เลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรม เผย ยอมไม่ได้ มือมืดใช้อาวุธสงครามยิงข่มขู่ศาล พร้อมให้รวบรวมหลักฐานเอาผิดพวกโพสต์ข้อความหมิ่นและคุกคามผู้พิพากษา ยันไม่กระทบการพิจารณาคดี เพราะทำตามอำนาจหน้าที่ โดยไม่หวั่นไหว หรือหวาดกลัวอันตราย
วันนี้ (24 ก.พ.) ที่สำนักงานศาลยุติธรรม ชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงข่าวถึงกรณีเหตุการณ์คนร้ายลอบยิงระเบิด เอ็ม 79 เข้าใส่อาคารศาลอาญาและลานจอดรถของศาลแพ่ง และเหตุการณ์กลุ่มผู้ชุมนุมมาวางพวงหรีด จุดธูป และชูป้ายข้อความประท้วงต่างๆ ว่า นายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา ได้แสดงความห่วงใยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว พร้อมทั้งมอบนโยบายเพื่อวางมาตรการรักษาความปลอดภัยให้เหมาะสม ทั้งนี้ยืนยันว่าศาลได้พิพากษาคดีโดยปราศจากอคติ มีความเป็นธรรม กระบวนการโปร่งใส ไม่เข้าข้างใคร พิจารณาไปตามพยานหลักฐาน ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดไม่กระทบต่อผู้พิพากษาในการพิจารณาคดี เพราะผู้พิพากษาพิจารณาคดีโดยปราศจากอคติ พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของกฎหมาย ไม่หวาดกลัวอันตรายและไม่หวั่นไหว รวมทั้งการพิจารณาคดีเป็นไปอย่างเปิดเผย มีการประชุมเป็นองค์คณะ และหากคู่ความไม่พอใจก็เปิดโอกาสให้ต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ โดยสามารถยื่นอุทธรณ์และฎีกาได้
นายภัทรศักดิ์ วรรณแสง กล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่าในสังคมออนไลน์มีพฤติการณ์ที่โพสต์ข้อความและโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสม โดยการข่มขู่คุกคามการทำงานของศาลและผู้พิพากษา ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำและต้องการหวังผลอะไร แต่ขอบอกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีแก่ประเทศชาติ มีแต่จะสร้างความเสียหาย ส่วนเรื่องที่มีกลุ่มบุคคลประพฤติตนไม่เหมาะสมเป็นอำนาจของศาลแพ่งที่จะดำเนินคดีในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ส่วนทางศาลอาญาจะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งผู้ก่อเหตุและผู้จ้างวานซึ่งจะต้องนำตัวมาลงโทษให้ได้ โดยจะดูว่าสามารถเอาผิดในข้อหาใดได้บ้าง
เลขาศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า ส่วนด้านมาตรการรักษาความปลอดภัย ได้มอบนโยบายให้แก่ศาลทั่วประเทศเพื่อรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองผู้พิพากษา ส่วนบริเวณศาลอาญา รัชดาภิเษก ก็ได้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด มีการตรวจตราอาวุธและยานพาหนะที่ผ่านเข้าออกอย่างละเอียด รวมทั้งตรวจค้นตัวบุคคลอย่างเข้มงวดด้วยเช่นกัน แต่อาจจะทำให้กระทบต่อประชาชนที่มาติดต่อราชการบ้าง
ทั้งนี้ ผบ.ตร. มอบหมายให้ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.หารือความร่วมมือเพื่อสืบสวนหาตัวคนร้ายที่ก่อเหตุ และป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้นอีก เพราะว่าศาลเป็นที่พึ่งของประชาชน การใช้อาวุธสงครามถือว่ารับไม่ได้ โดยจะเร่งติดตามจับกุมผู้กระทำผิดและผู้จ้างวาน เพื่อนำตัวมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ถือว่าคดีมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ส่วนกรณีคนที่โพสต์ข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมนั้น ก็จะเร่งติดตามตัวมาดำเนินด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาให้ประชาชนกลับคืนมา
“เรื่องดังกล่าวมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับใคร มีแต่จะทำให้เรื่องเลวร้ายขึ้น และไม่ได้เป็นการช่วยแก้ปัญหา แต่กลับเป็นการก่อปัญหาขึ้นใหม่ ขอให้เห็นแก่ประเทศชาติเป็นหลัก ยืนยันว่าสิ่งที่ผู้ก่อเหตุทำไม่ได้สร้างความหวั่นไหวต่อการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา ตนได้สั่งให้เร่งดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ทั้งผู้กระทำผิดและผู้จ้างวานเพื่อนำตัวมาลงโทษให้ได้ ซึ่งขณะนี้คดีมีความคืบหน้าไปมากพอสมควร แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้” เลขาฯสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศรส.ยื่นหนังสือขอคำชี้แจงจาก นายสุทธินันท์ เสียมสกุล อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งจะมีการดำเนินการอย่างไร นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ปกติแล้วศาลจะมีการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการหารือในด้านธุรการมากกว่า ซึ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม ยื่นหนังสือมานั้นไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งว่าจะดำเนินการอย่างไร
เมื่อถามว่าสำนักงานศาลยุติธรรมเชื่อว่าเหตุยิงระเบิดเอ็ม 79 มาจากคำพิพากษาของศาลหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่การจากพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบเพียงว่าเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นภายหลังจากที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเพียงแค่ไม่กี่วัน ซึ่งเรื่องนี้นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ได้ระบุว่าศาลก่อตั้งมากว่า 130 ปี ก็ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มาก่อน ที่คนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงใส่ศาลถึง 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ จึงถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่ศาลยอมรับไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการใช้อาวุธสงครามที่ร้ายแรง และยังเป็นการคุมคามการพิจารณาคดีพิพากษาของศาล
เมื่อถามว่ากระแสสังคม มีส่วนในการพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ นายภัทรศักดิ์ กล่าวว่า กระแสสังคมเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน มีเกิดขึ้นและมีเสื่อมสลายไป แต่สิ่งที่มีอยู่ตลอดก็คือกฎหมาย เราจะนำกระแสสังคมมาพิจารณาไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่รับฟังเลย เพราะไม่ใช่หลักสำคัญในการพิพากษา โดยจะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงเฉพาะในสำนวนเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องฟังกระแสสังคมหรือพยานหลักฐานภายนอกสำนวน ส่วนคำพิพากษาของศาลนั้นไม่เหมือนคำสั่งในทางปกครอง ซึ่งเป็นการพิจารณาระบบองค์คณะ ซึ่งประชาชนสามารถรับทราบได้จากรูปแบบในคำพิพากษาของศาลฎีกา