รอง ผบ.ตร.ดูแลงานด้านความมั่นคง ประเมินผลการชุมนุมกลุ่มต้านรัฐประหาร ยันมีผู้ถูกจับกุม 6 ราย ลั่นการแสดงสัญญลักษณ์ ชู 3 นิ้ว ถือว่าฝ่าฝืนกฎอัยการศึก ข้ออ้างแสดงด้วยความบริสุทธิ์ฟังไม่ขึ้น อาจถูกจับกุมตามหมายจับในภายหลัง ยันเหตุสั่งปิดถนนก่อนที่จะมีการชุมนุมเพื่อบล็อกพื้นที่และไม่ต้องการให้เผชิญหน้า เกรงจะสูญเสียทั้งสองฝ่าย
วันนี้ (2 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร. พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.ผบช.น. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. ช่วยราชการ บช.น.ดูแลงานความมั่นคง พร้อมรอง ผบช.น., ผบก.ทุกหน่วย และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมประเมินสถานการณ์การปฏิบัติหน้าที่กับผู้ชุมนุมฝ่าฝืนคำสั่งกฎอัยการศึกของ คสช. โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า วันนี้ได้เชิญผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องใน บช.น. และข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในหลายวันที่ผ่านมา ประเมินผลการชุมนุมและวางแผนการปฏิบัติในวันต่อๆ ไปเพื่อให้สอดคล้องและรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการวางกรอบ วางแผนไว้ แต่สถานการณ์บางครั้งเปลี่ยนไป จึงต้องวางแผนนโยบายในการปฏิบัติในวันต่อๆ ไป โดยเริ่มจากการประเมินสถานการณ์จากทหารที่มีฝ่ายข่าว และตำรวจที่มีฝ่ายข่าวนำมาประเมินร่วมกัน ก่อนกำหนดยุทธวิธี โดยผู้กำหนดยุทธวิธีคือทหาร เป็น ผบ.เหตุการณ์ ตำรวจเป็นผู้ให้การสนับสนุน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการที่ผู้ชุมนุมนัดหมายสถานที่ต่างๆ แล้วทำให้ต้องมีการปิดการจราจรจะแก้ไขอย่างไรไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เมื่อมีการชุมนุมปิดถนนจะมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ถนน รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจการค้าในย่านนั้นๆ ถือว่ามีความจำเป็นที่ต้องทำเช่นนั้น เพราะหัวหน้าคณะ คสช.ต้องการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียเกิดขึ้น ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม หรือทหาร ตำรวจ รวมทั้งไม่มีความต้องการไปปิดถนนเพราะทำให้ประชาชนเดือดร้อน แต่ที่ต้องปิดถนนหรือบล็อกพื้นที่ก่อนนั้นเพราะไม่ต้องการให้ผู้ชุมนุมได้ใช้พื้นที่ เพราะรู้ดีว่าเมื่อผู้ชุมนุมเข้าไป แล้วเจ้าหน้าที่เข้าไปทีหลัง มันสุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้า อาจทำให้สูญเสียทั้งสองฝ่าย ไม่ต้องการให้มีเกิดเหตุเช่นนั้นเกิดขึ้น
รอง ผบ.ตร.กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นถือว่าผู้ชุมนุมฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฝ่าฝืนกฎอัยการศึก เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นผู้ชุมนุมที่มาแสดงสัญลักษณ์ใดๆเกิดขึ้น เราต้องทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย ต้องมีการจับกุม ส่วนวิธีการจับกุมเป็นยุทธวิธีที่ทหารหรือตำรวจต้องปฏิบัติร่วมกัน ส่วนการจับกุมในภายหลังถือเป็นยุทธวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ฝากบอกว่าผู้ที่มาชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่จะถ่ายรูปไว้แล้วขออนุมัติศาลเพื่อออกหมายจับ และจะดำเนินการติดตามภายหลังในข้อหาฝ่าฝืนประกาศของ คสช. และขัดคำสั่งกฎอัยการศึก ส่วนจะไปจับที่ไหน เมื่อใด เป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติเป็นผู้ดำเนินการเอง
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้กี่ราย พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า จับกุมได้ทั้งหมด 6 ราย เมื่อจับกุมแล้ว ตำรวจจะส่งผู้ถูกควบคุมให้เจ้าหน้าที่ทหารดำเนินการต่อไป ส่วนจะขึ้นศาลหรือไม่นั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายทหารที่จะไปคัดกรองว่าการกระทำของผู้ชุมนุมผิดมากหรือน้อยเพียงใด รายละเอียดต้องให้ฝ่ายทหารเป็นผู้พิจารณา
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากผู้ชุมนุมต่อต้านยืนปกติ แล้วมีการชูสัญลักษณ์ เช่น ชู 3 นิ้ว จะถือว่ามีความผิดหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า การชุมนุมตามรัฐธรรมนูญเดิมที่ถูกพักใช้ บัญญัติว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ ไม่เป็นความผิด แต่ขณะนี้ประเทศไทยใช้กฎหมายกฎอัยการศึก จึงถือว่าเป็นความผิด ไม่ว่าท่านจะมียืนชูมือ ชูนิ้วเฉยๆ ก็ถือว่าเป็นความผิด ผู้ชุมนุมหรือประชาชนที่มาร่วมชุมนุม ไม่ว่าจะมาด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรืออุดมการณ์ หรือถูกชักชวน หรือถูกจ้าง ต้องทำความเข้าใจว่าการชุมนุมด้วยรัฐธรรมนูญที่ถูกพักไป กับการชุมนุมโดยใช้กฎอัยการศึกมันคนละเรื่องกัน จึงถือว่าเป็นความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีประกาศคณะ คสช.ฉบับที่ 49 ออกมาว่า ใครก็ตามที่ให้ใช้สถานที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรมหรือสถานที่ใดๆ กับผู้ชุมนุม จะมีความผิดกับประกาศ คสช.ฉบับที่ 49 ในฐานะผู้สนับสนุน
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า ตำรวจมีปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ไม่มี ทั้งในเรื่องเบี้ยเลี้ยง และในการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งผู้ใต้บังคับบัญชาบางราย อาจจะไม่ได้เบี้ยเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง ในจุดนี้ทาง พล.ต.ท.จักรทิพย์ก็มาช่วยแก้ปัญหา โดยนำเงินมาจ่ายให้ผู้ใต้บังคับบัญชา ภายในวันที่ 4 มิ.ย.นี้ หากเงินเบี้ยเลี้ยงไม่ถึงผู้ใต้บังคับบัญชา จะต้องมีรายงานมาชี้แจงให้ทราบ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กลุ่มต่อต้าน คสช.มีปริมาณมากหรือน้อยเพียงใด พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า หากดูจากปริมาณที่เห็นเมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) ที่ห้างเทอร์มินัล 21 กลุ่มผู้ชุมนุมมีประมาณ 20 คนที่มาแสดงสัญลักษณ์ มีบุคคลบริเวณนั้นให้ความสนใจ หรือบุคคลที่สัญจรไปมามีจำนวนมาก รวมถึงผู้สื่อข่าวก็เยอะมากเช่นกัน ส่วนกรณีที่ห้างเทอร์มินัล 21 ปิด เบื้องต้นได้ลงพื้นที่พร้อม พล.ต.ต.อำนวย และรอง ผบช.น.อีกหลายท่าน มีความเห็นว่าสถานการณ์อาจลุกลามบานปลาย อาจทำให้ไม่สามารถควบคุมได้ หรืออาจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ ร้านค้าในนั้นอาจได้รับผลกระทบ ทรัพย์สินเสียหายหรือสูญหาย จึงได้คุยผู้บริหารห้างดังกล่าวว่า ในสถานการณ์แบบนี้สมควรที่จะปิดห้างสรรพสินค้าชั่วคราวหรือไม่ ทางห้างยินดีจะปิดให้บริการชั่วคราว
รอง ผบ.ตร.กล่าวอีกว่าจะต้องปรับสถานการณ์ ที่ผ่านมามีสื่อต่างชาติเข้ามาพบแล้วบอกว่าม็อบลักษณะนี้เรียกว่าแฟลชม็อบ คือกลุ่มที่ไม่มีกำลังที่ชัดเจน แค่จะมาแสดงสัญลักษณ์ซึ่งจะไม่แสดงสัญลักษณ์เป็นเวลานานๆ เพราะรู้ว่าหากมีการชุมนุม เจ้าหน้าที่จะเข้าจับกุม ทางกลุ่มที่มาแสดงสัญลักษณ์จึงเลือกที่จะกระทำในทุกที่ เพื่อสร้างกระแส หรือในการแสดงสัญลักษณ์แต่ละครั้ง จะไม่ใช้สถานที่เดิม เพราะเชื่อว่าสื่อจะไม่ให้ความสนใจ จึงเปลี่ยนสถานที่ในการแสดงสัญลักษณ์ไปเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มลักษณะนี้มีทั่วโลก ยากต่อการป้องกัน แต่ในต่างประเทศจะต่างออกไปที่ไม่มีกฎอัยการศึก ขณะนี้กำลังในการรักษาความปลอดภัย จะมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม หากพบเห็นการชุมนุมหรือมีการแสดงสัญลักษณ์ที่ผิดกฎหมาย ให้ถ่ายภาพเก็บไว้ เพื่อยื่นขอหมายศาล และจับกุมตัวมาดำเนินคดี ส่วนการกระทำผิดในกฎหมายข้ออื่นๆ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีการทำลายรถ ก็จะมีความผิดที่ต่างออกไป โดยทั่วไปสถานการณ์ยังไม่มีความรุนแรง อย่างกรณีเดินมา 3-4 คน แล้วมาชูป้ายต่อหน้านักข่าว หรือถ่ายภาพกันเอง แล้วอัปโหลดลงโซเชียลมีเดีย เชื่อว่าทุกการชุมนุมมีที่มาที่ไปแน่นอน