xs
xsm
sm
md
lg

อัยการตีกลับดีเอสไอสำนวนฟ้อง ผู้ว่าฯ กทม.ต่อสัญญา BTS

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
อัยการสั่งไม่ฟ้อง บริษัท บีทีเอสซี กรณี กทม.ต่อสัญญาโดยไม่ได้รับอนุญาต พร้อมส่งสำนวน “สุขุมพันธุ์” และพวก ต่อไปยัง ป.ป.ช.เพื่อไต่สวนต่อ ด้าน “อธิบดีดีเอสไอ” ไม่ติดใจ มั่นใจไม่กระทบสำนวนการสอบสวนและไม่ใช่การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

วันนี้ (10 ก.ย.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ส่ง นายสัญญา จันทรัตน์ ที่ปรึกษา พร้อมกับทีมทนาย เข้าพบอัยการ ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 สำนักงานอัยการสูงสุด กรณีร่วมกับพวกรวม 10 คน และนิติบุคคลอีก 1 ราย ตกเป็นผู้ต้องหา ฐานร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค (กิจการรถไฟ) โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นความผิดตามประกาศ ฉบับที่ 58 พ.ศ.2515 ข้อ 4 และข้อ 16 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 84 และมาตรา 86 โดยอัยการได้เลื่อนสั่งคดีเป็นวันที่ 10 กันยายน 2556 นั้น

โดยผลการพิจารณาอัยการสั่งไม่ฟ้อง นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหารบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ

นอกจากนี้ อัยการมีความเห็นส่งสำนวนของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กับพวกรวม 10 คน ส่งคืนให้กับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ทางดีเอสไอส่งสำนวนต่อไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการพิจารณาไต่สวนต่อตามอำนาจหน้าที่ เพื่อจัดรูปแบบองค์อำนาจการสอบสวนให้มีความเป็นระบบ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงกรณีที่อัยการส่งสำนวนคดีที่ดีเอสไอกล่าวโทษผู้ว่าราชการ กทม.และพวกต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายออกไป 13 ปี และการขยายเส้นทางสัมปทานใหม่ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าข่ายร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค หรือกิจการรถราง โดยไม่ได้รับอนุญาตกลับคืนให้ดีเอสไอ เพื่อส่งสำนวนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้สั่งฟ้องว่า ดีเอสไอได้รับสำนวนคดีดังกล่าวกลับคืนมาจากอัยการแล้ว และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้ส่งสำนวนให้ ป.ป.ช.เป็นผู้สั่งฟ้องแทน เนื่องจากอัยการมองว่าคดีดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในการส่งฟ้อง ส่วน ป.ป.ช.จะนำไปไต่สวนเพิ่มเติม หรือจะตั้งดีเอสไอร่วมสอบสวนเพิ่มก็เป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.อย่างไรก็ตาม กรณีที่อัยการส่งสำนวนกลับคืนให้ดีเอสไอไม่ได้เป็นปัญหาจากเนื้อหาของสำนวนการสอบสวน แต่อัยการมองว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.

อธิบดีดีเอสไอ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ดีเอสไอและอัยการที่ร่วมสอบสวนคดีดังกล่าวเห็นตรงกันว่ากรณีดังกล่าวไม่ใช่การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจะอยู่ในอำนาจการสอบสวนของ ป.ป.ช.แต่เป็นกรณีผู้ว่าฯ กทม.และพวกกระทำการนอกอำนาจหน้าที่ในการเข้าไปต่อสัญญา รวมถึงขยายเส้นทางใหม่ ดีเอสไอจึงไม่ได้แยกสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ไต่สวน อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเมื่ออัยการสูงสุดมีความเห็นส่งสำนวนคืนให้ดีเอสไอนำไปมอบให้ ป.ป.ช.เป็นผู้ส่งฟ้องดีเอสไอก็ต้องปฏิบัติตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น