xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง “กลุ่มก่อการร้ายเบอร์ซาตู” แบ่งแยกดินแดนรัฐใต้ ยิงตำรวจดับ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ยืนยกฟ้อง “กลุ่มก่อการร้ายเบอร์ซาตู” แบ่งแยกดินแดนรัฐใต้ ยิงตำรวจเสียชีวิต ชี้พยานหลักฐานยังไม่เพียงพอว่าจำเลยทั้ง 5 รายได้ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (11 เม.ย.) ที่ห้องพิจารณา 710 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีก่อการร้ายหมายเลขดำ 1021/48 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้องนายมุสตอปา เจ๊ะยะ, นายอิลยาส หรืออิสยาส มันหวัง, นายอุสมาน ปะชี, นายยูไล โสะปนแอ และนายมะอาซี บุญพล ทั้งหมดเป็นสมาชิกขบวนการเบอร์ซาตู ในกลุ่มบีอาร์เอ็น คอร์ดิเนต ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1

คดีนี้อัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดสรุปว่า ระหว่างเดือน พ.ย. - 29 ธ.ค. 2547 จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายและก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ ในเขตพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อแบ่งแยกดินแดน โดยใช้ปืนฆ่าตำรวจเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน มุ่งหมายเพื่อบังคับขู่เข็ญรัฐบาลไทยให้ยินยอมแบ่งแยกดินแดนใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของ จ.สงขลา ออกจากราชอาณาจักร เพื่อสถาปนาเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง เรียกว่ารัฐปัตตานีหรือรัฐปัตตานีดารุสสาลาม โดยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2547 จำเลยทั้งห้าร่วมกันวางแผนและยิง ด.ต.โมหามัด เบญญากาจ ถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เหตุเกิดที่ ต.บานา สะบารัง ตะลุโบ๊ะ อ.เมืองปัตตานี ต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและซิมการ์ดที่ใช้ติดต่อสื่อสารไว้เป็นของกลางได้ จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ

โดยศาลชั้นต้นศาลพิเคราะห์แล้วคดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันฆ่าผู้ตายหรือไม่ เห็นว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดที่ยืนยันบ่งชี้ให้ชัดเจนว่าใครเป็นคนร้ายยิงผู้ตาย มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยทั้งห้าที่เขียนด้วยลายมือตนเอง แม้โจทก์จะมีนายชาลี กระแสร์ ทนายความยืนยันว่าจำเลยให้การด้วยความสมัครใจไม่มีการข่มขู่ก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธอ้างว่าให้การชั้นสอบสวนโดยไม่สมัครใจ และเมื่อพิจารณาระยะเวลาในช่วงการสอบสวนจำเลยเป็นเวลากลางคืนและในช่วงเวลาดังกล่าวติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง ย่อมทำให้จำเลยทั้งห้าเกิดความเครียดและไม่อยู่ในวิสัยของปุถุชนจะให้การได้อย่างสมบูรณ์ตามกฎหมายที่ต้องปฏิบัติต่อจำเลยในการสอบสวน อีกทั้งเจ้าพนักงานไม่สามารถตรวจยึดอาวุธปืน หรือมีประจักษ์พยานเห็นคนร้ายลงมือยิงผู้ตาย พยานหลักฐานเท่าที่นำสืบในคดีที่มีโทษสูงเช่นนี้ โจทก์ต้องมีพยานที่มั่นคงที่รับฟังได้โดยชัดเจนว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด แต่ในคดีนี้พยานหลักฐานดังกล่าวยังไม่อาจยืนยันได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำผิด

คดีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันก่อการร้ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดยืนยันว่าการโทรศัพท์ติดต่อกันของพวกจำเลยเป็นการพูดคุยเพื่อก่อการร้ายหรือกระทำผิดร่วมกัน และเป็นบุคคลที่เข้าร่วมในขบวนการก่อการร้ายสร้างความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ และเป็นผู้ร่วมปฏิบัติการยิงผู้ตายเพื่อก่อการร้าย หรือเป็นสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น นอกจากนี้ยังได้ความจากเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายการข่าว และปลัดอำเภอเมืองปัตตานี เบิกความว่าไม่ปรากฏชื่อจำเลยทั้งห้าเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายสร้างความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือมีชื่ออยู่ในสารบบผู้ก่อการร้าย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันก่อการร้ายแต่อย่างใด พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้า แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อศาล

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งห้ากระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีพยานเบิกความรวม 22 ปาก แต่ไม่มีพยานหลักฐานเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงว่าจำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้ายขบวนการเบอร์ซาตูในกลุ่มบีอาร์เอ็น แม้พยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเบิกความว่าได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของจำเลยมาโดยตลอด พบว่าจำเลยทั้งห้ามีการใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารพูดคุยกัน แต่ก็ยังไม่มีมูลว่าจำเลยทั้งห้าเป็นสมาชิกกลุ่มก่อการร้าย เพียงแค่การใช้โทรศัพท์พูดคุยกัน ยังรับฟังไม่เพียงพอว่าจำเลยได้ร่วมกันก่อการร้ายและกระทำผิดก่ออาชญากรรมอื่นๆ แม้พยานโจทก์จะอ้างว่าได้เฝ้าดูพฤติกรรมของจำเลยอยู่หลายจุด แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคนร้ายที่ยิงผู้ตายเป็นใคร และหลังเกิดเหตุก็ไม่ได้มีการจับกุมจำเลยในทันที พยานหลักฐานจึงยังไม่มีน้ำหนักรับฟังได้เพียงพอ โจทก์มีเพียงคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเท่านั้น และจำเลยก็เบิกความยืนยันว่าถูกบังคับให้รับสารภาพมาโดยตลอด พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยไม่เพียงพอให้ลงโทษได้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง
(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น