แฮก ATM ทหารไทย เสียหาย 10 ราย สูญเงินกว่า 6 แสนบาท ตร.พบเบาแสะปลายทางโผล่กดเงินที่ จ.สงขลา เตรียมสืบหาตัวคนร้ายตรวจกล้องวงจรปิด เตือน ปชช. ควรระมัดระวังใช้มือบังรหัสระหว่างกดเงิน
วันนี้ (13 พ.ย.) นายอนุพล ภูวพูนผล อายุ 53 ปี ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารธุรกิจ บริษัท ฟาร์อีสดีดีบี จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่เงินหายไปจากบัญชีธนาคารทหารไทย สาขาพญาไท จำนวน 400,000 บาท ได้พาผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบตู้เอทีเอ็มของธนาคารทหารไทย ที่อาคารซีพีทาวเวอร์ 3 ที่คาดว่าเป็นตู้เอทีเอ็มที่ถูกโจรกรรมข้อมูลบัตรไป
นายอนุพล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ตนเองได้รับแจ้งจากทางธนาคาร ว่า พนักงานในบริษัทมีเงินหายไปจากบัญชีหลายราย จึงได้นำสมุดบัญชีไปตรวจสอบที่ธนาคาร ปรากฏว่าเงินถูกถอนไป 20 ครั้ง ครั้งละ 20,000 บาท เป็นเงิน 400,000 บาท สำหรับพนักงานในบริษัท 6-7 คน เงินก็หายไปจากบัญชี ตั้งแต่ 500 บาท จนถึงหลักหมื่นบาท จึงได้ไปแจ้งความเอาไว้ ทางธนาคารก็รับผิดชอบจำนวนเงินที่หายไปทั้งหมด
นายอนุพล กล่าวว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ธนาคาร ทราบว่าเงินได้ถูกกดจากเอทีเอ็ม ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบกล้องวงจรปิดหน้าตู้เอทีเอ็มที่เงินถูกกดออกไป
พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ ศรีประเสริฐ รอง ผกก.สส.สน.พญาไท กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ทำการตรวจสอบตู้เอทีเอ็มที่ผู้เสียหายสงสัย และสอบสวนเจ้าหน้าที่ธนาคารเอาไว้แล้ว เบื้องต้นตอนนี้มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความแล้วจำนวน 10 ราย โดยทั้งหมดเป็นลูกค้าของธนาคารทหารไทย สาขาพญาไท รวมยอดเงินที่หายไป ประมาณ 6 แสนกว่าบาท จากการตรวจสอบที่ตู้เอทีเอ็มที่สงสัยก็ไม่พบเครื่องสกิมเมอร์ หรือความผิดปกติ ถ้ามีการติดเครื่องสกิมเมอร์จริงก็น่าจะถอดออกไปแล้ว ตอนนี้จึงยังไม่แน่ชัดเรื่องของต้นทางที่ขโมยข้อมูลบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายไป แต่ปลายทางที่มีการถอนเงินจากเอทีเอ็มออกไปอยู่พื้นที่ จ.สงขลา ในช่วงดึกของวันที่ 11 พ.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 12 พ.ย. ได้ประสานไปยังศูนย์สืบสวน บช.ภ.9 ในประสานขอภาพวงจรปิดจากตู้เอทีเอ็มที่มีการมาถอนเงินออกไปเพื่อสืบหาตัวคนร้าย
พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า คาดว่าคนร้ายทำกันเป็นขบวนการ และเป็นไปได้สูงว่าเป็นคนไทยหรือไม่ก็แก๊งชาวมาเลเซีย เพราะไปกดเงินในพื้นที่ภาคใต้ คาดว่าขบวนการนี้น่าจะมีการสกิมเมอร์ข้อมูลจากตู้เอทีเอ็มหลายๆ ตู้ รวบรวมข้อมูล 1-2 เดือนแล้ว ก่อนที่จะไปกดเงินในวันที่ 11 ต่อเนื่องวันที่ 12 พร้อมๆ กัน เชื่อว่าน่าจะเป็นคนละแก๊งกับที่ทำในพื้นที่ สน.ลุมพินี เพราะที่ สน.ลุมพินี เงินออกไปนอกประเทศ แต่ลักษณะการโจรกรรมข้อมูลน่าจะใกล้เคียงกัน ตอนนี้อยู่ระหว่างการสืบสวน และจะกลับไปดูข้อมูลเก่าเมื่อปี 2550-2551 ที่เคยเกิดเหตุลักษณะนี้ระบาด
รอง ผกก.สส.สน.พญาไท กล่าวต่อว่า หลังจากเมื่อปี 2550-2551 ที่เกิดเหตุลักษณะนี้บ่อยครั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกกฎให้ตู้เอทีเอ็มทุกตู้ติดตั้งระบบป้องกันการสกิมมิงเอาไว้ ซึ่งทุกตู้ก็มีระบบป้องกันแต่คนร้ายน่าจะมีการพัฒนาจนสามารถสกิมมิงข้อมูลได้อีก ตอนนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นห่วงมากกำลังหามาตรการป้องกันและส่งทีมมาช่วยเจ้าหน้าที่ตำรวจทำงาน ทำให้ตำรวจทำงานได้ง่ายขึ้น
รอง ผกก.สส.สน.พญาไท กล่าวอีกว่า ฝากไปยังประชาชนที่เป็นกังวลเรื่องนี้ แนะนำให้กดเงินที่ตู้เอทีเอ็มที่มีคนพลุกพล่าน เพราะยากที่คนร้ายจะไปติดเครื่องสกิมเมอร์เอาไว้ และให้เอามือปิดรหัสเอาไว้เวลากดเงินเพราะคนร้ายแม้จะได้ข้อมูลบัตรไปแล้วต้องใช้รหัสในการกดเงินจึงจะกดเงินออกมาได้ ซึ่งวิธีที่คนร้ายจะได้รหัสไปคือติดกล้องที่ตู้เอทีเอ็มเพื่อให้เห็นตอนกดและติดแป้นพิมพ์ลักษณะคล้ายซิลิโคนซ่อนไว้ที่ตัวเลขที่กดเพื่อบันทึกข้อมูลรหัสเมื่อเรากด
พ.ต.ท.ธีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของธนาคารควรที่จะฝึกอบรมพนักงานที่ต้องไปเติมเงินที่ตู้เอทีเอ็มให้สามารถตรวจสอบตู้เอทีเอ็มได้ดัวยว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ สำหรับคดีนี้คงไม่มีการไปรวมกับคดีที่เกิดขึ้นที่สน.ลุมพินี แต่หากพบว่าเข้าองค์ประกอบที่จะส่งให้ทาง บก.ปอท.ทำคดีก็จะพิจารณาส่งให้ บก.ปอท.ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาสอบสวน