ศาลพิพากษาจำคุก 10 ปี 3 จำเลยร่วมวางระเบิดพรรคภูมิใจไทย ยกฟ้องจำเลยที่ 4 หลักฐานไม่เพียงพอว่าร่วมก่อเหตุ แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์
วันนี้ (16 ก.ย.) ที่ห้องพิจารณาคดี 907 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1007/2554 ที่ นายโกวิทย์ ศรีไพโรจน์ อัยการผู้เชี่ยวชาญฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ฟ้อง นายเดชพล พุทธจง นายกำพล คำคง นายกอบชัย หรืออ้าย บุญปลอด นางวริศรียา หรืออ้อ บุญสม และนายสุริยา หรืออ้วน ภูมิวงษ์ จำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันทำวัตถุระเบิด มีวัตถุระเบิดที่ออกใบอนุญาตไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธ (วัตถุระเบิด) ไปในเมืองฯ โดยไม่มีเหตุสมควร และกระทำให้เกิดระเบิดฯ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 38, 74, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221, 222, 218, 371 จากกรณีที่จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกับ นายเอนก สิงขุนทด ซึ่งพิการตาบอดทั้งสองข้าง เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ระเบิดหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 5 ปี
โดยโจทก์ฟ้องสรุปว่า ระหว่างต้นเดือน มิ.ย.2553 ถึง 22 มิ.ย.2553 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันผลิต หรือทำวัตถุระเบิด และร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่ทำขึ้น โดยจำเลยทั้งห้ากับพวกไม่ได้รับใบอนุญาต แล้วจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันทำให้เกิดการระเบิดขึ้น โดยร่วมกับนายเอนก สิงขุนทด เป็นผู้เข็นรถเข็นผลไม้ที่ซุกซ่อนระเบิดไว้ เข็นผ่านไปทางด้านหลังของอาคารที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ตั้งอยู่ใกล้ซอยพหลโยธิน 43 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. ก่อนเกิดระเบิดขึ้น เป็นเหตุให้ผนังด้านหลังอาคารพรรคภูมิใจไทยแตกเสียหาย นอกจากนี้ เพิงโรงเรือนร้านค้าขายอาหารตามสั่งของนายแถม ตรุพิมาย ถูกแรงระเบิดเสียหายพังทั้งหลัง ค่าเสียหายเป็นเงิน 50,000 บาท รถยนต์เก๋งทะเบียน ธต 7963 กทม. ของว่าที่ ร.ต.ภูมิรัตน์ นาคอุดม ได้รับความเสียหาย เป็นเงิน 40,000 บาท เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร แขวง-เขตลาดพร้าว กทม.
โดยก่อนหน้านี้ ศาลได้แยกสำนวนคดีนี้ออกจากสำนวนคดีหมายเลขดำ อ.2930/2553 ที่มีนายเอนก สิงขุนทด เป็นจำเลย เนื่องจากนายอเนก ให้การรับสารภาพ ส่วนนายเดชพล พร้อมพวก จำเลย 1-5 ในคดีนี้ ได้ให้การปฏิเสธ จึงได้แยกสำนวนพิจารณา
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งห้าเป็นแนวร่วมกลุ่ม นปช. ซึ่งไม่พอใจรัฐบาลในขณะนั้น โดยมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1-2 ได้กระทำผิดร่วมกับ นายเอนก หรือไม่ โดยพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความว่า นายอเนก ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้ นายเอนก เข็นรถเข็นขายเงาะมีวัตถุระเบิดซุกซ่อนอยู่ในถังแก๊สอยู่ภายในรถเข็น โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้โทรศัพท์สั่งการให้ นายเอนก ไปทำการวางระเบิดที่หน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งในชั้นสอบสวนนายอเนก ให้การซัดทอดว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าจ้าง และจากการตรวจสอบโทรศัพท์ของนายเอนก พบว่ามีสายโทร.เข้าทั้งก่อน และหลังเกิดเหตุบันทึกชื่อว่าพี่พล เมื่อตรวจสอบกับเครือข่ายโทรศัพท์ที่ให้บริการพบว่าพี่พล คือจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่คอยสั่งการ พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1-2 เป็นผู้สั่งการจริง ส่วนคำให้การของนายเอนก ซึ่งให้การหลังเกิดเหตุทันที และไม่ใช่เป็นการให้การเพื่อให้ตนเองพ้นผิด ไม่น่าเป็นการปรุงแต่งมีเหตุผลน่าเชื่อถือ และตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดของบริษัทเอกชน และธนาคารออมสินพบว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดมีความสอดคล้องกันตรงกับคำเบิกความของนายเอนก ซึ่งวงจรปิดดังกล่าวไม่ได้บันทึกภาพเฉพาะเจาะจงเอาผิดบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พยานหลักฐานจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่า จำเลยที่ 1-2 เป็นผู้สั่งการให้นายอเนก เข็นรถเข็นไปที่หน้าพรรคภูมิใจไทยก่อนที่จะมีการระเบิดขึ้น จึงมีส่วนร่วมในการกระทำผิดกับนายเอนก ตามคำฟ้องโจทก์ทุกประการ
ส่วนจำเลยที่ 3-4 มีส่วนร่วมในการกระทำผิดหรือไม่เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นพบสมุดจดบันทึกของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีการเขียนสูตรประกอบระเบิด โดยตรวจยึดได้จากที่พักภายในสำนักงานของจำเลยที่ 4 ซึ่งในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 4 ให้มาพักอาศัยในที่พักของจำเลยที่ 4 โดยได้ติดต่อจำเลยที่ 5 ซึ่งเดินทางมาจาก จ.นครสวรรค์ เพื่อให้มาประกอบระเบิดที่สำนักงานของจำเลยที่ 4 โดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ขณะนั้น ได้เดินทางมาตรวจพร้อมเจ้าหน้าที่พบสารอาร์ดีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นสารประกอบระเบิดแรงสูงใช้กับระเบิดประเภทซีโฟร์ คำให้การของนายเอนก มีความชัดเจนสอดคล้องกับจำเลยที่ 1-2 ที่ให้การว่าประกอบระเบิดที่สำนักงานของจำเลยที่ 4 โดยมีหลักฐานเป็นสมุดบันทึกของจำเลยที่ 3 และพบสารประกอบวัตถุระเบิดจากที่พักของจำเลยที่ 4 จึงสามารถรับฟังได้ ส่วนที่จำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธโดยต่อสู้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นนั้น เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักแน่นหนาเพียงพอว่าจำเลยที่ 4 ได้ร่วมรู้เห็นในการประกอบระเบิด และทำให้เกิดการระเบิดขึ้น พยานโจทก์จึงมีข้อสงสัย จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 4
ส่วนจำเลยที่ 5 ในชั้นสอบสวนได้ให้การรับสารภาพว่า ได้ร่วมกันผลิตระเบิดจริง โดยโจทก์ได้นำคำให้การของจำเลยที่ 1-3 ซึ่งให้การตรงกันว่าจำเลยที่ 5 รับจ้างประกอบระเบิด คำให้การของจำเลยที่ 1-3 ไม่ใช่การซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิด และเบิกความสอดคล้องตรงกับจำเลยที่ 5 ส่วนจำเลยที่ 5 จะมีความผิดฐานร่วมกันครอบครองวัตถุระเบิด และก่อให้เกิดระเบิดด้วยหรือไม่นั้นเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้เชื่อได้อย่างบริสุทธิ์ใจว่าจำเลยที่ 5 มีส่วนรู้เห็นด้วย จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5 เป็นผู้ประกอบระเบิดเพียงอย่างเดียว ไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดร่วมกับจำเลยที่ 1-3
พิพากษาว่าจำเลยที่ 1-3 กระทำผิดมาตรา 218, 221, 222 และ 317 และความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและกระสุนปืน เป็นความผิดหลายกรรม แต่ให้ลงโทษบทหนักสุด ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เกิดระเบิดตามมาตรา 222 ประกอบ 218 ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี ผิดฐานร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 5 ปี และฐานพาวัตถุระเบิดไปในเมือง ปรับคนละ 100 บาท รวมโทษจำคุกคนละ 10 ปี และปรับคนละ 100 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานประกอบระเบิด และ พ.ร.บ.อาวุธปืน ลงโทษจำคุก 5 ปี แต่จำเลยที่ 1-3 และ 5 ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1-3 คนละ 6 ปี 8 เดือน และปรับ 66 บาท ส่วนจำเลยที่ 5 คงเหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 4 แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายสุริยา จำเลยที่ 5 ได้หลบหนี และศาลได้ออกหมายจับ พร้อมปรับนายประกัน 5 แสนบาท ซึ่งในวันนี้ยังไม่สามารถติดตามตัวจำเลยที่ 5 มาฟังคำพิพากษาได้ ศาลจึงได้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย ส่วนนายอเนก ซึ่งเป็นคนเข็นรถขายผลไม้ซุกซ่อนระเบิด โดยก่อนหน้านี้ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาแก้ จากเดิมที่ศาลชั้นต้นจำคุก 35 ปี โดยลดเหลือ 5 ปี และปรับ 50 บาท