ศาลแพ่งยกคำร้องไม่คุ้มครองชั่วคราวกระทรวงการคลัง ขอให้ “สุเทพ” และกลุ่มผู้ชุมนุมโค่นทักษิณ ออกจากพื้นที่ ระบุ จนท.มีอำนาจบังคับใช้ กม.ความมั่งคง ได้อยู่แล้ว
ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (27 พ.ย.) ศาลแพ่งอ่านคำสั่งขอคุ้มครองชั่วคราวคดีหมายเลขดำ 4844/2556 ที่กระทรวงการคลัง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำกลุ่มต่อต้านพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมและโค่นล้มระบอบทักษิณ เป็นจำเลย เรื่องขับไล่ที่ พร้อมเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดที่บุกเข้าไปในพื้นที่กระทรวงการคลัง กรมธนารักษ์ สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และกรมบัญชีกลาง 536,986.30 บาท โดยกระทรวงการคลังขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวให้จำเลยและมวลชนออกจากกระทรวงการคลังและหน่วยงานอื่นในบริเวณใกล้เคียง
โดยวันนี้ในการฟังคำสั่งมีอัยการที่รับมอบจากกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ และทีมที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายกระทรวงการคลังเดินทางมาศาล ขณะที่คดีนี้ศาลได้ดำเนินการไต่สวนพยานโจทก์ไป 2 ปาก ประกอบด้วย ที่ปรึกษากฎหมายกระทรวงการคลัง และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกระทรวงการคลัง ถึงพฤติการณ์นำมวลชนบุกรุกเข้าไปในสถานที่ราชการและความเสียหายที่เกิดขึ้นจนเสร็จสิ้นตั้งแต่เมื่อค่ำวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา
ศาลได้พิจารณาคำฟ้องแล้วโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นแกนนำกลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ร่วมกันปลุกระดมมวลชนจำนวนหลายพันคนไปปิดล้อมกระทรวงการคลังและส่วนราชการอื่นๆ และได้ตัดกระแสไฟฟ้า น้ำประปา รวมทั้งส่งเสียงดังทำให้ข้าราชการโจทก์เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายจนไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งการกระทำของจำเลยกับพวกส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบการเงินและการคลังของประเทศ โดยมีเจตนาเพื่อไม่ให้ส่วนราชการดังกล่าวได้จัดส่งงบประมาณให้รัฐบาลไปใช้ในการบริหารประเทศ
ศาลได้ไต่สวนพยานหลักฐานฝ่ายโจทก์แล้วได้ความว่า หลังจากที่จำเลย มวลชนและประชาชนจำนวนมากเข้าไปในพื้นที่ของกระทรวงการคลัง และหน่วยงานราชการอื่นในบริเวณใกล้เคียงแล้ว ในวันเดียวกันได้มีประกาศเรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งกำหนดให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร นอกจากนี้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 5 ได้กำหนดให้ กอ.รมน.มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร และได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีฐานะหัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำการที่กระทบต่อระบบการเงิน การคลังของประเทศและความมั่นคงของชาติ ก็ย่อมเป็นอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่จะดำเนินการบังคับให้เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าว ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวนั้นได้รวมถึงอำนาจในการที่จะสั่งให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ที่พิพาทอยู่แล้วด้วย ทั้งการดำเนินการบังคับตาม พ.ร.บ.มั่นคงฯ ย่อมมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดียิ่งกว่าการใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นอกจากนี้ ก็ปรากฏจากคำเบิกความของประธานรักษาความปลอดภัยในกระทรวงโจทก์ว่า ศาลอาญาได้ออกหมายจับจำเลย เนื่องจากการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำมาฟ้องในคดีแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะนำวิธีการชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 วรรคสอง ประกอบมาตรา 266 มาใช้ในคดีนี้อีก จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ขณะที่แหล่งข่าวแจ้งว่า หลังจากนี้จะนำคำสั่งศาลวันนี้ไปปรึกษากับทีมกฎหมายกระทรวงการคลังก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งขั้นตอนต่อไปตามกฎหมายสามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล หรือจะยื่นฟ้องใหม่ได้ แต่ต้องมีเหตุใหม่ที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ เพียงแต่ขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์คำสั่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร ส่วนเนื้อหาคดีหลักที่ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายนั้น ศาลจะนัดพิจารณาครั้งแรกวันที่ 3 ก.พ. 2557 เวลา 09.00 น.