ดีเอสไอ สรุปคดีบุกรุกที่ดินสาธารณะ อ.อ่าวนาง จ.กระบี่ มูลค่าความเสียหายกว่า 110 ล้านบาท พบเจ้าหน้าที่ดินมีเอี่ยว ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ฟันผิด
เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (2 ต.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงยุติธรรมถึงการดำเนินคดีกรณีการบุกรุกที่สาธารณะบริเวณหมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 3 อ.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ว่า สืบเนื่องจากสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ได้ร้องขอให้ดีเอสไอทำการสืบสวนสอบสวนกรณีมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบบนที่เขาหรือภูเขา หมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 3 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษ ได้รับเป็นคดีพิเศษที่ 29/2551
นายธาริต กล่าวว่า จากการสอบสวนพบว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นที่เขาและภูเขา มีความลาดชันมาก ติดต่อกับหาดนพรัตน์ธารา และหาดอ่าวนาง สภาพโดยทั่วไปมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ โดยพื้นที่ที่ทำการตรวจสอบมีเนื้อที่รวมประมาณ 300 ไร่ ที่ดินมีมูลค่าซื้อขายในปัจจุบันไร่ละประมาณ 10 ล้านบาท มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้กลุ่มผู้บุกรุกได้ยื่นขอออกโฉนดที่ดินต่อศูนย์เดินสำรวจออกโฉนดที่ดินจังหวัดกระบี่-พังงา จำนวน 14 แปลง และได้ออกเอกสารสิทธิไปแล้วจำนวน 2 แปลง ได้แก่ โฉนดเลขที่ 35322 ของนายพิชัย ซงดี เนื้อที่ 7-2-87 ไร่ และโฉนดเลขที่ 49468 ของนายณรงค์ เธียรธุมา เนื้อที่ 3-1-72 ไร่ ซึ่งเอกสารสิทธิทั้ง 2 แปลงนี้ มีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก 1.การออกโฉนดเลขที่ 35322 เป็นการออกในเขตป่าไม้ถาวร (มีการปลอมหนังสือกรมพัฒนาที่ดินในเรื่องการกำหนดเขตป่าไม้ถาวรอันเป็นเท็จ) ในที่เขาหรือภูเขา และไม่มีการทำประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างว่าทำประโยชน์มาก่อนปี 2497 และ 2.การออกโฉนดเลขที่ 49468 เป็นการออกในที่เขาหรือภูเขา และไม่มีการทำประโยชน์ตามที่กล่าวอ้างว่าทำประโยชน์มาก่อนปี 2497
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวอีกว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงได้กล่าวโทษเจ้าพนักงานที่ดินและเจ้าของที่ดินในความผิดต่อเจ้าพนักงาน และได้ส่งเรื่องให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว (ป.ป.ช.) โดยมูลค่าความเสียหายประมาณ 110 ล้านบาท
สำหรับที่ดินส่วนที่เหลืออีก 12 แปลงนั้น อยู่ระหว่างการออกเอกสารสิทธิ โดยเป็นการยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินตามมาตรา 58 ประกอบมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยไม่มีหลักฐานสำหรับที่ดินเดิม ซึ่งในส่วนของที่ดินทั้ง 11 แปลง ยังพบว่าอยู่ในเขตเขาหรือภูเขา ส่วนใหญ่มีความลาดชันเกิน 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องห้ามออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน และมติคณะรัฐมนตรีเรื่องนโยบายป่าไม้แห่งชาติเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2528 ทั้งนี้จึงได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จ.กระบี่ พิจารณาระงับการออกเอกสารสิทธิที่ดินทั้ง 11 แปลงดังกล่าว
นายธาริต กล่าวว่า สำหรับอีก 1 แปลงที่เหลือ ได้อ้างหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และเป็นการยื่นคำขอออกโฉนดในที่เขาหรือภูเขา ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบหลักฐาน ส.ค.1 ว่าตรงตามตำแหน่งที่ดินหรือไม่ จึงได้มีหนังสือถึงว่าราชการ จ.กระบี่ ตรวจสอบความชัดเจนของหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดินก่อนที่จะดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ขอรายนี้
อย่างไรก็ตาม พื้นที่เกิดเหตุในคดีนี้เป็นที่เขาหรือภูเขาที่สูงชัน ในขณะตรวจสถานที่เกิดเหตุพบเหตุดินถล่มเป็นบริเวณกว้าง สภาพโดยทั่วไปยังมีสภาพเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ หากสามารถออกโฉนดได้ก็จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในเรื่องดินถล่มซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อผู้ครอบครองและผู้ที่ทำประโยชน์บริเวณตีนเขาที่ส่วนใหญ่เป็นโรงแรม รีสอร์ต และร้านค้าต่างๆ มากมาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันสำคัญของ จ.กระบี่