แม่ร้องตำรวจกองปราบปรามให้ช่วยสืบสวนคดีลูกสาวเสียชีวิตด้วยการแขวนคอ เชื่อลูกไม่ได้ฆ่าตัวตายเอง พร้อมแจ้งความดำเนินคดีตำรวจกำแพงเพชรเจ้าของพื้นที่คดีที่เกิดเหตุด่วนสรุปลูกสาวผูกคอตายเอง หลังนำศพลูกสาวมาให้สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ ผ่าพิสูจน์พบ 6 ปมข้อสงสัยที่เชื่อได้ว่าผู้ตายไม่ได้แขวนคอฆ่าตัวตายเอง
วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่ กองปราบปราม 12.00 น. นางสุภาพร จิตสำราญ พร้อมด้วยญาติ เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.ดุสิต ลาวัลย์ พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ป. เพื่อให้ช่วยสืบสวนสอบสวนคดี น.ส.วัชรี สมปอง อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร อยู่บ้านเลขที่ 36 หมู 6 ต.หัวถนน อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร อายุ 19 ปี บุตรสาว เสียชีวิตภายในหอพักบ้านหัวยาง หมู่ 2 ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ในสภาพถูกรัดคอเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2556 แต่คดีไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด โดยพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกำแพงเพชร เจ้าของคดีสรุปเป็นการฆ่าตัวตาย
นางสุภาพร กล่าวด้วยว่า ตนเชื่อว่าลูกสาวไม่ได้ฆ่าตัวตายตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ สงสัยว่าบุคคลใกล้ชิดกับลูกสาวอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายในครั้งนี้ นอกจากนี้ ตนได้เข้าแจ้งความกับตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) ด้วย เพื่อให้ตรวจสอบตำรวจ สภ.เมืองกำแพงเพชร เจ้าของคดีด้วยว่าเหตุใดจึงสรุปสำนวนว่าลูกสาวฆ่าตัวตายเร็วเกินไป ซึ่งคดีมันมีข้อพิรุธหลายอย่าง เช่น วันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ส่งตัวแฟนหนุ่มที่อยู่กับลูกสาวเป็นคนสุดท้ายให้โรงพยาบาลตรวจร่างกาย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามรื้อคดีขึ้นมาสอบสวน
“ฉันมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกสาว เพราะฉันมีลูกสาวคนเดียว เพราะได้แยกทางกับพ่อของเขามาหลายปีแล้ว รักลูกเหมือนแก้วตาดวงใจ ยอมรับยังทำใจไม่ได้ที่ลูกสาวต้องมาด่วนจากไปเช่นนี้ อยากให้ตำรวจจับคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ เชื่อว่าลูกไม่ได้ฆ่าตัวตายเองอย่างแน่นอน” นางสุภาพร กล่าว
ด้านพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องไว้ก่อนนำเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป
ส่วน พ.ต.ท.ปิยพงศ์ สุตสาครเย็น นายแพทย์ สบ3 กลุ่มงานตรวจพิสูจน์สถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตร. ในฐานะแพทย์ผู้ผ่าศพชันสูตรศพ เปิดเผยว่า ญาติผู้ตายเกิดข้อสงสัยการเสียชีวิตของลูกสาว จึงได้นำศพมาให้ทางโรงพยาบาลตำรวจทำการผ่าชันสูตรพลิกศพอีกครั้ง โดยภายหลังการผ่าพิสูจน์พบข้อสงสัย 6 ประเด็น คือ 1. ตรวจไม่พบรอยกดทับบริเวณคอด้านขวา 2. พบบาดแผลฟกช้ำบริเวณกล้ามเนื้อคอด้านซ้าย กล่องเสียงซ้าย และกระดูกกล่องเสียงฟกช้ำ 3. ลักษณะร่องรอยของลำคออยู่ในแนวขนาน 4. ความรุนแรงของบาดแผลมากกว่าศพที่กระทำการผูกคอตัวเอง โดยใช้เพียงน้ำหนักของตัวเอง 5. ลักษณะของแผลที่ตรวจพบจากศพ เปรียบเทียบกับท่าของผู้ตายที่พบในที่เกิดเหตุไม่สอดคล้องกัน และ 6. จากบาดแผลดังกล่าวอาจมีความเป็นไปได้ที่ศพถูกกระทำจากจุดอื่น แล้วค่อยมาจัดให้อยู่ในท่าที่พบ