสอบคัดเลือกและขึ้นบัญชีก่อนที่จะมีการบรรจุตามลำดับที่ผลการสอบที่ได้สอบไว้ แต่วิธีปัจจุบันคือจะให้แต่ละคนสมัครใจขอเข้ารับการคัดเลือกเพื่อบรรจุตามขั้นตอน ซึ่งกรมฯ ต้องมาพิจารณาเป็นรายตำแหน่งเป็นวิธีการแก้ปัญหาความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติ และความพึงพอใจของหน่วยงาน และคำสั่งที่ลงนามเซ็นคำสั่งแต่งตั้งผู้คุม 38 ตำแหน่งนั้นไม่ได้เป็นการโยกย้าย แต่เป็นกระบวนการคัดเลือก เป็นขั้นตอนที่กำหนดไว้ตามแนวทางที่ ก.พ.กำหนด โดยขั้นตอนที่หนึ่งคือการเปิดรับสมัคร อ.ก.พ.กรม หรือคณะอนุกรรมการพลเรือนกรมตั้งกรรมการขึ้นมาคัดเลือก เมื่อคัดเลือกเสร็จก็จะมีการประชุมและให้ความเห็นว่าใครเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ จากนั้นก็ทำการประกาศผล

ทั้งนี้ คำสั่งที่ลงนามเซ็นคำสั่งแต่งตั้งผู้คุม 38 ตำแหน่ง นั้นถือเป็นขั้นตอนที่ 3 คือการคัดเลือกให้ข้าราชการผู้ที่ได้รับคัดเลือกไปดำรงตำแหน่ง นอกจากนี้ คำสั่งดังกล่าวก็ยังไม่มีผลเพราะข้าราชการทั้งหมด จะต้องทำผลงานโดยการทดลองปฎิบัติหน้าที่ 2 เดือน นับจากวันประกาศซึ่ง อ.ก.พ.กรมราชทัณฑ์ ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลงานขึ้นมาอีกหนึ่งคณะ จากนั้นให้นำผลงานมานำเสนอเพื่อพิจารณาและเสนอให้กระทรวงยุติธรรมพิจารณาต่อไป เมื่อผู้ได้รับคัดเลือกผ่านการประเมินผลงานเรียบร้อยแล้วว่าสมควรจะได้รับตำแหน่งดังกล่าวได้ ทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็จะนำเสนอปลัดกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจึงจะส่งกลับมาให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ลงนามต่อไป ตามขั้นตอนจะเป็นแบบนี้ซึ่งก็เป็นขั้นตอนปกติของการบริหารราชการ อย่างไรก็ตาม หากข้าราชการผู้ที่ได้รับคัดเลือก 38 คน ทดลองงานแล้วไม่ผ่านการปฏิบัติงานก็จะทำการคัดเลือกใหม่

ด้าน น.ส.พรพิตร นรภูมิพิภัชน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ช่วงการรับคัดเลือกมันเป็นกระบวนการตามขั้นตอนของ ก.พ. ดังนั้น การประกาศผลมันก็เป็นไปตามระบบของมันอยู่แล้วซึ่งการลงนามแทนในฐานะอธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้ข้าราชการมารักษาการในระดับ 8 ไม่ใช่งานทางด้านนโยบาย และอยู่ในฐานะที่ตนสามารถกระทำได้ ไม่ใช่การตัดสินใจว่าจะเลือกใคร โดยอกพ.กรมฯได้จัดให้มีการประกาศรับสมัคร เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 56 มีการสอบคัดเลือก 16 ธ.ค. 56 - 12 ม.ค 57 และ 30 เม.ย ประกาศรายชื่อ 736 คน เพื่อกำหนดแนวทางคัดเลือกและให้พิจาณาให้เสร็จภายใน 30 มิ.ย แต่กระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวเสร็จเมื่อวันที่ 3 ต.ค และมีการเสนอมาให้เซ็นต์เมื่อเช้าวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การที่ตนต้องตัดสินใจเซ็นคำสั่งนั้น เพราะยึดหลักว่างานใดถ้าไม่ใช่งานนโยบายจะไม่รอให้งานค้าง และจะพิจารณาเซ็นลงนามไปเลย โดยที่ผ่านมาตนก็ได้มีการนามแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ในหลายเรื่องที่สำคัญ ถือเป็นงานประจำปกติ การทำงานที่ผ่านมาตนเน้นหลักธรรมาภิบาลเป็นหลัก ทำงานด้วยความโปร่งใส สุจริต และลงนามทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตนก็สงสัยว่ามันเป็นประเด็นได้อย่างไร และคิดว่ามันคงจะมีข้าราชการคนที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งนำไปพูดให้เป็นประเด็น

น.ส.พรพิตรกล่าวอีกว่า การดำเนินงานของกรมราชทัณฑ์ และการเซ็นลงนามทั้งหมดที่ผ่านมาเป็นไปตามกฎหมายทั้งสิ้น มีคนที่ไม่เข้าใจว่าอำนาจเป็นของนายสุชาติ และนายวิทยา จริงๆ อำนาจเป็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งอาจจะมอบหมายให้ตนปฏิบัติภารกิจแทนได้ การแต่งตั้งผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เข้าไปรักษาการ ถือว่าเป็นการรักษาสิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่ทดลองปฏิบัติราชการ เพื่อจัดทำผลงานก่อนมีการประเมิน โดยหลังจากข้าราชการคนใดผ่านการประเมินแล้วก็จะเสนอให้กระทรวงยุติธรรมลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป หากกรณีดังกล่าวหากอธิบดีราชทัณฑ์เห็นว่า กระบวนการสรรหาไม่ชอบก็มีคำสั่งชะลอได้ หรือสั่งล้มกระดานก็ได้ แม้ว่าตนจะเป็นผู้ลงนามไปแล้วก็ตาม ดังนั้นตนจึงมั่นใจว่าสิ่งที่ลงนามไปเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบธรรมแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น