เลขาธิการเนติบัณฑิต เผย “เสริม สาครราษฎร์” ผู้ต้องขังคดีฆ่าแฟนสาวอดีต นร.แพทย์ ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่สามารถสมัครเนติบัณฑิตได้ ด้านสภาทนายความ ระบุ พ้นคุกไม่ถึง 5 ปี สมัครเป็นทนายความไม่ได้
วันนี้ (18 ต.ค.) นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะ เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เปิดเผยกรณีที่ นายเสริม สาครราษฎร์ อดีตผู้ต้องขังเด็ดขาด โทษประหารชีวิต แต่ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ในคดีฆ่าหั่นศพ น.ส.เจนจิรา พลอยองุ่นศรี แฟนสาว นักเรียนแพทย์วชิรพยาบาล เมื่อปี 2544 ไม่ผ่านข้อบังคับการสมัครเป็นสมาชิกวิสามัญเนติบัณฑิต ว่า ตามข้อบังคับของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ.2507 ได้กำหนดให้ผู้ที่สมัครเป็นสมาชิกวิสามัญ จะต้องไม่เคยต้องคำพิพากษาจำคุกบทหนักสุดให้ประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต หากเป็นข้าราชการก็ต้องไม่เคยถูกตั้งกรรมการสอบวินัย ซึ่งคณะกรรมการของเนติบัณฑิตยสภา ได้พิจารณาถึงความเหมาะสม และความร้ายแรงของคดีของ นายเสริม สาครราษฎร์ แล้ว จึงมีมติไม่รับเข้าเป็นสมาชิกวิสามัญ อย่างไรก็ตาม หากบุคคลใดถูกลงโทษแบบลหุโทษ หรือโทษสถานเบา หรือโทษปรับ เล็กๆ น้อยๆ ก็จะได้รับการยกเว้น
ด้าน นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวถึงกรณีที่ นายเสริม สมัครสอบขอรับใบอนุญาตว่าความของสภาทนายความ ว่า สำหรับขั้นตอนในการสมัครสอบขอรับใบอนุญาตว่าความนั้น จะต้องผ่านการสอบภาคทฤษฎี ภาคปฏิบัติ สอบปากเปล่า และอบรมจริยธรรมอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ถึงจะครบหลักสูตรและได้ใบประกาศนียบัตร รวมทั้งจะต้องเป็นสมาชิกวิสามัญเนติบัณฑิตด้วย แต่ตามข้อบังคับของสภาทนายความ บุคคลที่ต้องโทษและคดีมีคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุด หากมาสมัครเป็นทนายความนั้น จะต้องได้รับการพ้นโทษมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี พร้อมทั้งจะต้องดูรายละเอียดในคดีว่าเป็นคดีที่ร้ายแรงหรือไม่ และทำให้อาชีพทนายความเกิดความเสื่อมเสียหรือไม่ ซึ่งในส่วนของ นายเสริม ตนยังไม่พบว่ามีรายชื่อขอใบอนุญาตว่าความของสภาทนายความแต่อย่างใด
ทั้งนี้จากการพิจารณาจากคุณสมบัติของนายเสริม เบื้องต้นนั้นทราบว่า ยังพ้นโทษไม่ครบ 5 ปี ซึ่งตามระเบียบผู้ที่สมัครเป็นทนายนั้น จะต้องไม่เคยถูกศาลพิพากษาจำคุกให้คดีถึงที่สุด ยกเว้นในคดีลหุโทษ หรือคดีกระทำโดยประมาท แต่หากต้องโทษในคดีอุกฉกรรจ์ เช่น จ้างวานฆ่า หรือฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือถูกให้ออกจากราชการเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่นั้น จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าพฤติการณ์ในคดีเป็นอย่างไร เพื่อพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้สำหรับกรณีของนายเสริม ทางสภาทนายความก็ไม่ได้ปิดกั้นโอกาส ซึ่งนายเสริมสามารถไปสอบขอรับใบประกาศนียบัตรได้ แต่ตนไม่ทราบว่านายเสริมผ่านขั้นตอนการอบรมแล้วหรือไม่