xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ยืนคุก 2 ปี “ปริญญา นาคฉัตรีย์” อดีต กกต.ขึ้นเงินเดือนตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายปริญญา นาคฉัตรีย์ อดีต กกต.
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 2 ปี รอลงอาญา “ปริญญา นาคฉัตรีย์” อดีต กกต.ยุค 3 หนาขึ้นเงินเดือนตัวเอง ศาลชี้ผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 905 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 5 เป็นโจทก์ฟ้องนายปริญญา นาคฉัตรีย์ นายวีระชัย แนวบุญเนียร (เสียชีวิตแล้ว) พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต.ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ตามลำดับ ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อาญา ม.157 เป็นเวลาคนละ 2 ปี จำเลยให้การปฏิเสธ อ้างว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เพราะมีหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้ง และบริหารสำนักงาน กกต.เท่านั้น

คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2552 สรุปความผิดว่า เมื่อระหว่างวันที่ 16 ส.ค. - 28 ก.ย. 2547 จำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีมติเห็นชอบร่างระเบียบ กกต.ว่าด้วยการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษของประธานและกรรมการ กกต. พ.ศ. 2547 แล้วต่อมามีการประชุมแก้ไขเป็น ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนแก่ประธาน และกรรมการ กกต.กำหนดเงินค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ลักษณะเหมาจ่ายเป็นรายเดือนให้แก่พวกจำเลย เดือนละ 20,000 บาท โดยให้ใช้บังคับย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2547 ทั้งที่จำเลยทั้งสองกับพวกไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย

ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อ 29 ธ.ค. 2553 ว่าจำเลยทั้งสี่กระทำผิดตามฟ้องจริง ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ป.อาญา ม.157 แต่พิเคราะห์ประวัติการศึกษาและรับราชการ อีกทั้งไม่ปรากฏมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสี่ มีเหตุควรปรานีให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ต่อมาจำเลยที่ 1-2 ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ซึ่งวันนี้ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ จำเลยที่ 1 และทนายความจำเลยที่ 1 และ 2 เดินทางมาฟังคำพิพากษาของศาล

โดยศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นนายวีระชัย จำเลยที่ 2 เสียชีวิตแล้วจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี มีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 บัญญัติว่า การปฎิบัติหน้าที่ กกต. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.วิอาญา และการที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช.แต่งตั้ง อนุกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนคดีนี้จำนวน 3 คนนั้น แม้ พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. พ.ศ. 2541 มาตรา 45 บัญญัติให้มีกรรมการ ป.ป.ช.1 คน เป็นเพียงการกำหนดขั้นต่ำไม่ได้ห้ามมิให้มีเกิน ซึ่งการแต่งตั้งอนุกรรมการ ป.ป.ช.มากกว่า 1 คน ก็ไม่ได้กระทบกับการไต่สวนและจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย ดังนั้นการไต่สวนของ ป.ป.ช.จึงชอบแล้วและโจทก์มีอำนาจฟ้อง

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 27 กำหนดให้ กกต.มีอำนาจเพียงออก ระเบียบบริหารบุคคล ทรัพย์สินหรือจ่ายค่าตอบแทนให้กับเลขาธิการ รองเลขาธิการ และลูกจ้าง เท่านั้น จำเลยไม่มีอำนาจกำหนดค่าตอบแทนให้กับตนเอง การที่จำเลยได้ร่วมประชุมกับ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. และลงนามออกระเบียบค่าค่าตอบแทนดังกล่าวให้กับตนเองจึงเป็นการออกระเบียบโดยมิชอบ ที่จำเลยอ้างว่าขาดเจตนาและคืนเงินให้กับสำนักงาน กกต.แม้เป็นเจตนาอันดี แต่ก็ไม่อาจทำให้ความผิดที่สำเร็จแล้วเป็นไม่ผิดได้ นั้น จึงเป็นความผิดที่สำเร็จแล้วแม้ว่าจะยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ตาม เนื่องจากที่ประชุมได้กำหนดให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2547 และต่อมาแก้ไขเป็นวันที่ 1 ก.ย. 2547 จำเลยที่ 1มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม ม.157 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี และให้รอการลงโทษนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยพิพากษายืน

ภายหลังนายปริญญาระบุว่าจะยื่นฎีกาในประเด็นที่ได้ทำบันทึกคัดค้านเกี่ยวกับมติการขึ้นเงินเดือนของคณะกรรมการ กกต.แล้วในขณะนั้น แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ และได้มีเงินโอนเข้าบัญชีจำนวน 2 หมื่นบาทจริง แต่ตนก็ได้คืนเงินดังกล่าวไปแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น